"โรคอุจจาระร่วง" กระจายทั่วภูเก็ต ผู้ป่วยเด็ก-ผู้ใหญ่ วันละ 100 คน

ภูมิภาค
9 มิ.ย. 66
07:25
1,812
Logo Thai PBS
"โรคอุจจาระร่วง" กระจายทั่วภูเก็ต ผู้ป่วยเด็ก-ผู้ใหญ่ วันละ 100 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยืนยัน พบผู้ป่วยอุจจาระร่วงระบาดทั่วเกาะภูเก็ต ยังไม่เข้าข่ายวิกฤต เบื้องต้น คาดว่า เกิดจากน้ำดื่มและน้ำแข็งปนเปื้อนเชื้อโรค ส่ง จนท.ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาต้นตอ คาดยังระบาดต่ออีก 1 – 2 เดือน

วันที่ 8 มิ.ย.2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเข้ารับบริการในโรงพยาบาลภาครัฐ เฉลี่ย 50 รายต่อวัน และโรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ยประมาณ 100 รายต่อวัน กระจายอยู่ในกลุ่มอายุ และกระจายในหลายพื้นของ จ.ภูเก็ต รวมทั้งมีรายงานพบนักเรียนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงกระจายในหลายโรงเรียน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน และบางรายมีไข้ร่วมด้วย

นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดภูเก็ตเข้าสู่ฤดูฝน อากาศมีความเย็นและชื้นทำให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสโนโร และไวรัสโรต้า รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย เชื้ออีโคไล ที่เกิดจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่ม น้ำแข็งที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค ซึ่งเหมาะต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค

ทั้งนี้ วันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2566 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้รับรายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเข้ารับบริการในโรงพยาบาลภาครัฐ เฉลี่ย 50 คนต่อวัน โรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ย 100 คนต่อวัน กระจายหลายกลุ่มอายุ ในหลายพื้นที่ รวมทั้งมีรายงานพบนักเรียนป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงกระจายในหลายโรงเรียน

โดยพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้าโรงพยาบาลมีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และบางรายมีไข้ซึ่งพบทั้งเด็กและผู้ใหญ่ กระจายทั้ง 3 อำเภอ ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า เชื้อโรคน่าจะปนเปื้อนมาจากน้ำดื่มและน้ำแข็ง

นอกจากนี้ในส่วนควบคุมโรคและเภสัชกร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงผลิตน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ส่งออกไปยังพื้นที่ต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต ประมาณ 6 แห่ง เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำแข็ง เก็บตัวอย่างน้ำไปทำการตรวจสอบ พร้อมทั้งประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเพิ่มคลอรีนในน้ำประปาเพื่อฆ่าเชื้อแต่ให้ค่าคลอรีนที่ปลายท่ออยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ขณะที่ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยืนยันว่าสถานการณ์การระบาดในขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้ ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบสาธารณสุขของ จ.ภูเก็ต อีกทั้งก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่งานคุ้มครองผู้บริโภค และเภสัชกรรม ได้ร่วมกันลงพื้นที่สอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด ทั้งในส่วนของสถานศึกษาและโรงงานผลิตน้ำดื่มและน้ำแข็งขนาดใหญ่ ประมาณ 6 แห่ง เบื้องต้นพบว่า ทุกโรงงานมีการผลิตที่ได้มาตรฐานผ่านเกณฑ์ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

อ่านข่าวอื่นๆ :

สธ.เตือนไข้เลือดออกระบาด ป่วยสูงสุดที่ "ตราด"

แมงกะพรุนไฟโผล่หาดภูเก็ต เตือนลงทะเลให้ระวัง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง