ศาลปกครองกลาง ยกฟ้องคดีปรับหลักเกณฑ์ รถไฟฟ้าสายสีส้ม

เศรษฐกิจ
25 ก.ค. 66
16:35
2,130
Logo Thai PBS
ศาลปกครองกลาง ยกฟ้องคดีปรับหลักเกณฑ์ รถไฟฟ้าสายสีส้ม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวน และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนครั้งที่ 2

วันนี้ (25 ก.ค.2566) ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอสซี) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ครั้งที่ 2 และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 โดยศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา

เนื่องจากพิจารณาคำฟ้องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์คัดเลือกในการประมูลครั้งที่ 2 พบว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ดำเนินการสอดคล้องไปกับข้อกำหนดของ พ.ร.บ. ร่วมทุนปี 2562 ไม่เข้าข่ายเอื้อประโยชน์เอกชนรายใดรายหนึ่ง หรือกีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งเพราะ รฟม. ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็น ก่อนเปิดรับซองเอกสารเป็นเวลา 60 วัน โดยมีเอกชนรายอื่นและผู้ฟ้องคดีไม่ปรากฏข้อโต้แย้ง จึงได้มีการดำเนินการร่างประกาศเชิญชวนและเอกสารคัดเลือกเอกชนตามขั้นตอนที่กำหนดตามกฎหมายแล้ว โดยไม่ต้องเสนอ ครม. อีกครั้ง

และการประกาศเชิญชวนฯ และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน มีความชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดผู้ฟ้องคดี จึงไม่ต้องมีการให้สินไหมทดแทน

ส่วนประเด็นข้อกล่าวหา การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดคัดเลือกเอกชนในด้านซองเทคนิค ที่มีการกำหนดเพิ่มคะแนนด้านเทคนิคแต่ละหมวด 85 คะแนน และผลรวมคะแนนไม่ต่ำกว่า 90 คะแนน อีกทั้งยังกำหนดให้เอกชนที่รับงานโยธาต้องมีประสบการณ์เป็นคู่สัญญาต่อรัฐบาลไทยและเป็นงานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จส่งมอบแล้วนั้น รฟม. ได้ใช้ดุลพินิจความเหตุผลเพื่อประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากงานก่อสร้างโครงการนี้เป็นงานอุโมงค์และผ่านพื้นที่สำคัญ จำเป็นต้องคัดเลือกเอกชนที่มีศักยภาพงานเทคนิค อีกทั้งการกำหนดให้มีประสบการณ์คู่สัญญาภาครัฐ เพื่อเอื้อต่อการตรวจสอบเปรียบเทียบคุณภาพงาน สอดคล้องกับข้อกำหนดของกรมบัญชีกลาง และเพื่อสร้างความมั่นใจต่องานก่อสร้างและเพื่อประโยชน์ของประเทศ

ส่วนประเด็นที่ รฟม. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นลำดับที่ 2 จำนวนกว่า 1,256 หุ้น หรือร้อยละ 8.22 จะเอื้อต่อเอกชนรายใดรายหนึ่งในการคัดเลือกหรือไม่ ยืนยันว่า ไม่ขัดต่อหลักการคัดเลือกเอกชน เพราะข้อกฎหมายมีการกำหนดไว้ในลักษณะของบุคคลห้ามถือหุ้นเท่านั้น และในช่วงที่ผ่านมา บีทีเอสสามารถชนะการประมูลรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูได้

รายงานข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากนี้จะดำเนินการอุทธรณ์หรือไม่ ขอให้ทางทีมทนายหารือกันอีกครั้งก่อน 

อ่านข่าวอื่นๆ :

ชาวบ้านเฮ! "คลัง" เพิ่มสวัสดิการ ใช้รถเอกชน-รถร่วม-เรือโดยสาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง