คุ้มครองแรงงานไทยเขต red zone "อิสราเอลรบฮามาส" ยืดเยื้อ

ต่างประเทศ
17 ต.ค. 66
18:35
520
Logo Thai PBS
คุ้มครองแรงงานไทยเขต red zone "อิสราเอลรบฮามาส" ยืดเยื้อ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

สถานการณ์สงครามของอิสราเอล และฮามาส กลุ่มหัวรุนแรงของปาเลสไตน์ ทำให้แรงงานไทยได้รับผลกระทบ โดยถูกจับไปเป็นตัวประกันและมียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในช่วงเวลาที่ผ่านมา

หลังเกิดสงครามประเด็นแรกทุกสายตามุ่งที่การต่อสู้ ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี สงครามระหว่างทหารอิสราเอลและกลุ่มฮามาส โดยเฉพาะช่วงที่อิสราเอลอยู่ระหว่างการตอบโต้กลับกลุ่มฮามาส และความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยที่จะพาแรงงานกลับประเทศในสภาวะสงคราม

กวี จงกิจถาวร ผู้สื่อข่าวอาวุโส วิเคราะห์สาเหตุที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในสถานที่อันตราย ซึ่งเป็นพื้นที่ red zone หรือบริเวณทางตอนใต้ของอิสราเอล ติดกับฉนวนกาซาว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 อิสราเอลได้ปิดตายฉนวนกาซาไว้ จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่คนไทยถูกลูกหลงจากการโจมตีขีปนาวุธขนาดเล็กมาทางภาคใต้ของอิสราเอล หรือที่เรียกกันว่า คิบบุตซ์ (Kibbutz) ซึ่งเป็นชุมชนที่มีคนไทยจำนวนมากไปทำงาน

อิสราเอลมีความต้องการแรงงานต่างชาติ ทั้งไทย และฟิลิปปินส์ ความน่าสนใจคือ ในต่างประเทศไม่มีรายงานว่าแรงงานไทยได้รับความสูญเสียสูงสุด ทั้งๆที่ถูกจับเป็นตัวประกันจำนวน 17 คน และเสียชีวิต จำนวน 29 คน

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา แรงงานไทยยังขาดความเข้าใจถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางและฉนวนกาซา เนื่องจากแรงงานฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานในอิสราเอลมีจำนวน 30,000 และแรงงานไทยมีจำนวน 26,000 คน

มีรายงานระบุว่า ในพื้นที่ดังกล่าวมีแรงงานฟิลิปปินส์เพียง 134 คน ที่อยู่ในพื้นที่ของฉนวนกาซา หรือสามารถกล่าวได้ว่า 96% ของแรงงานฟิลิปปินส์นั้นทำงานอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ในขณะที่แรงงานไทยประมาณ 12,000 คน ทำงานในพื้นที่อันตราย เนื่องจากได้ค่าตอบแทนสูง

ผู้สื่อข่าวอาวุโส ระบุว่า ขอชื่นชมรัฐบาลไทยที่พยายามพาคนไทยกลับบ้าน ส่วนคนไทยที่ประสงค์จะอยู่ต่อ เพราะกลัวว่าจะสูญเสียรายได้ส่วนนี้ ทำให้หลายคนยังต้องทำงานท่ามกลางสภาวะสงคราม ซึ่งรัฐบาลไทยและอิสราเอลควรหารือและประเมินความร่วมมือกันใหม่ เพราะมีการเซ็นสัญญาการส่งแรงงานต่างชาติ IOM (International Organization for Migration) หรือองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน

หากย้อนอดีตพบว่า อิสราเอลไม่ต้องการแรงงานชาวปาเลสไตน์มาทำงาน ก่อนปี พ.ศ.2537 คนปาเลสไตน์เคยทำงานในคิบบุตซ์ ปัจจุบันอิสราเอลมีกฎหมายแรงงานและการป้องกันสิทธิมนุษยชน แต่บางครั้งนายจ้างอิสราเอลไม่ได้กระทำตาม จึงจำเป็นที่ไทยต้องประเมิน และทบทวนหลังจากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว

หลังจากนี้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จะอันตรายมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแรงงานไทยยังไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้ และรัฐบาลไทยจะต้องหามาตรการดูแลคนไทยที่จะไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงด้วย

กวี บอกว่า ในวันศุกร์ที่ 21 ต.ค.66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปยังประเทศซาอุดิอาราเบีย เพื่อประชุมกับผู้นำอาเซียน และกลุ่มผู้นำตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาราเบีย คูเวต บาเรน ซึ่งประเทศไทยเองก็ต้องการความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศเหล่านี้เพื่อพาคนไทยกลับบ้าน เพราะไม่สามารถเข้าถึงในบางพื้นที่ได้

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ควรปรับปรุงการคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศ ซึ่งควรจะมีวิธีการหรือระเบียบการจัดการที่ดีขึ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่ดี เนื่องจากมีแรงงานไทยเสียชีวิตมากถึง 28 คน และอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต รัฐบาลควรไตร่ตรองหาวิธีการคุ้มครองแรงงานไทยให้ดี

สำหรับแนวทางการดูแลคนไทยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง กวี บอกว่า ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ ทางอิสราเอลต้องการันตีว่าแรงงานไทยในอิสราเอลจะปลอดภัย โดยจะต้องมีสถานที่หลบภัย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มี แรงงานต้องหาที่หลบภัยเอง จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงกดดันของทางรัฐบาลไทยถึงรัฐบาลอิสราเอล

กวี ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอิสราเอลต้องการแรงงานไทยไปทำงาน เนื่องจากแรงงานจากประเทศอื่น ๆ ไม่เข้าไปทำงานแล้ว นอกจากนี้ยังไม่มีประเด็นเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ไม่มีสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ดังนั้นควรเรียกร้องให้ทางอิสราเอลและนายจ้างคุ้มครองคนไทยให้ทัดเทียมกับที่ปกป้องคนอิสราเอล

ประเด็นต่อมาคือ การเตรียมความพร้อมของแรงงานไทย ต้องหาฝึกให้แรงงานไทยหารู้จักแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อเกิดสงครามขึ้น เนื่องจากคนไทยมีข้อเสียเปรียบตรงที่ไม่สามารถสนทนาเป็นภาษาอังกฤษได้ ทำไมอาจไม่เข้าใจแนวทางที่ทางการประกาศออกมา

และประเด็นสุดท้ายคือ ประเทศไทยจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้คนไทยทำงานในบ้านเกิดของตน ได้อยู่กับครอบครัวและคนรัก เพื่อจะได้ไม่ต้องไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงต่อชีวิตเช่นนี้ จำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องคุ้มครองชีวิตคนไทย และควรสรรหางานที่เหมาะสมให้คนไทย

สำหรับฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลและคุ้มครองคนไทยในสถานการณ์นี้คือ สถานทูตไทย ซึ่งทำหน้าที่ได้ดี อาจจะมีข้อจำกัดบ้างในช่วงที่เกิดความขัดแย้ง

กวี บอกว่า สถานการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับสถานทูตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมแรงงานที่ต้องเตรียม การมากกว่านี้ เพราะในช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นมีความสับสนกันในหลายฝ่าย ทำให้การประสานความช่วยเหลือล่าช้าลงนอกจากนี้ผู้นำของประเทศไทยควรทราบข้อมูลของฝั่งตะวันออกกลางให้มากขึ้น

ปัจจุบันข้อมูลข่าวกรองของตะวันออกกลางยังไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถส่งข้อมูลถึงให้แรงงานไทยทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ต่างจากบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซียที่มีภาคประชาสังคมเข้าช่วยเหลือคนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

ด้านอินโดนีเซียสามารถเข้าไปสร้างโรงพยาบาลดูแลคนเจ็บได้ ส่วนมาเลเซียมีกลุ่มเข้าช่วยเหลือเช่นกัน โดยรัฐบาลของมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม เป็นผู้นำที่มีท่าทีที่แข็งกร้าวที่สุดต่อรัฐบาลอิสราเอล รวมถึงสนับ สนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์อีกด้วย

สุดท้ายนี้ต้องการเห็นท่าทีภาษาอังกฤษของรัฐบาลไทยและรัฐบาลอาเซียนที่เรียกว่า two state solution หรือการแก้ไขที่ทั้งรัฐบาลอิสราเอลและปาเลสไตน์อยู่ข้างกันแบบสันติสุข ไม่ใช่การต่อสู้ และการส่งแรงงานไทยไปยังประเทศอื่น ๆ ต้องเตรียมพร้อม เข้มงวดมากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง