เลือกตั้ง 2566 : คาดโค้งสุดท้ายใช้กระสุนหมื่นล้านบาท

การเมือง
10 พ.ค. 66
17:13
429
Logo Thai PBS
เลือกตั้ง 2566 : คาดโค้งสุดท้ายใช้กระสุนหมื่นล้านบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิชาการอาวุโส คาดโค้งสุดท้าย ใช้กระสุนหมื่นล้านบาท ทุกพรรคฯ งัดสารพัดกลยุทธ์ทำลายคู่แข่ง จับผิด-อัดฉีดเขตมีความหวัง-หาหลักฐานจับผิดร้อง กกต.แย่งเก้าอี้เข้าสภา

วันนี้ (10 พ.ค.2566) นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) ระบุว่า การเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.นี้ คาดว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิถึง 80% หรือประมาณ 42 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดกว่า 52 ล้านคน จึงทำให้พรรคการเมือง และผู้สมัคร ส.ส. 400 เขต และผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องพยายามทุกวิถีทาง เพื่อดึงเสียงของประชาชนให้ตัดสินใจเลือกตนเข้าสภาฯ ให้มากที่สุด

นายเกรียงศักดิ์ วิเคราะห์ว่า ในช่วงสัปดาห์สุดท้าย การช่วงชิงเสียงจากประชาชนจะมีความรุนแรงขึ้น และจะเห็นปรากฏการณ์เดินเกมของพรรคการเมืองที่สะท้อนภาพการเมืองและประชาธิปไตยแบบไทย ทั้งการใช้สื่อสร้างกระแส ปล่อยหมัดเด็ด เอาดีเข้าตัวเอาชั่วป้ายคู่แข่ง โดยเฉพาะการใช้สื่อโซเชียล สร้างกระแส ปล่อย key message ปลุกเร้าความกลัว ใส่ความรู้สึกวิตกกังวล หรือท้าทายให้เห็นแสงสว่างในอนาคต ชี้ให้เห็นว่าพรรคตนเป็นคำตอบสุดท้าย เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด และการปล่อยข่าวเพื่อทำลายชื่อเสียงของคู่แข่งเพื่อทอนคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด

นักวิชาการคนเดิม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์ ใช้แฟนคลับ กลุ่มคนที่สนับสนุนพรรค ช่วยกันสื่อสารสนับสนุนพรรคของตน ผ่านกระแสโซเชียล และพุ่งเป้าเฉพาะเขต อัดฉีดแบบเจาะจงในเขตทีมที่มีหวัง เนื่องจากประเมินแล้วว่า เขตใดมีโอกาสชนะได้บ้าง และลดการหาเสียงแบบหว่านกว้าง ๆ การคุมเข้มหัวคะแนนเพื่อให้มั่นใจว่าเสียงในมือไม่คลาดเคลื่อน

หรือการจับผิดคู่แข่งที่อาจพลาดผิดกฎหมาย รวบรวมหลักฐานเพื่อส่งฟ้อง กกต.เพื่อให้คู่แข่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง รวมทั้งการยิงกระสุนเพื่อกลบกระแส แต่ยิงไม่เต็มที่

นายเกรียงศักดิ์ ระบุว่า สำหรับการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะมีการใช้กระสุนมากถึงหมื่นล้านบาทรวมทุกพื้นที่ ซึ่งกระสุนจะชนะหากมีฐานหัวคะแนนในพื้นที่ชัดเจน และควบคุมเสียงในพื้นที่ได้ แต่สถานการณ์ในหลายพื้นที่มีความเสี่ยงสูง อาจถูกฝ่ายตรงข้ามจับผิดจึงทำให้ไม่กล้าจ่ายเต็มที่ หรือจ่ายแบบมีเงื่อนไข เช่น จ่ายบางส่วนก่อน เมื่อชนะแล้วจึงจ่ายส่วนที่เหลือ

ในพื้นที่เขตที่มีสองพรรคได้คะแนนนิยมแบบสูสี ไม่ชนะขาด ให้ระวังปรากฎการณ์ตาอยู่จากพรรคที่สาม โดยให้คะแนนนิยมใกล้เคียง ตัดคะแนนกันเอง และพรรคอันดับสามจะกลายเป็นตาอยู่ ซึ่งคาดจะเกิดในหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับ โพลพนัน เพื่อเบี่ยงเบนผลการลงคะแนน นักพนันอาจเอนเอียงไปเลือกพรรคที่มีแนวโน้มจะทำให้ตนชนะพนันได้

นายเกรียงศักดิ์ ระบุว่า สำหรับปรากฏการณ์สอยคู่แข่ง โดยใช้วิธีการหาหลักฐานฟ้อง กกต. กำจัดคู่แข่งด้วยการทำลายความน่าเชื่อถือ จับผิด ฟ้องร้อง หรือแม้แต่พยายามหาทางให้พรรคต้องถูกยุบหลังเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง