ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปั้นอินฟลูเอนเซอร์ท้องถิ่น รีวิวสินค้าชุมชน เปิดตลาดสินค้าไทย

เศรษฐกิจ
24 พ.ย. 66
18:22
720
Logo Thai PBS
ปั้นอินฟลูเอนเซอร์ท้องถิ่น รีวิวสินค้าชุมชน เปิดตลาดสินค้าไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตามหาอินฟลูเอนเซอร์ชุมชนรีวิวสินค้าเกษตร สนค.หวังเพิ่มรายได้ สร้างโอกาสทำเงินให้เกษตรกรไทย

การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการของกลุ่มคน Gen Y และ Gen Z ส่วนใหญ่พบว่ามักจะมีพฤติกรรมการรับชมการรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะเป็นการนำเสนอในรูปแบบการแชร์ประสบการณ์ตรงที่ได้รับจากการทดลองใช้สินค้า และบรรยายสรรพคุณอย่างละเอียด เสมือนทำการตลาดแบบ ปากต่อปาก ในลักษณะเพื่อนส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้แก่กัน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ง่ายกว่าการรับชมผ่านโฆษณาทั่วไป

สนค.ชี้การตลาด "Influencer" โตต่อเนื่อง

เว็บไซต์ด้านการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังของโลก พบว่า การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกเริ่มต้นในปี 2549 ด้วยมูลค่าตลาดเพียง 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ จนกระทั่งถึงปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 16,400 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าในปี 2566 จะเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.67 จากปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 21,100 ล้านเหรียญสหรัฐ

การโตของตลาดอินฟลูเอนเซอร์มีความสำคัญต่อการทำการตลาดสินค้าและบริการในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ขณะที่อิทธิพลดังกล่าวขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดตาม

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าหลังจากการประชุมมอบนโยบายพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศและสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ทั้ง 58 แห่งทั่วโลก มีเป้าหมายผลักดันให้ทูตพาณิชย์เป็นทัพหน้าร่วมกับพาณิชย์จังหวัดขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศ

โดยเฉพาะการค้นหาอินฟลูเอนเซอร์มารีวิวสินค้าและบริการของไทยผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางให้คนรู้จักและตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของไทยมากขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

อุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่มใช้ Influencerมากสุด

การแบ่งอินฟลูเอนเซอร์เป็น 4 ประเภท ได้แก่ นาโนอินฟลูเอนเซอร์ (Nano Influencer) มีผู้ติดตาม 1,000 – 10,000 คน ,ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) มีผู้ติดตาม 10,000 – 100,000 คน , แมคโครอินฟลูเอนเซอร์ (Macro Influencer) มีผู้ติดตาม 100,000 – 1,000,000 คน และ เมกะ/เซเลบริตี้อินฟลูเอนเซอร์ (Mega/ Celebrity Influencer) มีผู้ติดตาม มากกว่า 1,000,000 คนขึ้นไป ซึ่งหากยอดผู้ติดตามมากก็ยิ่งมีอิทธิพลต่อ

อุตสาหกรรมที่มีการใช้การตลาดอินฟลูเอนเซอร์มากที่สุดของไทยในปี 2565 คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็น แฟชั่นและความงาม เฟซบุ๊ก เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุด รองลงมา อินสตาแกรม

นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า บรรดาแพลตฟอร์ม ติ๊กต๊อกเป็นแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ประเภท Nano Influencer และ Micro Influencer

แสดงให้เห็นว่าการตลาดอินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยอย่างมาก ขณะเดียวกันการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในการส่งเสริมการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อินฟลูเอนเซอร์จึงเป็นเครื่องมือการตลาดที่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งใช้ประโยชน์

ตามหา “Influencer”หนุนชุมชนท้องถิ่น

เพื่อเป็นการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายยิ่งขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดอาจร่วมกันพิจารณาผลักดันอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ประจำชุมชนที่มีความรู้เชิงลึก และหนุนให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมเห็นประโยชน์ร่วมกันในการร่วมมือกันผลักดันสินค้าของตนให้เป็นที่รู้จักได้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก และสามารถสั่งซื้อสินค้าได้อย่างทันท่วงที

นายพูนพงษ์ กล่าวย้ำว่า การใช้อินฟลูเอนเซอร์รีวิวสินค้าและบริการผ่านโซเชียลมีเดียอาจไม่ใช่การตลาดรูปแบบใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ภาคเกษตรกรรมของไทยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างการรับรู้สินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งการใช้เครื่องมือการตลาดที่สอดคล้องกับกระแสนิยมและกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยผลักดันให้สินค้าเกษตรไทยมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ และเป็นที่รู้จักได้รวดเร็วขึ้น

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐต้องผลักดันและหนุนการคัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ประจำชุมชนและสร้างแรงจูงใจให้กับอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ในการเรียนรู้ภาคเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์การเกษตรของไทยเชิงลึกมากขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนในการประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรไทย

และช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้แก่อินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ที่ใส่ใจสินค้าเกษตรและของดีประจำชุมชนซึ่งอาจจะต่อยอดไปสู่การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ระดับประเทศจะเป็นโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

อ่านข่าวอื่น:

จ่ายไร่ละ 1,000 ทั่วปท. 28 พ.ย .นี้ โรงสีเฮ รัฐชดเชยดอกเบี้ยละ 4%

เงินสะพัด 10,000 ล้าน คนไทยไม่จนแห่เที่ยว "ลอยกระทง" ปี 66 คึกคัก

"คาเฟ-ขนมหวาน-ลูกค้า" สะเทือนถ้วนหน้า น้ำตาลทรายขึ้น 2 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง