ครั้งแรก 'ไลดาร์ศรีเทพ' บทสัมภาษณ์พิเศษผลแปรภาพเบื้องต้น

สังคม
6 ส.ค. 66
12:55
1,784
Logo Thai PBS
ครั้งแรก 'ไลดาร์ศรีเทพ' บทสัมภาษณ์พิเศษผลแปรภาพเบื้องต้น
ต้นปี 2565 เป็นครั้งแรกของไทยที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีนำเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) สำรวจเมืองโบราณศรีเทพ ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา หัวหน้าทีมสำรวจ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยพีบีเอสถึงผลการแปรภาพไลดาร์เบื้องต้นว่าค้นพบอะไรใหม่ และผลการแปรภาพในครั้งนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการโบราณคดีในมิติใดบ้าง

รู้จัก "เทคโนโลยีไลดาร์"

LiDAR หรือ ไลดาร์ เป็นชื่อย่อของเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า "Light Detection and Ranging"  ใช้ตรวจสอบพื้นผิวโลกโดยวิธีการตรวจจับทางไกล (Remote sensing method)

เทคโนโลยีนี้ใช้วิธีการทำงานโดยยิงแสงเลเซอร์ไปกระทบกับวัตถุหรือพื้นผิวต่างๆ เพื่อวัดช่วงระยะทางที่แปรผันกับโลก จากนั้นนำข้อมูลอื่นๆ ที่บันทึกทางอากาศมาคำนวณร่วมกัน เพื่อสร้างภาพสามมิติลักษณะพื้นผิวโลกได้อย่างแม่นยำ อธิบายอย่างง่ายๆ คือ คล้ายกับการสแกนพื้นผิวโลกทางอากาศ

 

 

ส่วนใหญ่แล้วไลดาร์จะประกอบด้วยตัวยิงแสงเลเซอร์ ตัวสแกนเนอร์ และตัวรับสัญญาณจีพีเอส จากนั้นติดตั้งกับเฮลิคอปเตอร์หรือโดรนเพื่อใช้บินสำรวจภูมิประเทศ ข้อมูลที่ได้จะอยู่ในรูปแบบจุดหรือ Point Clouds ในแต่ละจุดประกอบด้วยตำแหน่งทางราบและทางดิ่ง ซึ่งนักวิเคราะห์สามารถนำมาสร้างแบบจำลองสามมิติได้

ไลดาร์ถูกใช้ในหลายด้าน เช่น การสำรวจแม่น้ำ มหาสมุทร และภูมิประเทศ ในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่มีระบบเตือนวัตถุรอบข้างก็ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจากไลดาร์ รวมถึงโทรศัพท์มือถือบางรุ่นที่ติดตั้งระบบไลดาร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกล้อง เป็นต้น

การนำไลดาร์มาสำรวจเมืองโบราณศรีเทพ

เดือนมกราคม 2565 สภาวัฒนธรรมอำเภอศรีเทพและสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์สมทบทุนรวมกว่า 2 แสนบาท เพื่อใช้โดรนไลดาร์สำรวจพื้นที่ 50 ตารางกิโลเมตรรอบเมืองโบราณศรีเทพ  จุดประสงค์เพื่อสำรวจร่องรอยอารยธรรมเก่าแก่ของพื้นที่นี้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในอดีต ด้วยความคาดหวังว่าทางท้องถิ่นสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปจัดการบริหารพื้นที่ทางโบราณคดีได้อย่างถูกต้อง

 

 

อย่างไรก็ตาม การสำรวจครั้งนี้ไม่ครอบคลุมพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ เนื่องจาก กรมศิลปากรไม่อนุญาต เพราะมีแผนสำรวจในอนาคตของตนเองอยู่แล้ว

ไลดาร์มีส่วนช่วยอย่างมากในงานสำรวจด้านโบราณคดี เพราะช่วยให้นักสำรวจเข้าถึงพื้นที่ที่เข้าถึงยากหรือภูมิประเทศขนาดใหญ่ผ่านการบังคับทางไกลได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่ารกทึบ หรือพื้นที่เกษตรกรรม

ตัวลำแสงเลเซอร์ของไลดาร์สามารถยิงผ่านทะลุยอดไม้ไปจนถึงผิวดิน ทำให้เห็นแนวคูน้ำคันดิน ร่องรอยการทำเกษตรกรรมในอดีต รวมถึงโบราณสถานที่ซ่อนอยู่ ผ่านร่องรอยที่ปรากฎบนผิวดินจากผลวิเคราะห์ไลดาร์ซึ่งอาศัยการแปรข้อมูลจาก Point Clouds

 

 

ผลวิเคราะห์ภาพสแกนไลดาร์รอบเขาคลังนอก

เขาคลังนอก

เขาคลังนอก

เขาคลังนอก

 

ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา หัวหน้าทีมสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ และที่ปรึกษาสภาวัฒธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ใช้เวลาแปรผลการสแกนไลดาร์เบื้องต้นเกือบหนึ่งปี  เธอบอกว่าอาจใช้เวลาประมาณ 10 ปี หากต้องการแปรผลไลดาร์ทั้งหมดที่สำรวจมาโดยละเอียด และ “เขาคลังนอก” คือจุดแรกที่หัวหน้าทีมสำรวจวิเคราะห์ผลเบื้องต้นออกมา

 

ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา หัวหน้าทีมสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ

ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา หัวหน้าทีมสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ

ดร.พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา หัวหน้าทีมสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพ

 

สภาพปัจจุบันของเขาคลังนอกคือสถูปขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศไทยที่รายล้อมไปด้วยเจดีย์รายสี่ด้าน ส่วนบริเวณรอบๆ คือบ้านเรือนและแปลงเกษตรกรรม

ผลของไลดาร์เบื้องต้นปรากฏร่องรอยบ่อน้ำโบราณที่อยู่ใต้สระน้ำขนาดใหญ่ของหมู่บ้านในปัจจุบัน เจดีย์รายรอบมหาสถูปเขาคลังนอกที่ยังไม่ได้ขุดค้น และร่องรอยของโบราณสถานที่ยังไม่สามารถระบุชนิดกระจายไปทั่วบริเวณ รวมถึงร่องรอยของการใช้ภูมิประเทศในอดีต หรือที่นักโบราณคดีเรียกว่า "การใช้ภูมิทัศน์ทางประวัติศาสตร์" (Historical Landscape Augmentation) ทั้งหมดกินพื้นที่กระจายออกจากเขาคลังนอกไปกว่า 3 ตารางกิโลเมตร

 

 

ดร.พชรพร บอกว่าความน่าตื่นเต้นของเขาคลังนอก คือ เมื่อพูดถึงโบราณศาสนสถานขนาดใหญ่ที่มีจำนวนคณะสงฆ์ถึง มีพื้นที่ใช้งานถึง ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าสถานที่นั้นคือพื้นที่การเรียนรู้ เทียบเคียงจากลักษณะของโบราณศาสนสถานคติมหายานในยุคทวารวดีที่ร่วมสมัยคาบเกี่ยวกันเช่น จันทราปุระและโสมปุระมหาวิหาร ประเทศบังกลาเทศ เมืองแปร ประเทศเมียนมา ไปจนถึงลักษณะพื้นที่ของบุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงปาเล็มบัง เป็นต้น

ยกตัวอย่างสำหรับผู้ที่นึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงมหาวิทยาลัยนาลันทา ประเทศอินเดียซึ่งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ การใช้งานพื้นที่ของมหาวิทยาลัยไม่ได้ใช้แค่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่การเรียนรู้ใช้ประสิทธิประสาทวิชาในรูปแบบกึ่งมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของศรีเทพ เรายังพบศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์จากลักษณะสกุลช่างที่มีการถ่ายทอดวิชาในรูปแบบโรงเรียน (School) และเมื่อมองย้อนกลับไปในยุคนั้น ยังพบว่าส่วนใหญ่แล้ว วัดเป็นแหล่งผลิตวัตถุทางด้านศาสนา งานศิลปะ หรือแม้กระทั่งเครื่องอุปโภคบริโภคบางอย่าง ซึ่งฟังก์ชัน (Function) ตรงนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปในภายหลัง

หากเรานำข้อมูลที่เจอจากไลดาร์มาตรวจสอบกับพื้นที่ของทางกรมศิลปากรขุดขยายส่วนต่อบริเวณรอบๆ เขาคลังนอก จึงเป็นไปได้ว่าบริเวณนี้อาจเป็นวิทยาลัยหนึ่งของภูมิภาคในยุคทวารวดีที่ใช้ส่งต่อคติหลายๆ อย่างทางพุทธศาสนาขึ้นไปยังที่ราบสูงโคราช หรือส่งต่อขึ้นไปตามแนวลำน้ำป่าสัก รวมถึงภูมิภาคภาคกลางด้วย

ในตอนนี้ ถ้าคุณเดินเข้าไปในเขาคลังนอก จะรู้สึกตื่นเต้นว่าตัวสถูปมันใหญ่จังเลย แต่มันไม่ใช่ความรู้สึกเดียวกันกับที่เราเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัยนาลันทา บุโรพุทโธ หรือปาเล็มบัง ที่ทำให้รู้สึกว่าเราเดินเข้าไปในวิทยาลัยการศึกษาโบราณ มิติการมองประวัติศาสตร์ก็เปลี่ยน

หัวหน้าทีมสำรวจโดรนไลดาร์เมืองโบราณศรีเทพยังมองว่า การศึกษาพื้นที่โบราณสถานของไทยต้องทำมากกว่าขุดค้นโบราณสถานหลัก (Monument) และหันมาดูบริบทการขยายส่วนของโบราณสถานรายที่อยู่รอบๆ ถ้าหากทำเช่นนี้ได้ พื้นที่ตรงนี้อาจออกมาเป็นเหมือนจันทราปุระหรือนาลันทาย่อยของประเทศไทย

ไลดาร์สแกนหลุมปริศนา สวรรค์ของนักล่าโบราณวัตถุ

ห่างออกจากเขาคลังนอกไปประมาณ 5 กม. ปรากฎหลุมลักลอบขุดโบราณวัตถุกระจายทั่วพื้นที่เกษตรกรรมมบริเวณริมแม่น้ำป่าสัก มีทั้งร่องรอยขุดเดิมและหลุมขุดใหม่

ทีมข่าวได้พบกับชาวบ้านคนหนึ่งกำลังพาวัวเข้ามากินหญ้าในบริเวณนี้ เธอเล่าว่าที่นี่เป็นจุดขุดหาของโบราณมานานกว่า 20-30 ปี และเธอก็เป็นคนหนึ่งที่เคยเข้ามาขุดหาสมบัติในพื้นที่นี้เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว

 

ร่องรอยหลุมลักลอบขุดโบราณวัตถุ

ร่องรอยหลุมลักลอบขุดโบราณวัตถุ

ร่องรอยหลุมลักลอบขุดโบราณวัตถุ

ลูกปัดที่พบบริเวณนี้

ลูกปัดที่พบบริเวณนี้

ลูกปัดที่พบบริเวณนี้

 

เธอโชว์กำไลลูกปัดที่ยังหลงเหลืออยู่ให้ทีมข่าวดู พร้อมกับเล่าว่าของที่นักขุดหาได้มีตั้งแต่ทองคำ สำริด กำไลโบราณขนาดประมาณดุมเกวียน รวมไปถึงลูกปัดโบราณ ซึ่งตัวเธอเองเคยขายกำไลขนาดดุมเกวียนได้ในราคา 200,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สูงมากสำหรับนักขุดหาสมบัติเมื่อ 20 ปีก่อน

เธอเล่าว่า เมื่อเริ่มขุดลงไปจะเจอกับดินร่วนๆ จากนั้นจะพบกับเครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นของที่เหล่านักขุดไม่สนใจ เพราะไม่ใช่ของมีราคา เครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้จะทับอยู่บนศพที่เหลือเพียงโครงกระดูก เมื่อนำเครื่องปั้นดินเผาออกไป  พวกเขาจะค่อยๆ ใช้ปลายมีดไล่ไปตามโครงกระดูกเพื่อหาว่าคอ อก ข้อมือ และข้อเท้าอยู่ตรงไหน  เพราะมักจะพบของมีค่าในบริเวณดังกล่าวมากกว่าส่วนอื่น โดยสังเกตศพผู้หญิงหรือผู้ชายจากขนาดของกระดูกอุ้งเชิงกราน จุดสังเกตที่สำคัญอีกอย่างคือ หากหลุมใดมีสัตว์ฝังคู่กัน พวกเขาจะพบสมบัติอย่างแน่นอนเป้าหมายของนักขุดจึงอยู่ที่การหาหลุมศพที่มีสัตว์ฝังอยู่รวมกันกับศพมนุษย์ โดยพวกเขาจะนำโครงกระดูกไปฌาปนกิจพร้อมกับทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ในภายหลัง ตามความเชื่อว่า เป็นกระทำเพื่อแสดงความขอบคุณเจ้าของสมบัติ

ดร.พชรพร บอกว่า การแปรผลไลดาร์บริเวณนี้พบหลุมขุดตลอดแนวริมน้ำป่าสัก โดยดูได้จากจุดสีเขียวทั่วบริเวณ แต่ภายใต้ความเสียหายจากหลุมขุดของนักล่าสมบัติ ไลดาร์ยังทำให้เห็นร่องรอยกิจกรรมในอดีตผ่านการใช้ภูมิประเทศเชิงประวัติศาสตร์ หรือ Historical landscape augmentation กระจายอยู่ทั่วลำน้ำป่าสักในบริเวณเดียวกัน

 

 

หากมีการลักลอบขุดเยอะขนาดนี้ คำถามคือมันเป็นชุมชนใหญ่ขนาดไหน

สิ่งที่ได้จากไลดาร์รอบนี้ เห็นได้ว่าบริเวณนี้เป็นชุมชนขนาดใหญ่ และอาจเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ไม่มีคูน้ำคันดิน ลักษณะเดียวกันกับเมืองโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ของไทยที่พบในบ้านเชียง จ.อุดรธานี และเมื่อดูการกระจายตัวของร่องรอยกิจกรรมในอดีตผ่านการใช้ภูมิประเทศเชิงประวัติศาสตร์ หรือ Historical landscape augmentation ยังพบว่ากระจายอยู่ทั่วริมน้ำป่าสักกินพื้นที่กว้างขวางมาก หัวหน้าทีมสำรวจจึงประเมินว่าชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้อาจมีขนาดใหญ่กว่าบ้านเชียงอีกด้วย

นำไปสู่การตั้งคำถามใหม่ว่าที่นี่เป็นอู่อารยธรรมของลุ่มน้ำป่าสักหรือไม่ ซึ่งการศึกษาทางโบราณคดีอย่างมีระบบแบบแผนเท่านั้นที่ให้คำตอบได้

หัวหน้าทีมสำรวจให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่พื้นที่นี้ถูกทำลายจากการลักลอบขุดโบราณวัตถุมานานกว่า 30 ปี ทำให้หลักฐานบางส่วนถูกทำลาย และศิลปวัตถุจำนวนมากถูกเปลี่ยนมือไปยังนักสะสม เธอหวังว่าการค้นพบจากไลดาร์ครั้งนี้จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถวางแผนการขุดค้นทางโบราณคดีต่อไปในอนาคต รวมถึงออกแบบแผนการอนุรักษ์พื้นที่นี้ได้ทัน ก่อนที่นักล่าสมบัติจะสร้างความเสียหายไปมากกว่านี้

ผลไลดาร์เผยศาสนสถานสำคัญของเมืองหน้าด่าน

กลุ่มต้นไม้กลางแปลงเกษตรพื้นที่ 13 ไร่ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนในชุมชนหมู่ 8 ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ มายาวนาน ภายใต้กลุ่มไม้นี้ คือ โบราณสถานที่พังถล่มลงมาและกลายเป็นเนินดินขนาดใหญ่เมื่อเวลาผ่านไป ปัจจุบันพบศิลาแลงกระจัดกระจายไปทั่วเนินดิน

นายประจวบ นาคเทียน กำนัน ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เล่าว่า เมื่อ 30 ปีก่อน ที่ดินในละแวกนี้ถูกซื้อปากเปล่าเพื่อขุดหาสมบัติโดยเฉพาะ ของที่พบเป็นโบราณวัตถุอย่างทองคำ ลูกปัด สำริด รวมถึงของมีค่าอื่นๆ แต่ปัจจุบันที่ดินบริเวณนี้อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ และกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ม. 8 ไม่ใช่แหล่งขุดหาวัตถุโบราณอีกต่อไปแล้ว

ชาวบ้านเรียกเนินดินนี้ว่า “เขาคลังหน้า” โดยเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับเขาคลังใน และเขาคลังนอก ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 15 กิโลเมตร

เขาคลังหน้า

เขาคลังหน้า

เขาคลังหน้า

เนินดินเขาคลังหน้า

เนินดินเขาคลังหน้า

เนินดินเขาคลังหน้า

 

ดร.พชรพรบอกว่า จากผลการสำรวจโดรนไลดาร์เบื้องต้นพบว่าใต้เนินดิน เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ที่มีฐานสี่เหลี่ยม และคาดว่ามีขนาดใกล้เคียงกับเขาคลังใน โบราณสถานที่สำคัญของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นอกจากนี้ ไลดาร์ยังเผยให้เห็นว่าใต้พื้นที่เกษตรกรรมรอบๆ ศาสนสถาน ยังพบร่องรอยกิจกรรมในอดีตกระจายทั่วบริเวณ รวมถึงหลายจุดที่คาดว่าน่าจะเป็นโบราณสถานกระจายอยู่ในพื้นที่รวมกันกว่า 3 ตารางกิโลเมตร หัวหน้าทีมสำรวจจึงคาดว่า บริเวณนี้น่าจะเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความเชื่อมโยงกับเมืองโบราณศรีเทพ

 

 

จากการวิเคราะห์ร่วมกับภาพถ่ายทางอากาศยุคก่อนพบว่าบริเวณนี้มีแนวคูเหมือนเป็นเมืองรายหรือเป็นชุมชนย่อยๆ ที่มีการบริหารจัดการพอที่จะสร้างโครงสร้างใหญ่ในระดับเดียวกับเมืองศรีเทพหลักได้

ห่างออกไปจากที่ตั้งชุมชนนี้ ยังเป็นทางเชื่อมกับช่องเขาที่พุ่งสู่ตัวเมืองลพบุรีและมวกเหล็ก รวมถึงเมืองโบราณต่างๆ ในเขตนั้น ดังนั้น เรากำลังมองดูเมืองย่อยในพื้นที่บริบทเดียวกัน และศาสนสถานขนาดใหญ่เช่นนี้ ไม่อยู่อย่างโดดๆ แน่นอน แต่ต้องรายล้อมไปด้วยชุมชน ซึ่งผลจากไลดาร์ก็ยืนยันว่ามีโบราณสถานเพิ่มในพื้นที่ดังกล่าว

ถือว่าเปิดหน้าใหม่ในแง่มุมของศรีเทพ หากคิดว่าสีลม กรุงเทพฯ คือ ศรีเทพ ตอนนี้เรากำลังดูพื้นที่อย่างสุขุมวิทอยู่ เพราะเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีกิจกรรมแน่นหนา จากผลของไลดาร์

สำหรับนิยามของเมืองหน้าด่านตรงพื้นที่นี้ หมายถึงเมืองที่ไม่ใช่เพียงทางผ่าน แต่เป็นชุมชนที่มีศาสนสถานขนาดใหญ่ และเป็นจุดเชื่อมต่อของนักเดินทางที่มาจากด่านเจดีย์ดอนยายหอม จากเมืองเสมา มายังมาพื้นที่ศรีเทพ เป็นต้น

 

 

หัวหน้าทีมสำรวจบอกว่าอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ บริบทการกระจายตัวของเมือง เพราะที่ผ่านมานักโบราณคดีมักคิดถึงว่าเมืองโบราณยุคสมัยนั้นต้องเป็นเมืองคูน้ำคันดิน แต่ไม่ค่อยคิดถึงส่วนต่อขยาย หรือการใช้พื้นที่นอกคูเมือง ซึ่งอาจช่วยบอกวิวัฒนาการสังคมเมืองของลุ่มน้ำป่าสักได้ และคิดว่าข้อมูลไลดาร์จะเป็นพื้นฐานการสำรวจทางโบราณคดีของพื้นที่นี้ในอนาคตได้ ช่วยให้นักโบราณคดีศึกษาโครงสร้างเมืองเพิ่มเติม จนนำไปสู่การแตกนิยามสังคมเมืองของยุคนั้นออกมา โดยบูรณาการกับข้อมูลทางภูมิศาสตร์และการถิ่นฐานของชุมชนย่อยมากขึ้น

ประเด็นนี้ค่อนข้างสำคัญ หากต้องการทำความเข้าใจมิติและข้อแตกต่างระหว่างเมือง ชุมชน และพื้นที่ชนบท เพราะที่ผ่านมาเรามักให้ความสนใจกับเมืองใหญ่ๆ แต่ลืมไปว่าเมืองเล็กๆ คือองคาอพยพที่ทำให้เอกลักษณ์หรือความเป็นรัฐของเมืองใหญ่ในพื้นที่ต่างๆ มันเกิดขึ้นมาได้


ผลไลดาร์เผยอาณาเขตเมืองโบราณศรีเทพ

ดร.พชรพร บอกว่า หากประมาณการณ์จากโครงสร้างทางน้ำ บริบทการขยายขนาดของเมือง จำนวนโบราณสถานที่มีอยู่ในเขตคูเมืองใหญ่กระจายออกมายังพื้นที่เขาถมอรัตน์ รวมถึงความหนาแน่นและร่องรอยการกระจุกตัวกิจกรรมทางด้านโบราณสถานหลักต่างๆ จะทำให้เห็นว่าเมืองนี้มีประชากรมากกว่า 50,000 คนขึ้นไป แต่ข้อมูลนี้สามารถปรับขึ้นลงได้หากมีข้อมูลใหม่เข้ามา

 

เรากำลังมองดูเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวอำเภอศรีเทพในปัจจุบัน หากมองในแง่ของประชากร

เมืองใหญ่ขนาดนี้ยังต้องมีเทคโนโลยีอุ้มสมเพื่อเลี้ยงประชากรจำนวนมากได้ หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีการจัดการน้ำ เช่น การพบร่องรอยบ่อน้ำโบราณจากสระที่ชาวบ้านขุดเพิ่มเติมใกล้กับเขาคลังนอก ก็ถือว่าเป็นหลักฐานหนึ่ง

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับเมืองโบราณศรีเทพ คือ “การค้าใกล้” ซึ่งต่างจากแนวคิดว่าที่มองว่าเมืองจะร่ำรวยได้ ต้องพึ่งการค้าไกลเท่านั้น เพราะถ้าหากดูตำแหน่งของศรีเทพบนแผนที่ แล้วดูความใกล้ระหว่างเมืองศรีเทพและเมืองใกล้เคียง จะพบว่าศรีเทพมีบทบาทเป็นรอยต่อระหว่างรัฐยุคโบราณ ไม่ใช่รอยต่อธรรมดาด้วย แต่เป็นรอยต่อขนาดใหญ่

นำไปสู่การตั้งคำถามว่า ศรีเทพทำการค้าในภูมิภาคอย่างไรให้รวย โดยเมื่อดูลักษณะภูมิประเทศพบว่าที่นี่ล้อมรอบไปด้วยภูเขา เป็นป่าหนาแน่นในสมัยโบราณ เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ยังพบการระบุในทะเบียนไม้ว่า ที่นี่เต็มไปด้วยไม้มีค่าจำนวนมาก เช่น ไม้พะยูง หรือต้นมะกอกไทย เป็นต้น

หากต้องเปรียบกับปัจจุบัน ศรีเทพก็คล้ายๆ กับเมืองเชียงใหม่ หรือเมืองขอนแก่นในโลกยุคโบราณ

 

เรียบเรียงโดย จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง