WHO แนะเฝ้าระวังการระบาดโควิด-19 จากน้ำเสีย

สังคม
21 ก.ค. 66
12:34
562
Logo Thai PBS
WHO แนะเฝ้าระวังการระบาดโควิด-19 จากน้ำเสีย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยข้อมูล WHO แนะชาติสมาชิกเฝ้าระวังการระบาดโควิด-19 จากน้ำเสีย ควบคู่เฝ้าระวังจีโนมิกส์ เพื่อชะลอ หรือซื้อเวลาการแพร่โควิด-19 หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

การระบาดใหญ่ไปทั่วโลก (Pandemic) ของโควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อยืนยัน 768,237,788 คน เสียชีวิต 6,951,677 คน แต่เราอาจชะลอหรือถ่วงเวลาความรวดเร็วของการระบาดของโควิด-19 ลงได้ เพื่อให้ระบบการรักษาผู้ติดเชื้อในสถานพยาบาลของประเทศมีจำนวนเตียงและอุปกรณ์สำคัญพอเพียง

การชะลอ ถ่วง หรือซื้อเวลา (delay or buy time) สำหรับการระบาดของโควิด-19 นั้น เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรการและกลยุทธ์การป้องกันต่าง ๆ เพื่อชะลอการแพร่กระจายของไวรัส ส่งผลให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและเสียชีวิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญ หนึ่งในมาตรการนั้น คือ การเฝ้าระวังโควิด-19 จากน้ำเสีย

การตรวจหาโควิด-19 ในน้ำเสียและการเฝ้าระวังจีโนมิกส์ในชุมชน จะชะลอหรือซื้อเวลาสำหรับการระบาดของโควิด-19 เป็นวิธีที่ทางองค์การอนามัยโลกเห็นสมควร และแนะนำชาติสมาชิกดำเนินการ เนื่องจากช่วยป้องกันระบบการรักษาผู้ติดเชื้อในสถานพยาบาลของประเทศไม่ให้ล้มเหลว ลดภาระการเจ็บป่วยที่รุนแรง และช่วยรักษาชีวิตผู้คน

สหรัฐฯ เช็กน้ำเสีย ชี้แนวโน้มป่วยโควิดในชุมชน

การเฝ้าระวังโควิด-19 จากน้ำเสียได้กลายเป็นวิธีการติดตามการปรากฏอยู่และแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในชุมชน ด้วยการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ที่ปะปนอยู่ในน้ำเสีย ซึ่งประชาชนได้ขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระไหลมารวมกันในบ่อบำบัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะได้รับข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับการไหลเวียนและการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ภายในชุมชนนั้น ๆ เป็นเหมือนสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่จะมีผู้เจ็บป่วยและต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. ประมาณถึง 4-6 วัน (ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (US CDC)

เป็นการชะลอหรือการซื้อเวลา (delay or buy time) ให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้มีเวลาเตรียมพร้อมและออกมาตรการเพื่อการลดหรือบรรเทาผลกระทบของการระบาด (outbreak) จากโควิด-19
การเฝ้าระวังโควิด-19 จากน้ำเสียในต่างประเทศ:

ทั้งนี้ ระบบเฝ้าระวังน้ำเสียแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) เป็นตัวอย่างการดำเนินการเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 จากน้ำเสียที่ประสบความสำเร็จ ด้วยการตรวจจับไวรัสโคโรนา 2019 ใช้เทคนิค “Real-time PCR” หรือ “Quantitative PCR” ซึ่งบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของโควิด-19 (ผลบวก) พร้อมจำนวนจำนวนไวรัส/มิลลิลิตร ในตัวอย่างน้ำส่งตรวจ ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถระบุแนวโน้มการระบาดได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อดำเนินการป้องกันให้กับชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังบูรณาการการเฝ้าระวังจีโนมิกส์ (Genomic Surveillance) อันเป็นการตรวจสอบรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 จากตัวอย่างน้ำเสียที่ผลการตรวจ Real-time PCR ให้ผลบวกร่วมด้วย ช่วยให้สามารถระบุชนิดของสายพันธุ์ทั้งเก่าและใหม่ที่ลดจำนวนลงหรือเพิ่มจำนวนขึ้นได้ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสม เช่น รณรงค์การฉีดวัคซีนและปรับระยะเวลาในการฉีดเข็มกระตุ้น การใช้แอนติบอดีสำเร็จรูปและการใช้ยาต้านไวรัสในการรักษา

ไทยนำร่องเฝ้าระวังโรคจากน้ำเสีย

ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ และสำนักวิจัยโรงพยาบาลรามาธิบดี ดำเนินการโครงการนำร่องการเฝ้าระวังโควิด-19 จากน้ำเสียที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โดยเก็บตัวอย่างน้ำเสียมาตรวจ Real-time PCR ซึ่งตัวอย่างที่ให้ผลเป็นบวก จะถูกส่งมาตรวจรหัสพันธุกรรมด้วยเทคนิค MassArray Genotyping ที่ศูนย์จีโนมฯ เพื่อติดตามแนวโน้มของโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ไหลเวียน และแพร่กระจายอยู่ในชุมชนนั้น เพื่อวางแผนรับมือ และดำเนินการตามเป้าหมายควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส

การควบรวมการเฝ้าระวังจีโนมิกส์ของโควิดเข้ากับการเฝ้าระวังน้ำเสียในไทย จะทำให้ได้ข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับความชุกของไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ การเฝ้าระวังโรคติดเชื้อจากน้ำเสียสามารถใช้เพื่อเฝ้าระวังโรคติดเชื้ออื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคโปลิโอ ไข้หวัดใหญ่ โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบจากไวรัส เชื้อโรคที่ดื้อต่อยาต้านจุลชีพ โรคจากอาหารปนเปื้อนจุลชีพ เช่น โนโรไวรัส เชื้อซัลโมเนลลา คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ แคมพิโลแบคเตอร์ สแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส อหิวาตกโรค และโรคฝีดาษลิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง