"เสรี" ซัดแก้ ม.272 ดิสเครดิต - "ประพันธุ์" ค้านเสนอชื่อ "พิธา" รอบ2

การเมือง
14 ก.ค. 66
15:06
1,684
Logo Thai PBS
"เสรี" ซัดแก้ ม.272 ดิสเครดิต - "ประพันธุ์" ค้านเสนอชื่อ "พิธา" รอบ2
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ส.ว.กิตติศักดิ์" ชี้เป็นสิทธิ์ พรรคก้าวไกล ยื่นปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ม. 272 ไม่มองเป็นการตอบโต้ แต่ทำให้ได้แล้วกัน ขณะที่ "เสรี" ระบุเป็นการดิสเครดิต ส.ว. ขอยึดหลักทำหน้าที่ต่อไม่เกรงกลัว ย้ำ ส.ว. อยู่ครบวาระ 5 ปี

วันนี้ (14 ก.ค.2566) นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ พรรคก้าวไกล ยื่นปิดสวิตช์ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ว่า ไม่คิดว่าเป็นการตอบโต้ ส.ว. ที่ไม่โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ทำให้ได้แล้วกัน เพราะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คน ที่จะให้แก้หรือไม่แก้ก็ต้องไปวัดกัน

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของตนเอง เชื่อว่าการโหวตครั้งที่สอง คงไม่ใช่ชื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะคะแนนน้อย ไม่เหมาะสมแล้ว และมองว่า นายพิธา เป็นสินค้ามีตำหนิ แนะนำให้ จูงมือกันไปหย่าที่อำเภอ แล้วหาแฟนใหม่ เพราะถ้าเขายังรักกัน มัดข้าวต้มติดกัน อาจจะเลือดท่วมจอ มีการแทงกันข้างหลัง อาจทำให้ตาอยู่มาได้

ดังนั้นวันที่ 19 ก.ค. หากเสนอนายพิธาไปอีก บอกเลยว่าถ้าเป็นแบบนี้เปอร์เซ็นต์ต่ำเลย คะแนนก็ไม่ต่างจากเดิม เผลอๆ ลดกว่าเดิม ด้วยซ้ำ เพราะไม่สามารถเรียกคะแนนเพิ่มมาได้แล้ว
กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา

ก้าวไกลยื่นแก้ไขมาตรา 272 ดิสเครดิต ส.ว.

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ระบุถึงการที่พรรคก้าวไกล จะเสนอยกเลิกมาตรา 272 ที่ ส.ว. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่สามารถเป็นไปได้ เพราะต้องใช้เสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ซึ่งเคยทำมาแล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ ส.ว. จะปิดสวิตช์ตัวเอง การยกเลิกหรือแก้ไขไม่สามารถทำได้แต่มองว่าต้องการปิดสวิตช์ ส.ว. หรือดิสเครดิต ส.ว. และทำให้ส.ว. ลดความน่าเชื่อถือ เพื่อนำมาวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเท่านั้น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอำนาจของ ส.ว.

ทั้งนี้การที่ระบุว่าดิสเครดิต ส.ว. จะทำให้ประชาชนไม่พอใจ ส.ว.หรือไม่ นายเสรี ระบุ อยู่ที่ว่า ส.ว. มีจิตสำนึก รับผิดชอบ ในการทำหน้าที่มากน้อยแค่ไหน ถ้าไปห่วงเสียงกดดันและข่มขู่ ให้ร้ายและไม่ยอมทำตามรัฐธรรมนูญ หรือหลักการที่ถูกต้องเหมือนกับว่าเราไม่รับผิดชอบ เอาตัวรอดกลัวเสียงกร่นด่า หรือไม่ชอบอีกฝ่ายหนึ่งดังนั้น วุฒิสภาต้องยึดหลักให้มั่น ทำในสิ่งที่ถูกต้องเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะเป็นหลักการที่เป็นประโยชน์ให้กับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่คนบางกลุ่มที่มาเรียกร้อง

ประชุมรัฐสภา โหวตนายกรัฐมนตรี

ประชุมรัฐสภา โหวตนายกรัฐมนตรี

ประชุมรัฐสภา โหวตนายกรัฐมนตรี

ค้าน พรรคร่วม เสนอชื่อ "พิธา" ชิงนายกฯ รอบสอง 

นายประพันธ์ุ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็นต่อกรณีการโหวตนายกฯ รอบ 2 ต่อความเป็นไปได้ที่จะเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะแคนดิเดตนายกฯ อีกครั้งว่า กรณีชื่อของนายพิธานั้นจบแล้ว เพราะนายพิธานั้นได้เสียงเห็นชอบเป็นนายกฯ ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของสองสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 จึงทำให้ญัตติดังกล่าว เป็นอันตกไป ดังนั้นกรณีจะเสนอชื่อนายพิธา ให้โหวตอีกครั้งนั้น ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาถือว่าทำไม่ได้ เพราะญัตติตกไป ถือว่าจบแล้ว

นายประพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กำหนดว่าญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติที่มีหลักการเดียวกันเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ไม่มีการลงมติหรือประธานสภาอนุญาต เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นหากจะนำญัตติเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ กลับมาอีกในสมัยประชุมปัจจุบัน ต้องมีเหตุเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 272 วรรคสองเท่านั้น

นายประพันธุ์ ขยายความมาตรา 272 วรรคสอง ด้วยว่า ตามหลักการหากโหวตครั้งแรกไม่สามารถได้บุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ว่าด้วยเหตุใด ประธานรัฐสภาไม่มีอำนาจที่จะเปิดให้มีการลงคะแนนใหม่เองได้ ต้องให้สมาชิกรัฐสภารวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาตามมาตรา 272 วรรคสอง เท่านั้น และต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกสองสภา หรือ 500 เสียง จึงจะทำให้นายพิธา ฐานะผู้ที่เคยได้รับการเสนอชื่อให้โหวตเป็นนายกฯ กลับมาเสนอได้อีก หากดำเนินการใดๆ นอกจากแนวทางนี้ ย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เมื่อรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้เช่นนี้แล้ว จึงไม่เปิดช่องทางอื่นให้นายพิธา ถูกเสนอชื่อกลับมาให้รัฐสภาโหวตโดยง่าย หรือโหวตเลือกนายพิธาฯ ซ้ำซากไปเรื่อยๆ เหมือนนักกฎหมาย หรือพวกกุนซือสมองทื่อเสนอให้โหวตไปเรื่อยๆ จนสิ้นวาระของวุฒิสภา ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลและนายพิธาฯ ควรให้การศึกษาพวกด้อมส้มให้โปรดเข้าใจตามนี้ด้วย
FB : วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์

FB : วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์

FB : วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์

ปิดสวิตช์ตัวเอง! "ครูหยุย" ประกาศชัดงดออกเสียงโหวตนายกฯ

ล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์" ระบุว่า การลงมติใดๆ ในสภา จะมีสามทางเลือกครับคือ เห็นชอบ ไม่เห็นชอบ งดออกเสียง 

ผมตัดสินใจ “งดออกเสียง” เพราะต้องการคงเจตนารมณ์ที่เคยลงมติ "ปิดสวิตช์ตนเอง" มาแล้วเมื่อปี 2565 ว่า จะไม่ใช่สิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีคนใดอีก ดังนั้น คราวนี้เสนอ พิธาจึงประกาศ "งดออกเสียง" คราวต่อไป ถ้าเสนอ "อุ๊งอิ๊ง หรือ เศรษฐา หรืออนุทิน หรือลุงป้อม" ผมก็จะประกาศ "งดออกเสียง" เช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่ม :

"ชัยธวัช" เตรียมเดินหน้ายื่นแก้ รธน. ม.272 "ปิดสวิตช์ ส.ว." วันนี้

"หมอชลน่าน" ชี้ไม่มีดีลข้ามขั้ว ยันเคียงข้างก้าวไกลเสมอ

โซเชียลระอุ หลัง "พิธา" วืดนายกฯ รอบแรก

"วันนอร์" เตรียมนัดวิป 3 ฝ่าย เคาะโหวตนายกฯ รอบ 2 คาด 19 ก.ค.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง