วันที่ 2 พ.ย.2566 ครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง จ.บุรีรัมย์ นำตัวเด็กชายอายุ 13 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ส่งโรงพยาบาลห้วยราช หลังพบอาการผิดปกติ เหม่อลอย หวาดระแวง และบางครั้งคลุ้มคลั่งตะโกน ทำให้เพื่อนในห้องเรียนตกใจกลัว
จากการซักประวัติเด็กชายคนดังกล่าว ยอมรับว่า ใช้ยาเสพติดมาตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยเพื่อนรุ่นพี่ชักชวนไปมั่วสุมตามป่าอ้อยในหมู่บ้าน แต่การตรวจปัสสาวะล่าสุดไม่พบสารเสพติดในร่างกาย ส่วนอาการหลอนหวาดระแวงที่เกิดขึ้น อาจเป็นผลจากที่เคยเสพยาเสพติด
ขณะที่แม่ของเด็กชาย ให้ข้อมูลว่า ไม่เคยรู้มาก่อนว่าลูกชายเสพยาเสพติด กระทั่งทางโรงเรียนแจ้งว่าลูกชายมีอาการหลอนหวาดระแวง เมื่อสอบถามข้อมูลจึงทราบว่าเกิดจากที่เคยเสพยาเสพติด แต่ขณะนี้ลูกอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์ให้รอดูอาการที่โรงพยาบาล 7 วัน
ด้านชาวบ้านในหมู่บ้าน กล่าวว่า เมื่อช่วงที่เด็กชายคนดังกล่าวเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาก็ดูปกติดี แต่เมื่อย้ายไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาในตัวอำเภอ ไม่ค่อยเห็นออกมาสุงสิงกับใคร ส่วนใหญ่จะเก็บตัวอยู่ในบ้าน จึงไม่รู้ว่ามีประวัติเสพยาเสพติด กระทั่งทราบว่าถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
ด้านนายเสมียน เยาวลักษณ์ ผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า จากข้อมูลประวัติไม่เคยพบว่าเด็กชายคนดังกล่าวยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะเพิ่งย้ายไปเรียนใน อ.ห้วยราช แต่ขณะเรียนชั้นประถมศึกษาในหมู่บ้าน เป็นเด็กร่าเริง ไม่มีความผิดปกติอะไร โดยต้องรอสอบถามข้อมูลจากทางครอบครัวและผู้เกี่ยวข้องถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น
สำหรับในวันนี้ (3 พ.ย.2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือ ทั้งฝ่ายความมั่นคง ด้านสังคม รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เกี่ยวกับการออกประกาศกำหนดจำนวนครอบครองเม็ดยาบ้า 5 เม็ด หรือ 10 เม็ด ว่า ควรครอบครองกี่เม็ดจึงเป็นผู้เสพ และเข้ารับการบำบัดรักษา โดยเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง แต่กระทรวงมีบทบาทในการนำผู้เสพมาบำบัดรักษาและฟื้นฟู แต่กฎหมายใหม่ให้อำนาจ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้กำหนด ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาจะดูทั้งจำนวนเม็ดที่เสพ ร่วมกับพฤติกรรมของผู้เสพ หากเข้าข่ายผู้ค้าก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ว่าจะครอบครองกี่เม็ด