8 พรรคตั้งคณะทำงานเพิ่ม 5 ชุด - เตรียมสัญจรรับฟังปัญหา ตจว.

การเมือง
6 มิ.ย. 66
16:30
763
Logo Thai PBS
8 พรรคตั้งคณะทำงานเพิ่ม 5 ชุด  - เตรียมสัญจรรับฟังปัญหา ตจว.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
คณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ตั้งคณะทำงานเพิ่ม 5 ชุด ตามติดทุกประเด็นปัญหาประชาชน - เตรียมสัญจรลงลึกรายพื้นที่

วันนี้ (6 มิ.ย.2566) เวลาประมาณ 12.10 น.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมผู้แทนจากคณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ร่วมแถลงผลการประชุมคณะทำงานฯ โดยกล่าวว่า

ประเด็นหลักในการประชุมในวันนี้เป็นการติดตามงานของคณะทำงาน 7 คณะ ได้แก่ คณะทำงานค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และพลังงาน, คณะทำงานภัยแล้ง และเอลนีโญ

คณะทำงานแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้, คณะทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ, คณะทำงานแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และ PM 2.5, คณะทำงานเศรษฐกิจ ปากท้อง และเอสเอ็มอี และคณะทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติด

ทั้งนี้ มี 3 วาระ ได้แก่ วาระที่ 1 คณะทำงานค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และพลังงาน ได้รายงานผลการประชุมคณะทำงาน วานนี้ เกี่ยวกับผลดีและผลเสียของการเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลและน้ำมัน ที่จะหมดอายุลงในวันที่ 20 ก.ค.2566

วาระที่ 2 การกำหนดกรอบการทำงานเพื่อให้อีก 6 คณะที่เหลือให้สามารถทำงานต่อเนื่องและมีเอกภาพ โดยมีความมุ่งหวังที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตประชาชนได้อย่างแท้จริง

วาระที่ 3 ที่ประชุมมีมติตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมอีก 5 คณะ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อประเด็นผลกระทบต่อประชาชน และสังคมให้ความสนใจ โดยคณะทำงานที่เพิ่มขึ้น เช่น คณะทำงานเศรษฐกิจและรัฐบาลดิจิทัล, คณะทำงานต่อต้านคอร์รัปชันต่อต้านส่วย 

คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาทั้งหมด เป็นการทำงานล่วงหน้าของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เช่น การต่อยอดในกรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ตั้งคำถามจนนำมาซึ่งการเปิดโปง ส่วยทางด่วน เป็นต้น

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะตัวแทนคณะทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ใช้ทุกวินาทีอย่างคุ้มค่าเพราะทุกวินาทีคือมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปและทุกวินาที คือความเดือดร้อนของประชาชน

ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ได้เสนอแนะ 5 ข้อซึ่งเป็นกรอบทำงานใหญ่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน ต่อประเทศ และต่อประชาชน ได้แก่

1. ความมั่นคงทางการคลัง ทุกนโยบายที่ใช้งบประมาณต้องคิดคำนวณอย่างละเอียดรอบคอบ ต้องมีผลลัพธ์ที่คุ้มค่าต่อเม็ดเงินภาษีของประชาชน ตั้งใจที่จะลดเม็ดขาดดุลการคลังลงเรื่อย ๆ หากสามารถสร้างสมดุลทางการคลังในอีก 7 ปีข้างหน้า จะเป็นนิมิตหมายที่ดีต่อประเทศไทย

2. ระบบภาษีที่มีประสิทธิภาพ หมายถึงมีฐานภาษีที่สูงขึ้น มีผู้เข้าถึงระบบภาษีที่มากขึ้นจะทำให้รายได้รัฐมากขึ้น การคิดระบบภาษีจึงต้องคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทั้งแง่บวกแง่ลบ ต้องไม่กระทบภาคเอกชนและการระดมทุน

3. การออกแบบนโยบาย ต้องคิดคำนวณถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องควบคู่กับความเท่าเทียมของการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจ

4. คณะอนุทำงานแต่ละคณะ ต้องวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาประชาชน และระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง

5. เปิดประเทศหารายได้จากการต่างประเทศที่สร้างรายได้ ประเทศไทยต้องเปิดขึ้น เพื่อเชื่อมกับโลก ดึงดูดการค้าการลงทุน คือ รายได้มหาศาลที่จะเกิดขึ้น

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ พรรคประชาชาติ กล่าวว่า การหารือคณะทำงาน เป็นปัญหาของชาติ จึงต้องทำโรดแมปในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และปัญหาที่เป็นรากเหง้า คือ ปัญหาที่ดินทำกิน ต้องกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ 8 พรรคเห็นตรงกันว่า เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด รวมถึงค่าพลังงานและค่าไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 8 พรรคจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้จ่ายค่าไฟในระดับที่เป็นธรรม ซึ่งคณะทำงานเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม เห็นว่า คงไม่สามารถให้ความสำคัญกับรัฐสวัสดิการเท่านั้น แต่เศรษฐกิจและสังคมต้องเติบโตควบคู่อย่างเท่าเทียม

นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง กล่าวว่า ต้องการเพิ่มราคาสินค้าเกษตร เช่น อ้อย ต่อยอดจากที่พรรคก้าวไกลส่งเสริมสุราเสรี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากนั้นจะติดตามงานต่าง ๆ ต่อไปทั้งเกษตรและเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการประชุมเรื่อย ๆ

นายวิรัตน์ วรศสิริน ผู้แทนพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า สนับสนุนนโยบายปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพราะเห็นว่า การประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ในปี 2507 ขณะนั้นมีประชากรไทยเพียง 30 ล้านคน

แต่ขณะนี้มีประชากร 67 ล้านคน เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น การประกาศที่ดินควรเปลี่ยนไป พร้อมยืนยันจะปฏิรูปที่ดินให้ประชาชนมีที่ดินทำกินของตัวเอง

ผู้แทนพรรคเป็นธรรม ยืนยันว่า ทุกคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่าน ตั้งใจทำงานเพื่อให้ทันกับความต้องการของพี่น้องประชาชน ตามประเด็นความเดือดร้อน

ดังนั้นคณะทำงานอาจจะมากขึ้น เพราะมีหลายประเด็น จึงต้องการเอาเรื่องที่มีผลกระทบจริงๆ โดยมีพี่น้องประชาชนเป็นตัวตั้ง

ผู้แทนพรรคพลังสังคมใหม่ กล่าวว่า เรามีโอกาสเข้ามาร่วมรัฐบาล นโยบายต่าง ๆ ที่ประชุม เราเห็นด้วย โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร่งด่วน

ทั้งนี้ นายพิธา กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (7 มิ.ย.2566) จะมีการประชุมคณะกรรมการช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยจะนำเอาข้อสรุปคณะทำงานในวันนี้ นำเสนอต่อคณะกรรมการฯ

ส่วนคณะทำงานประสานงานช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 20 มิ.ย.2566 และอาจมีการประชุมคณะทำงานสัญจรลงพื้นที่ไปในจุดต่าง ๆ ที่เป็นปัญหา เช่น ลงพื้นที่ไปดูการผลิตสุราเสรี ที่ จ.อุบลราชธานี หรือการดูปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ภาคเหนือ เป็นต้น

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คกก.เปลี่ยนผ่านประชุมนัดแรก เตรียมวางตัวบุคคล - ตั้งคณะทำงานเพิ่ม

"พิธา" ชนหมัด ผู้ว่าฯ กทม. ถกแนวทางทำงานร่วมกัน  

"พิธา" รับโอนหุ้น ITV ให้ผู้อื่นแล้ว ปัดหนีความผิด 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง