ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

69 ปี ส.สันคะยอม 2 สืบสานลิเกพื้นเมืองล้านนา สู่ทายาทรุ่นที่3

ภูมิภาค
25 ม.ค. 67
13:48
332
Logo Thai PBS
69 ปี ส.สันคะยอม 2 สืบสานลิเกพื้นเมืองล้านนา สู่ทายาทรุ่นที่3
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แม้ลิเกจะเป็นศิลปะการแสดงที่คลายความนิยมลง แต่ที่ จ.เชียงใหม่ ยังมีคณะลิเกที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น มีอายุยาวนานกว่า 69 ปี และคงเอกลักษณ์การเป็นลิเกพื้นเมืองล้านนา

ตัวละครที่แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างงดงาม ร้องบทลิเกอย่างไพเราะ และการสวมบทบาทอย่างสมจริงเป็น พระเอก, นางเอก, ตัวโกง, ตัวตลก และนางอิจฉา ตรึงผู้ชมให้เกิดความรู้สึกร่วมตลอดเวลาหลายชั่วโมงของการแสดงตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงคืน

คณะลิเก ส.สันคะยอม 2 เป็นคณะลิเกพื้นเมืองล้านนาจาก อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2498 ในยุคที่คณะลิเกพื้นเมืองล้านนาเฟื่องฟู

นิเวศน์ ชุมภูศรี คือ หัวหน้า คณะ ส.สันคะยอม 2 ผู้รับไม้ต่อจากบิดา ทองสุข ชุมภูศรี ผู้ก่อตั้ง คณะ ส.สันคะยอม 2

นิเวศน์ บอกว่า ลิเกล้านนาต่างจากลิเกทั่วไป ตรงที่ใช้บทเจรจาเป็นภาษาพื้นเมือง และใช้เครื่องดนตรีแบบเครื่อง 3 หรือเครื่อง 4 น้อยกว่าลิเกภาคกลางที่จะใช้ลงเครื่อง 8 หรือ เครื่อง 12 เพราะมีเครื่องดนตรีน้อยชิ้นเพียง ฉิ่ง, ฉาบ, กลอง และ ระนาด ผู้ตีระนาดเอก จึงต้องเลือกมือระนาดฝีมือดีมานำวง

ส่วนเรื่องที่นำมาเล่น ส่วนใหญ่นำมาจากชาดก หรือ เรื่องเล่าในคัมภีร์ใบลาน ดัดแปลงให้มีความร่วมสมัย และคงเอกลักษณ์ความเป็นลิเกล้านนา พร้อมพัฒนาการแสดงให้ถูกใจผู้ชม และสร้างทายาทผู้สืบทอดศิลปะแขนงนี้

ตอนนี้มีลูกสาวกับลูกชายเป็นผู้สืบทอด ลูกสาวเป็นนางเอก นางโกง ภรรยาก็แสดงเป็นยาย เป็นแม่ ส่วนลูกชายก็คุมเครื่องเสียง ทดแทนพ่อ อยากให้ช่วยสนับสนุนศิลปะล้านของเรา ไม่ให้หายไป เพราะปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่หาน้อยมากที่จะเข้ามาเรียนรู้ศิลปะล้านนา และเข้าใจในวัฒนธรรมของเรา

ฐิตาภรณ์ ชุมภูสี ลูกสาวของนิเวศน์ ชุมภูศรี ผู้รับบทบาท นางโกง คือ ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เติบโตมากับโรงลิเก เรียนรู้การร้องและการแสดงมาตั้งแต่เด็ก แม้จะจบการศึกษาจากคณะเทคนิคการแพทย์ และมีงานประจำ แต่เมื่อมีโอกาส ฐิตาภรณ์ ก็จะร่วมแสดงด้วย

ฐิตาภรณ์เล่าว่า เอกลักษณ์ของลิเกล้านนา คือ บทเจรจาที่ใช้ภาษาเหนือ ใช้มุกตลกที่คนในท้องถิ่นเข้าใจ และการนำเพลงพื้นบ้านล้านนามาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างความบันเทิงแก่ผู้ชม เช่น การจ๊อย และ การซอพื้นเมือง

ส่วนตัวเห็นว่าเป็นการแสดงที่ค่อนข้างยากต้องใช้ประสบการณ์ สังเกต และลงมือทำ ค่อยๆเรียนรู้ปรับปรุงนำส่วนที่ดีมาปรับใช้ และ ต้องมีการพัฒนาตามยุคสมัยด้วย

คนดูจะชอบความสนุกสนาน ความตลก ความบันเทิง ไฟแสงสี ชุดการแสดง การแต่งกาย รวมทั้งการขับร้องการแสดงที่เน้นความบันเทิงเหมือนกับว่า เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ เพราะลิเกล้านนา จะเห็นในงานปอยหลวง หรืองานฉลองที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ภาคภูมิใจที่ได้สืบสานศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ให้คงอยู่ต่อไป

ลิเกพื้นเมืองล้านนา เกิดขึ้นเมื่อครั้งเจ้าดารารัศมี พระราชชายา เสด็จกลับนครเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ.2457 ก่อนจะรับครูดนตรีและนาฏศิลป์ไทย มาสอนดนตรีไทย ฟ้อนรำ ละคร โขน รวมถึงลิเก ให้เจ้านายฝ่ายเหนือและข้าราชบริพาร เพื่อจัดแสดงภายในพระตำหนัก และ บูชาเสาอินทขีล วัดเจดีย์หลวง

ภายหลังจึงมีการถ่ายทอดลิเกเพื่อแสดงเป็นอาชีพ มีการตั้งคณะลิเกพื้นเมืองล้านนา กว่า 20 คณะ แม้ในช่วงเวลาต่อมาหลายคณะจะยุติการแสดง แต่คณะ ส.สันคะยอม 2 ก็ยังคงสืบทอดลิเกพื้นเมืองล้านนามาจนถึงปัจจุบัน

พยุงศักดิ์ ศรีวิชัย ผู้สื่อข่าวอาวุโสไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคเหนือ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง