ช่วย "ลูกบ่าง" ในอ้อมกอดแม่ที่ตายแล้ว ส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดูแล | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส

ช่วย "ลูกบ่าง" ในอ้อมกอดแม่ที่ตายแล้ว ส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดูแล

สิ่งแวดล้อม
29 ก.ค. 66
17:15
8,298
Logo Thai PBS
ช่วย "ลูกบ่าง" ในอ้อมกอดแม่ที่ตายแล้ว ส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าดูแล
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
จนท.โรงแรมในเขาหลัก นำ "บ่างแม่ลูก" มอบให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขาหลัก-ลำรู่ พบตัวลูกอยู่ในอ้อมกอดแม่ที่ตายไปแล้ว ส่งดูแลรักษาที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา

วันนี้ (29 ก.ค.2566) เจ้าหน้าที่โรงแรมในเขาหลัก ได้นำบ่างแม่ลูก มาส่งมอบให้เจ้าหน้าที่อุทยาน ต่อมาตัวแม่ตาย เหลือแค่ลูกที่ยังอยู่ในอ้อมกอดของแม่ ต่อมานายณรงค์ คงเอียด ได้มอบให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ นำส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา เพื่อดูแลและรักษาต่อไป

บ่าง หรือพุงจง หรือพะจง ในภาษาใต้ หรือปักขพิฬาร (Colugo, Flying lemur, Sunda flying lemur, Malayan flying lemur) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกหนึ่งในอันดับบ่าง (Dermoptera) มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ พบได้เฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Galeopterus variegatus นับเป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Galeopterus

จนท.นำลูกบ่างไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา

จนท.นำลูกบ่างไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา

จนท.นำลูกบ่างไปดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา

มีรูปร่างคล้ายกระรอกบินขนาดใหญ่ ผิวหนังย่น ตามีขนาดใหญ่สีแดง ใบหูเล็ก มีนิ้วทั้งหมด 5 นิ้ว สีขนมีหลากหลายมาก โดยสามารถเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ทั้งน้ำตาลแดง หรือเทา รวมทั้งอาจมีลายเลอะกระจายไปทั่วตัว โดยตัวเมียมีสีอ่อนกว่าตัวผู้ หางมีลักษณะแหลมยาว มีพังผืดเชื่อมติดต่อกันทั่วตัว โดยเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ขาหลังกับหาง ระหว่างขาหน้ากับคอ และระหว่างนิ้วทุกนิ้ว มีความยาวหัวและลำตัวโตเต็มที่ราว 34-42 เซนติเมตร หาง 22-27 เซนติเมตร น้ำหนัก 1-1.8 กิโลกรัม

ลูกบ่างแรกเกิดมักมีการพัฒนาไม่มากนักคล้ายสัตว์ที่มีกระเป๋าหน้าท้อง แม่บ่างจะเลี้ยงลูกไว้โดยให้เกาะที่ท้อง เวลาเกาะอยู่กับต้นไม้ ผังผืดระหว่างขาจึงทำหน้าที่เหมือนเปลเลี้ยงลูกเป็นอย่างดี แม้ยามมีลูกอ่อน แม่บ่างก็ร่อนหาอาหารได้เหมือนเดิม โดยลูกบ่างจะยึดเกาะขนที่หน้าท้องแม่ไว้แน่น

จนท.โรงแรมในเขาหลักส่งมอบบ่างแม่ลูกให้อุทยานฯ

จนท.โรงแรมในเขาหลักส่งมอบบ่างแม่ลูกให้อุทยานฯ

จนท.โรงแรมในเขาหลักส่งมอบบ่างแม่ลูกให้อุทยานฯ

บ่าง เป็นสัตว์ที่มีเสียงร้องคล้ายเสียงคนร้องไห้ และความเป็นสัตว์ที่มีหน้าตาน่าเกลียด หากินในเวลากลางคืน จึงเป็นที่รับรู้กันดีของคนที่อาศัยอยู่ชายป่าหรือผู้ที่นิยมการผจญภัยว่าเสียงร้องของบ่างน่ากลัวเหมือนผี

บ่างมักอาศัยและหากินอยู่บนต้นไม้สูง และอาศัยได้ในป่าทุกสภาพ ไม่เว้นแม้กระทั่งป่าเสื่อมโทรม หรือตามสวนไร่นา แต่ไม่ค่อยลงมาพื้นดิน ออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนตอนกลางวันจะนอนหลับพักผ่อนตามยอดไม้หรือโพรงไม้ กินอาหารจำพวกพืช ได้แก่ ยอดไม้ ดอกไม้ สามารถร่อนจากต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังต้นหนึ่งได้ไกลกว่ากระรอกบินมาก ใช้เวลาตั้งท้องนานประมาณ 60 วัน ออกลูกครั้งละตัว หรือบางครั้ง 2 ตัว ในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ แม่บ่างอาจออกลูกมากกว่า 1 ครั้งต่อปี

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง