เช็กอาการ "ปอดอักเสบ" โรคร้ายที่ผู้สูงอายุควรระวัง

สังคม
29 พ.ค. 66
16:32
2,688
Logo Thai PBS
 เช็กอาการ "ปอดอักเสบ" โรคร้ายที่ผู้สูงอายุควรระวัง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมการแพทย์ ชี้ "โรคปอดอักเสบ" โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง อาจเกิดได้จากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส สาเหตุของโรคจะมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุและสภาพแวดล้อม

วันนี้ (29 พ.ค.2566) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปอดเกิดการอักเสบ ส่งผลให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนในปอดได้ตามปกติ มักพบว่าเป็นอาการที่ต่อเนื่องมาจากโรคไข้หวัดใหญ่หรือมีการติดเชื้อจากบุคคลรอบข้างที่มีอาการไอจามได้

การติดเชื้อปอดอักเสบสามารถพบได้ทุกช่วงอายุ โดยระดับความรุนแรงของโรคจะมีความแตกต่างกัน ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 65 ปี มีความต้านทานโรคต่ำ จึงมีความเสี่ยงเกิดความรุนแรงของโรคและภาวะแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งปอดอักเสบมีระยะเวลาดำเนินโรคที่ไม่แน่ชัดขึ้นกับชนิดของเชื้อ อาจสั้นเพียง 1 - 3 วัน หรือนานเป็นสัปดาห์

หลังจากเริ่มป่วยเป็นไข้หวัด ถ้าผู้ป่วยเริ่มมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจเหนื่อยหอบ เจ็บแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และมีไข้สูง เป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีโรคปอดอักเสบร่วมด้วย โดยอาการของโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุอาจมีอาการอื่นที่ไม่จำเพาะ ที่พบได้บ่อย คือ มีอาการซึมลงหรือสับสน และไม่จำเป็นต้องมีไข้หรืออาการไอมาก่อน

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาได้ด้วยยาฆ่าเชื้อทั้งแบบรับประทานและการฉีดยา ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน

สำหรับปอดที่ติดเชื้อไวรัสมักมีความรุนแรงน้อยกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย การรักษาจึงพิจารณาตามอาการ โดยแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองให้แข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และพักผ่อนอย่างพอเหมาะ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวแพทย์อาจพิจารณาให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลจนกว่าจะหายสนิท เพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรง พร้อมกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ รวมถึงป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนซึ่งเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงวัย

ผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและไขมันสูง ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือผู้ป่วยที่มีอาการไอจาม หลีกเลี่ยงการสัมผัสและใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ลดการออกไปในสถานที่แออัดในช่วงที่มีไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ระบาด ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ก่อนหน้าฝนราวเดือน พ.ค. - มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด และควรฉีดวัคซีนชนิด Pneumococcal vaccine โดยปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบติดเชื้อนิวโมคอคคัส ที่เป็นสาเหตุของปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง