ตะลึง "ปลานกแก้ว" โผล่ขาย 5 ร้านตลาดเงินวิจิตร กทม.

สิ่งแวดล้อม
18 พ.ค. 66
12:30
1,635
Logo Thai PBS
ตะลึง "ปลานกแก้ว" โผล่ขาย 5 ร้านตลาดเงินวิจิตร กทม.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ลุยตรวจ "ปลานกแก้ว" โผล่ขาย 5 แผงปลาตลาดเงินวิจิตร เขตคลองสาน กทม.เร่งทำความเข้าใจพ่อค้าอย่าขาย ประชาชนอย่าซื้อ ส่วนเคสขาย "ปลาฉลามหนาม" ไม่ผิดกฎหมาย จับนอกฝั่ง ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

วันนี้ (18 พ.ค.2566) นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า กรณีมีประชาชนการร้องเรียนผ่านเพจเฟซบุ๊ก ทช.พบการจำหน่ายปลานกแก้ว บริเวณตลาดเงินวิจิตร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กทม. และจากการตรวจสอบ พบมีการจำหน่ายปลานกแก้ว 5 ร้าน เจ้าหน้าที่พูดคุยกับเจ้าของร้าน ทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ รณรงค์ร่วมกันไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ ไม่กินปลานกแก้ว เนื่องจากปลานกแก้ว มีประโยชน์ในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง แต่ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง   

นายอภิชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบกรณีการโพสต์ ขายปลาฉลามหนาม Echinorhinus brucus ผ่านเพจเฟซบุ๊ก "แพปลาลุงนิล ภูเก็ต" ซึ่งจับได้จากบริเวณห่างฝั่งของเกาะราชาน้อยไปทางทิศใต้ 40 ไมล์ทะเล จึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งเชิงพื้นที่และชนิดพันธุ์ แต่เร่งประชาสัมพันธ์ไปยังชาวประมง นักตกปลา นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป หากจับปลาฉลามชนิดนี้ได้ ขอให้ปล่อยฉลาม ไม่ควรนำเนื้อฉลามหนามมาบริโภค เพราะอาจทำให้ได้รับสารพิษ ปรอท แคดเมียม สารหนู

สำหรับปลาฉลามหนาม จะหากินบริเวณพื้นทะเลน้ำลึก 400-900 เมตร แต่อาจพบเข้ามาหากินบริเวณน้ำตื้นเป็นครั้งคราว พบแพร่กระจายทั่วโลกในเขตร้อนถึงเขตอบอุ่น บริเวณลำตัวมีสีม่วงน้ำตาลหรือดำ ขนาดโตเต็มวัยยาว 3.1 เมตร

เร่งศึกษาคุ้มครองฉลามหนาม

 

ในระดับโลกพบประชากรปลาฉลามชนิดนี้ มีจำนวนลดลงจนใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งจึงจัดเป็นสัตว์ทะเลหายากที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เป็นนักล่าสัตว์น้ำในอันดับต้นๆ จะกินสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งทำให้เกิดความสมดุลของความหลากหลายในระบบนิเวศในบริเวณนั้นๆ 

ทช.พร้อมจะร่วมมือกับกรมประมง เพื่ออนุรักษ์ปลาฉลามหนาม พร้อมทั้งเร่งศึกษาสถานภาพของฉลามชนิดนี้ เพื่อเสนอเป็นสัตว์คุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

รวมทั้งอยู่ระหว่างการจัดทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเลบริเวณไหล่ทวีปทางฝั่งตะวันตกของ จ.ภูเก็ต และอันดามันตอนบน หากแล้วเสร็จจะมีส่วนช่วยรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาฉลามหนาม และชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่หายากอื่นๆ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง