ราชทัณฑ์ แจงหลักกฎหมาย เปิดข้อมูล "ผู้ต้องขังป่วย" ไม่ได้

การเมือง
25 ก.ย. 66
14:42
825
Logo Thai PBS
ราชทัณฑ์ แจงหลักกฎหมาย เปิดข้อมูล "ผู้ต้องขังป่วย" ไม่ได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมราชทัณฑ์ ชี้แจงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลผู้ป่วยได้หากไม่ยินยอม ไม่ว่าจะเป็นคนธรรมดา คนมีชื่อเสียง ดารา นักการเมือง ชี้เป็นไปตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสากล

วันนี้ (25 ก.ย.2566) กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ชี้แจงว่า เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้เป็นไปโดยเสมอภาคกันตามกฎหมาย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องขัง การสัมภาษณ์ การเปิดเผยใบหน้า โดยเฉพาะข้อมูลทางการแพทย์ การรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องขังรายใดก็ตาม ทั้งที่เป็นประชาชนคนธรรมดา ดารานักแสดง นักการเมือง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงในสังคม ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำ

กรมราชทัณฑ์ ไม่สามารถเปิดเผยได้หากผู้ต้องขังไม่ยินยอม และกรณีที่เปิดเผยข้อมูลได้ต้องมีการลงนามในแบบฟอร์มเพื่อยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเท่านั้น โดยยึดหลักกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย

1.พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 “มาตรา 7 ข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล เป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยในประการที่น่าจะทำให้บุคคลนั้นเสียหายไม่ได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่น เพื่อขอเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคลที่ไม่ใช่ของตนไม่ได้”

3.ประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 323 ผู้ใดล่วงรู้หรือได้มาซึ่งความลับของผู้อื่นโดยเหตุที่เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ โดยเหตุที่ประกอบอาชีพเป็นแพทย์ เภสัชกร คนจำหน่ายยา นางผดุงครรภ์ ผู้พยาบาล นักบวช หมอความ ทนายความ หรือผู้สอบบัญชีหรือโดยเหตุที่เป็นผู้ช่วยในการประกอบอาชีพนั้นแล้วเปิดเผยความลับนั้นในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้รับการศึกษาอบรมในอาชีพดังกล่าวในวรรคแรก เปิดเผยความลับของผู้อื่น อันตนได้ล่วงรู้หรือได้มาในการศึกษาอบรมนั้น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน อัตราโทษแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560

3.ข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ ยังยึดมั่นในหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับ
ตามมาตรฐานสากล โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีสมาชิกแห่งองค์การสหประชาชาติ มีการวางมาตรฐานข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยรายละเอียดของผู้ต้องขังในฐานะผู้ป่วย

ตามข้อกำหนดที่ 26, 32 ที่กำหนดว่า ข้อมูลด้านเวชระเบียนผู้ต้องขังทุกคนต้องเก็บเป็นความลับ ผู้ต้องขังมีสถานะเป็นผู้ป่วยตามปกติเมื่อเข้าพบแพทย์ ผู้ป่วยต้องให้ความยินยอมบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง (Informed consent) สำหรับการตรวจหรือรักษาทางการแพทย์ ประวัติการรักษาของผู้ต้องขังต้องถูกเก็บเป็นความลับ การไม่เปิดเผยข้อมูลเรื่องสุขภาพของผู้ต้องขังนั้น ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ ในระยะเวลาปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กรมราชทัณฑ์ มีสถิติผู้ต้องขังที่ต้องดูแลทั่วประเทศกว่า 276,686 คน โดยมีผู้ต้องขังเจ็บป่วยอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่เจ็บป่วยทั่วไปสามารถดูแลได้ภายในสถานพยาบาลเรือนจำ หรือกรณีส่งต่อออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก ส่งรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกราว 30,000 คน โดยออกรักษามากกว่า 75,000 ครั้ง

นอกจากนี้ มีผู้ป่วยกรณีที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลภายนอกเกินกว่า 30 วัน ประมาณ 140 คน ซึ่งผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับการดูแลด้านสุขภาพอย่างเต็มที่ แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ หรือแพทย์พยาบาล และเครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นข้อจำกัด โดยเป้าหมาย คือ การรักษาชีวิตของผู้ต้องขังทุกคนให้ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยจะเห็นได้ว่ามีอัตราการเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงขอเรียนย้ำว่า การดูแลผู้ต้องขังให้มีสุขภาพดีเป็นมาตรฐานสากล แม้เป็นผู้กระทำความผิดก็ต้องดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชนให้ครบถ้วน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คปท.จี้ "ผบ.ตร." สั่ง "แพทย์ใหญ่" เปิดอาการ "ทักษิณ" คลายสงสัยไม่ป่วยจริง 

"ราชทัณฑ์" ชี้แจงกรณีให้ 'ทักษิณ' ออกรักษาตัว รพ.ภายนอกเกิน 30 วัน 

"ทักษิณ" ไม่เข้าเกณฑ์พักโทษ ชี้ต้องจำคุกอย่างน้อย 6 เดือนก่อน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง