'กรมสรรพสามิต' ถูกร้องออกระเบียบ 'สุราสามทับ' เอื้อเอกชน

เศรษฐกิจ
9 ก.ค. 66
12:05
3,867
Logo Thai PBS
'กรมสรรพสามิต' ถูกร้องออกระเบียบ 'สุราสามทับ' เอื้อเอกชน
“สุราสามทับ” หรือ "แอลกอฮอล์บริสุทธิ์" กลายเป็นเผือกร้อนของกรมสรรพสามิต เมื่อถูกร้องเรียนว่า เอื้อประโยชน์ให้เอกชนจำหน่ายในประเทศจนส่งผลให้ประเทศเสียประโยชน์ปีละกว่า 700 ล้านบาท ทั้งที่ องค์การสุราฯ ต้องเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเพียงรายเดียวเท่านั้น

'สุราสามทับ' แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ของกรมสรรพสามิต

นิยามตามกฎหมายของกรมสรรพสามิต ระบุว่า สุราสามทับ หมายถึง สุรากลั่นประเภทหนึ่งที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป ได้จากการกลั่นสุรา 3 รอบจนได้แอลกอฮอลล์บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “สุราสามทับ”

หากแบ่งตามความเข้มข้นของดีกรี พบว่า แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่มีดีกรีมากกว่า 95 ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า เอทิลแอลกอฮอล์เกรดอาหารและยา (food grade และ Pharmaceutical grade) เป็นวัตถุดิบสำคัญในหลายอุตสาหกรรม เช่น

  • ใช้เป็นสารออกฤทธิ์ทางยาหรือส่วนผสมของยาในอุตสาหกรรมการแพทย์ เภสัชกรรม และเวชภัณฑ์
  • ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นสารสกัดหรือวัตถุแต่งกลิ่นรสในอุตสาหกรรรมอาหารและสมุนไพร
  • ใช้เป็นตัวทำละลาย สารสกัด หรือสารผสม ในอุตสาหกรรมทั่วไป
  • ใช้เป็นสารทำความสะอาดและสารออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ในอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ
สาเหตุที่แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ถือว่าเป็นสุรา เนื่องจาก พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 ระบุว่า “สุรา” หมายความรวมถึงวัตถุทั้งหลาย หรือของผสมที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งสามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา หรือซึ่งดื่มกินไม่ได้ แต่เมื่อได้ผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้ว สามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับน้ำสุรา

แอลกอฮอล์บริสุทธิ์นั้นโดยตัวมันเองไม่สามารถใช้ดื่มหรือบริโภคได้ แต่เมื่อนำไปผสมน้ำหรือของเหลวอย่างอื่น จะสามารถนำมาดื่มกินได้เช่นเดียวกันกับน้ำสุรา

รัฐจึงออกมาตรการควบคุมแอลกอฮอล์บริสุทธิ์อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการนำไปผลิตเหล้าเถื่อน หรือนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

รวมถึงอัตราภาษีของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หรือ สุราสามทับยังอยู่ที่ลิตรละ 6 บาท ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับสุรากลั่นและสุราแช่ชนิดอื่นๆ ที่เริ่มต้นที่ลิตรละ 150-1,500 บาท

กลไกควบคุมแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ของรัฐ

กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ข้อ 15 ระบุว่า สุรากลั่นชนิดสุราสามทับที่ผลิตขายภายในราชอาณาจักร ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตต้องเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายไทยเท่านั้น

ขณะที่บริษัทเอกชนซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย จะขอใบอนุญาตผลิตสุราสามทับเพื่อการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น

ดังนั้น องค์การสุรา กรมสรรพสามิต ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา คือรัฐวิสาหกิจรายเดียวของไทย ที่ได้รับใบอนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ภายในประเทศ ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดจากกรมสรรพสามิต

รัฐมีรายได้จากสุราสามทับจาก 2 ทาง ได้แก่ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิต-สุราสามทับอัตราลิตรละ 6 บาท และรายได้ขององค์การสุราฯ ที่จัดส่งให้รัฐในสัดส่วนร้อยละ 80-85 ของกำไรสุทธิ

เกรียงไกร พัฒนาภรณ์ โฆษกและรองอธิบดี กรมสรรพสามิต บอกว่า

ถ้าหากเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่นำไปแปลงสภาพ และเมื่อผสมน้ำแล้วดื่มกินไม่ได้เหมือนสุรา เอกชนรวมถึงองค์การสุราฯ ก็สามารถผลิตหรือจำหน่ายแอลกอฮอล์แปลงสภาพได้ เพราะถือว่าไม่เข้าข่ายเป็นสุราตามกฎกระทรวงฯ
เกรียงไกร พัฒนาภรณ์ โฆษกและรองอธิบดี กรมสรรพสามิต

เกรียงไกร พัฒนาภรณ์ โฆษกและรองอธิบดี กรมสรรพสามิต

เกรียงไกร พัฒนาภรณ์ โฆษกและรองอธิบดี กรมสรรพสามิต

ประกาศกรมสรรพสามิตเอื้อประโยชน์เอกชนหรือไม่

สหภาพรัฐวิสาหกิจ องค์การสุราฯ (สร.สร.) มองว่า กรมสรรพสามิตออกกฎหมายและใช้ดุลพินิจ เอื้อให้บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตผลิตสุราสามทับเพื่อการส่งออกไปยังนอกราชอาณาจักรเท่านั้น ได้สิทธิจำหน่ายสุราสามทับในประเทศแข่งกับองค์การสุราฯ

ต่อมายังพบว่า เอกชนรายเดียวกันได้สิทธิเสียภาษีอัตราศูนย์จากกรมสรรพสามิตติดต่อกันหลายปี ผ่านการออกประกาศกรมสรรพสามิต ดังนี้

  • 26 ก.ค.2561 กรมสรรพสามิตออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์ สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรม ด้วยจุดประสงค์ว่า ละเว้นการเสียภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ผู้นำเข้า หรือผู้ซื้อสุราสามทับจากองค์การสุราฯ เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรม 7 ประเภท โดยพบว่าหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับสิทธิคืออุตสาหกรรมผลิตวัตถุเจือปนอาหาร

    ประกาศฯ ฉบับนี้ลงนามโดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต

  • กรมสรรพสามิตแก้ไขประกาศฯ เพิ่มเติมอีก 2 ครั้งในปี 2563 ลงนามโดย นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีในขณะนั้น

    ประกาศไม่ได้แก้ไขรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมวัตถุเจือปนอาหาร แต่กำหนดให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรม ผู้นำเข้า หรือผู้ซื้อสุราสามทับจากองค์การสุราฯ ที่ประสงค์ใช้สุราสามทับผลิตวัตถุเจือปนอาหารและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์และแจ้งสูตรส่วนผสมให้กรมสรรพสามิตตรวจสอบก่อนว่า วัตถุเจือปนอาหารและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ขอผลิต ต้องไม่ใช่สุรา 

  • ประกาศฯ ฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้งในปี 2565 ลงนามโดยเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิตคนปัจจุบัน สาระสำคัญมุ่งไปที่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร
สหภาพฯ องค์การสุราฯ มองว่า ประกาศฯ ที่ออกมาช่วงปี 2561-2563 อาจเอื้อให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าสามารถ “ผลิต” หรือ “นำเข้า” แอลกอฮอลล์บริสุทธิ์ (สุราสามทับ) มาจำหน่ายในรูปสินค้าอุตสาหกรรมที่มีชื่อว่า “วัตถุเจือปนอาหาร” และ จำหน่ายในประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากนำสูตรแอลกอฮอล์ที่ขึ้นทะเบียน อย. ว่าเป็นวัตถุเจือปนอาหาร มาขอใช้สิทธิภาษีอัตราศูนย์ตามประกาศดังกล่าว ส่งผลให้รัฐสูญเสียภาษีและรายได้ประมาณ 700 ล้านบาทต่อปี จากการประเมินของสหภาพฯ องค์การสุราฯ

'สุราสามทับ' = 'วัตถุเจือปนอาหาร' 

ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมมาตรฐานคุณภาพแอลกอฮอล์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคภายใต้ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

ดังนั้น ผู้ผลิตสุราสามทับ (แอลกอฮอล์บริสุทธิ์) อย่างองค์การสุราฯ หรืออีก 7 บริษัทที่ได้ใบอนุญาตผลิตสุราสามทับเพื่อการส่งออก จึงจำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์บริสุทธิ์หลากหลายแรงดีกรีต่อทั้ง 2 หน่วยงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนผลิตหรือจำหน่ายแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

เมื่อผู้ผลิตสุราสามทับ (แอลกอฮอล์บริสุทธิ์) นำสูตรส่วนผสมไปขึ้นทะเบียนตำรับอาหารกับ อย.(ใบ อ.18) ทาง อย. จัดให้สุราสามทับอยู่ในกลุ่มอาหารควบคุมเฉพาะ เข้าข่ายเป็น “วัตถุเจือปนอาหาร” หมายถึง วัตถุที่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อประโยชน์ทางเทคโนโลยีการผลิต เช่น แต่งสีอาหาร ปรุงแต่งกลิ่น เป็นต้น

ทำไมตลาดสุราสามทับในประเทศโดนมองว่าถูกแทรกแซง?

ข้อมูลจากองค์การสุราฯ เดือนมกราคม 2566 ระบุว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ประมาณ 100 ล้านลิตรต่อปี ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับข้อมูลที่กระทรวงการคลังรายงานคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ที่ระบุว่า ปริมาณการใช้เอทานอล หรือ เอทิลแอกอฮอล์ปี 2565 ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมการแพทย์ เภสัชกรรม หรือวิทยาศาสตร์ การแปลงสภาพเพื่อจำหน่ายในประเทศ ฯลฯ มีปริมาณการใช้เอทานอลอยู่ที่ 96 ล้านลิตร ไม่รวมเอทานอลเชื้อเพลิง

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา (สร.สร.) ให้ข้อมูลว่า ในปริมาณความต้องการใช้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ภายในประเทศจำนวนประมาณ 100 ล้านลิตรต่อปี

องค์การสุราฯ เคยครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาด ถึงร้อยละ 70 หรือขายได้ประมาณ 70 ล้านลิตรต่อปี แต่ปัจจุบันองค์การสุราฯ มียอดจำหน่ายสุราสามทับหรือแอลกอฮอล์บริสุทธิ์น้อยกว่า 22 ล้านลิตรต่อปี

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ สร.สร. ตั้งคำถามไปยัง กรมสรรพสามิต ในฐานะต้นสังกัดและผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุราสามทับ (แอลกอฮอล์บริสุทธิ์) ว่าส่วนต่างมากกว่า 40 ล้านลิตรหายไปไหน และผลประโยชน์ไปตกอยู่ในมือของใคร

พบเอกชนผู้ผลิตสุราสามทับรายเดียวได้สิทธิภาษีศูนย์

เมื่อเห็นผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ของเอกชนรายหนึ่งวางขายในท้องตลาด โดยระบุฉลากว่าเป็น “วัตถุเจือปนอาหาร” สหภาพฯ องค์การสุราฯ ทวงถามไปยังกรมสรรพสามิตไปหลายครั้งว่าทำไมจึงมีผลิตภัณฑ์สุราสามทับวางจำหน่ายในประเทศ ทั้งที่ตามสิทธิแล้วองค์การสุราฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายได้เพียงรายเดียว แต่ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากกรมสรรพสามิต

เบญจมาศ เชาวน์ไว กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุราฯ เล่าว่า เมื่อการร้องเรียนไม่คืบหน้า สหภาพฯ จึงยื่นขอใช้สิทธิอัตราภาษีศูนย์บ้าง โดยนำใบตำรับอาหารที่ขึ้นทะเบียนสูตรแอลกอฮอล์กับ อย. ไปขออนุญาตสรรรพสามิตเพื่อใช้สิทธิดังกล่าว เนื่องจาก องค์การสุราฯ มีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร (อ.18) เช่นเดียวกับเอกชนที่ขอใช้สิทธิอัตราภาษีศูนย์ไปก่อนหน้านี้

เบญจมาศ เชาวน์ไว  กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุราฯ

เบญจมาศ เชาวน์ไว กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุราฯ

เบญจมาศ เชาวน์ไว กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุราฯ

หลังกรมสรรพสามิตอนุมัติได้ไม่นาน สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 2 แจ้งมายังสรรพสามิตพื้นที่ฉะเชิงเทรา ขอให้องค์การสุราฯ ส่งตัวอย่างและสูตรผสมให้สรรพสามิตวิเคราะห์ความเป็นสุรา เพื่อให้เป็นไปตามประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอใช้สิทธิเสียภาษีในอัตราศูนย์ สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมฯ ปี 2563

ผลการวิเคราะห์โดยกลุ่มวิเคราะห์สินค้าและของกลาง กรมสรรพสามิต ระบุว่า แอลกอฮอล์ 2 สูตรขององค์การสุราฯ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุเจือปนอาหารว่า “ไม่สามารถดื่มกินได้ แต่เมื่อผสมกับน้ำหรือของเหลวอย่างอื่นแล้ว สามารถดื่มกินได้เช่นเดียวกับสุรา” จากนิยามของผลการวิเคราะห์ ผลิตภัณฑ์ทั้งสองสูตรจึงเข้าข่ายเป็น “สุรา” ตามมาตรา 152 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560

ไม่ใช่องค์การสุราฯ เท่านั้นที่นำสูตรสุราสามทับ หรือ สูตรแอลกอฮอล์ของตนเอง ที่ขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุเจือปนอาหารไปขอใช้สิทธิภาษีอัตราศูนย์ ต่อมาพบว่า ผู้ผลิตสุราสามทับเพื่อการส่งออกอีก 2 รายก็ทำเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต ส่งผลให้มีแค่ 1 บริษัทที่ได้สิทธินี้จนถึงปัจจุบัน

ถึงแม้ทางสหภาพฯ องค์การสุราฯ จะร้องไปยังกรมสรรพสามิตให้ชะลอการอนุญาต และขอให้เรียกตรวจผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ของบริษัทดังกล่าว ว่าเข้าข่ายเป็นสุราสามทับหรือไม่

ด้านโฆษกกรมสรรพสามิตมั่นใจว่า กรมสรรพสามิตทำงานตามขั้นตอนทุกอย่าง และแย้งว่า ถึงแม้องค์การสุราฯ ไม่ได้สิทธิอัตราภาษีศูนย์ แต่ลูกค้าที่มาซื้อแอลกอฮอล์จากองค์การสุราฯ เพื่อไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ระบุไว้ในประกาศฯ ก็สามารถทำเรื่องมายังกรมสรรพสามิต เพื่อขอใช้สิทธิอัตราภาษีศูนย์ และนำใบอนุญาตไปขอซื้อสุราสามทับหรือแอลกอฮอล์จากองค์การสุราฯ อีกทอดหนึ่งได้

กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา อธิบายว่า การขอซื้อแอลกอฮอล์บริสุทธิ์จากองค์การสุรา ผู้ซื้อต้องทำเรื่องขออนุญาตไปยังกรมสรรพสามิต รายละเอียดการขออนุญาตต้องแจ้งวัตถุประสงค์การนำแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ไปใช้ และแจ้งปริมาณที่ต้องการใช้ทั้งปี

จากนั้นผู้ซื้อจึงนำใบอนุญาตมาส่งให้องค์การสุราฯ เพื่อให้วางแผนผลิตสินค้า และขอรับแสตมป์สรรพสามิตที่ได้รับอนุญาตจากสรรพสามิตพื้นที่ฉะเชิงเทราซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์การสุราฯ

นอกจากนั้น องค์การสุราฯ ยังต้องส่งบันทึกรายงาน เพื่อแจ้งการใช้วัตถุดิบการผลิตและการบรรจุแอลกอฮอล์ ไปยังกรมสรรพสามิต และขออนุญาตสรรพสามิตเพื่อขนส่งสินค้าให้ลูกค้า

กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ลูกค้าจึงได้รับสินค้า และลูกค้าผู้ซื้อสุราสามทับต้องทำบันทึกรายงานการรับ-จ่าย การนำไปใช้ และยอดคงเหลือของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ส่งกรมสรรพสามิตด้วย

ตรงกันข้าม ลูกค้าที่ซื้อกับเอกชนไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนเหล่านี้ จึงได้รับความสะดวกสบายและรวดเร็วกว่ามาก นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่ทำให้องค์การสุราฯ ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ค้าอื่นได้เท่าที่ควร

ยูเนี่ยนฯ แจง “ไม่ได้ผูกขาด – ได้รับอนุญาตโดยสุจริต”

บริษัทยูเนี่ยน เคมีคอลล์ แอนด์ อีควิปเม้นท์ จำกัด คือ บริษัทเดียวที่ได้รับสิทธิภาษีอัตราศูนย์ สำหรับสุราสามทับที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมวัตถุเจือปนอาหาร โรงงานตั้งอยู่ที่ ต.วังตะเคียน อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท

บริษัทขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตสุราสามทับ เพื่อการส่งออกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 และขออนุญาตแปลงสภาพแอลกอฮอล์จำนวน 2 สูตรเพื่อขายให้กับกลุ่มลูกค้าของบริษัทตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา

ธรรมรัตน์  เอี่ยมลออ ที่ปรึกษาบริษัทยูเนี่ยน เคมีคอล แอนด์ อีควิปเม้นท์ จำกัด

ธรรมรัตน์ เอี่ยมลออ ที่ปรึกษาบริษัทยูเนี่ยน เคมีคอล แอนด์ อีควิปเม้นท์ จำกัด

ธรรมรัตน์ เอี่ยมลออ ที่ปรึกษาบริษัทยูเนี่ยน เคมีคอล แอนด์ อีควิปเม้นท์ จำกัด

ธรรมรัตน์ เอี่ยมลออ ที่ปรึกษาบริษัทยูเนี่ยนฯ ให้ข้อมูลว่า บริษัทขออนุญาตผลิตสุราสามทับเพื่อการส่งออกกับกรมสรรพสามิต โดยระบุในจุดประสงค์ชัดเจนว่าขอจำหน่ายในประเทศด้วย และทางกรมสรรพสามิตก็อนุญาต

ทางบริษัทยูเนี่ยนฯ ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นธรรมนัก หากมองว่าบริษัทเป็นผู้ได้ประโยชน์รายเดียวจากประกาศฯ ของกรมสรรพสามิตเมื่อปี 2561 จุดสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องส่งสูตรส่วนผสมและตัวอย่างผลิตภัณฑ์วัตถุเจือปนอาหารที่ขอใช้สิทธิภาษีอัตราศูนย์ให้สรรพสามิตวิเคราะห์ความเป็นสุรา

เนื่องจากบริษัทมีใบ อ.18 ของวัตถุเจือปนอาหารจำนวน 2 สูตร ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งใบขึ้นทะเบียนนี้ไม่มีวันหมดอายุ เมื่อกรมสรรพสามิตแก้ไขประกาศออกมาภายหลังในปี 2563 ในทางกฎหมายจึงไม่ควรมีผลย้อนหลังกับบริษัทฯ ที่ได้รับอนุญาตไปก่อนหน้า

นอกจากนี้ ปลายปี 2562 ทางบริษัทขออนุญาตแก้ไขและซ่อมแซมปรับปรุงโรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต มูลค่าการลงทุนกว่า 200 ล้านบาท โดยแนบใบ อ.18 ทั้งสองรายการส่งไปยังกรมสรรพสามิตด้วย ซึ่งทางกรมสรรพสามิตก็อนุญาต ดังนั้น กรมสรรพสามิตย่อมทราบดีว่าสูตรส่วนผสมวัตถุเจือปนอาหารของบริษัทยูเนี่ยนฯ เป็นอย่างไร

ภาพถังโมลาสในโรงงานผลิตสุราสามทับ องค์การสุราฯ

ภาพถังโมลาสในโรงงานผลิตสุราสามทับ องค์การสุราฯ

ภาพถังโมลาสในโรงงานผลิตสุราสามทับ องค์การสุราฯ

สำหรับข้อกล่าวหาว่าบริษัทฯ ทำให้องค์การสุราฯ ขาดทุนนั้นไม่เป็นความจริง เพราะบริษัทยูเนี่ยนฯ ผลิตสุราสามทับที่มาจากมันสำปะหลัง ขณะที่ องค์การสุราฯ ผลิตสุราสามทับจากโมลาสหรือกากน้ำตาล ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่ม และมองว่าลูกค้าขององค์การสุราฯ อาจนำเข้าเอง ซึ่งแต่ละปีไม่มีข้อมูลว่าไทยนำเข้าสุราสามทับในปริมาณเท่าไร
รายละเอียดการใช้สุราสามทับ ข้อมูลจาก บ.ยูเนี่ยน เคมีคอล แอนด์ อีควิปเม้นท์ จำกัด

รายละเอียดการใช้สุราสามทับ ข้อมูลจาก บ.ยูเนี่ยน เคมีคอล แอนด์ อีควิปเม้นท์ จำกัด

รายละเอียดการใช้สุราสามทับ ข้อมูลจาก บ.ยูเนี่ยน เคมีคอล แอนด์ อีควิปเม้นท์ จำกัด

การขออนุญาตผลิตสุราสามทับปริมาณ 40 ล้านลิตรในปี 2566 ของบริษัทยูเนี่ยนฯ นั้น เป็นการขออนุญาตครอบคลุม 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ แอลกอฮอล์ในรูปวัตถุเจือปนอาหาร 2 สูตร และที่ใช้กับเครื่องสำอาง 1 สูตร ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2566 บริษัทยูเนี่ยนฯ ยังผลิตจริงไม่ถึง 7 ล้านลิตร

บริษัทยูเนี่ยนฯ ได้ส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมไปยัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2566 หลังจากทราบข้อร้องเรียนของสหภาพฯ องค์การสุราฯ เพราะไม่ทราบว่าผลการตัดสินใจของกรมสรรพสามิตต่อจากนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อบริษัทฯ และ เพื่อชี้แจงที่มาที่ไปและข้อเท็จจริง พร้อมกับยืนยันว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทฯ ได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิตอย่างสุจริต

สหภาพฯ องค์การสุราฯ เตรียมร้อง ป.ป.ช.

คาดว่าปลายเดือนกรกฎาคม 2566 สหภาพฯ องค์การสุราฯ เตรียมยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังจาก ร้องเรียนไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงพรรคก้าวไกล โดยมีนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เป็นผู้รับเรื่อง

ตัวแทนสหภาพฯ องค์การสุราฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังตัวแทนพรรคก้าวไกล

ตัวแทนสหภาพฯ องค์การสุราฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังตัวแทนพรรคก้าวไกล

ตัวแทนสหภาพฯ องค์การสุราฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังตัวแทนพรรคก้าวไกล

โฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้สั่งการด่วนที่สุดให้ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์วัตถุเจือปนอาหารในท้องตลาดว่าเป็นไปตามสูตรที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. หรือไม่ และผลวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เข้าข่ายเป็นสุราหรือไม่ พร้อมกับหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง