เปิดข้อสังเกต "กางเกงช้างไทย" - ผู้ประกอบการยันยอดสั่งเพิ่ม

ภูมิภาค
6 ก.พ. 67
19:55
3,790
Logo Thai PBS
เปิดข้อสังเกต "กางเกงช้างไทย" - ผู้ประกอบการยันยอดสั่งเพิ่ม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความนิยมสวมใส่กางเกงลายช้าง ที่กำลังเป็นกระแสฟีเวอร์ แต่กลับถูกต่างชาติทำเลียนแบบนำเข้ามาขายในราคาถูกกว่า แม้จะถูกแย่งตลาดไปบ้าง แต่โรงงานผลิตในไทยก็ไม่หวั่นวิตก เนื่องจากมั่นใจในคุณภาพ แถมยังมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น พร้อมเปิด 4 ข้อแตกต่าง

วันนี้ (6 ก.พ.2567) พนักงานกว่าหนึ่งร้อยคน ของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าชินรดาการ์เมนท์ ใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ต้องเร่งผลิตเสื้อและกางเกงลายช้าง ให้เพียงพอกับจำนวนความต้องการของตลาด หลังจากมียอดสั่งซื้อทั้งระบบออนไซด์และออนไลน์ เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นจำนวนมาก หลังจากกางเกงช้าง กลายเป็นกระแสแฟชันที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง เพราะหาซื้อง่าย ใส่สบาย ทำให้ได้รับความนิยมทั้งจากคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

โดยกางเกงลายช้าง ทำจากผ้าพิมพ์ลายช้างหลากหลายรูปแบบ ผสมผสานระหว่างลายช้างกับลายไทยอย่างลงตัว และมีการปรับดีไซน์เป็นกางเกงขาสั้น ขายาว กระโปรง และเสื้อ ตอบโจทย์ผู้สวมใส่มากยิ่งขึ้น

กิ่งกาญจน์ สมร กรรมการผู้จัดการโรงงานชินรดาการ์เม้นท์ ระบุว่าจากกระแสนิยมดังกล่าว ทำให้มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่าเท่าตัว จึงส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยปกติจะจ้างแรงงานซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้ว เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้ และเน้นคุณภาพ สำหรับกางเกงที่ผลิตมีข้อแตกต่างจากกางเกงช้างที่นำเข้าจากประเทศจีน โดยมีข้อสังเกตุ ประกอบด้วย

1.เนื้อผ้าที่ผลิตจะใช้ผ้าสองชนิด คือ ผ้าสปันไทย และผ้าไหมอิตาลี ซึ่งเนื้อผ้าบางเบา สวมใส่เย็นสบาย ไม่ฉีกขาดง่าย
2.การตัดเย็บแบบต่อตะเข็บถึงสามตะเข็บเพื่อให้เกิดความคงทนไม่แตกเป้า
3.ความประณีตในการตัดเย็บที่มีรอยต่อของลวดลายช้างและลายไทยที่ตรงกันซึ่งลักษณะของช้างจะยืนตรง
4.มีป้ายภาษาอังกฤษบอกคุณภาพผ้า แนะนำการซัก แหล่งผลิตในประเทศ

จึงไม่กังวลเรื่องการแย่งตลาดจากสินค้าจีน เนื่องจากมั่นใจในคุณภาพของสินค้า แต่ห่วงเรื่องภาพลักษณ์มากกว่าเพราะลูกค้าบางรายยังแยกแยะไม่ออกระหว่างของไทยกับของจีน สำหรับลูกค้าที่มีการสั่งซื้อร้อยละ 90 เป็นการสั่งซื้อทางออนไลน์ อาทิ ประเทศแถบยุโรป อเมริกา แคนาดา ออสเตเรีย ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน

ส่วนเรื่องการจดลิขสิทธิ์นั้นกรรมการผู้จัดการโรงงานชินรดาการ์เม้นท์ บอกว่าที่ผ่านมายังไม่มีการจดลิขสิทธิ์ และจะไม่มีการจดลิขสิทธิ์เนื่องจากเป็นผู้ผลิตส่งให้กับร้านค้านำไปขายต่อเพราะจะเป็นการปิดช่องทางการค้าคนอื่น

ส่วนที่บริเวณด่านพรมแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นอีกด่านหนึ่งซึ่งมีพรมแดนใกลกับประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งซึ่งมีการนำเข้ากางเกงรูปช้างผ่านแดนเข้ามาในประเทศไทย จากการตรวจสอบพบว่าร้านค้ามีการนำกางเกงช้างมาวางขายเช่นกัน มีราคาตัวละ 100-120 บาท จากการสอบถามแม่ค้าบอกว่ากางเกงที่ขายมีทั้งของไทยและที่นำเข้ามาจากประเทศจีน โดยรับต่อมาจากพ่อค้ารายใหญ่อีกทอดหนึ่ง

ขณะที่ทางด่านศุลกากรแม่สาย จ.เชียงราย ยืนยันว่าด่านแม่สายไม่ได้ทำการค้ากับประเทศจีนโดยตรง แต่ทำการค้ากับประเทศเมียนมาเป็นหลัก โดยมีมูลค่าการค้าปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นสินค้าส่งออกมากกว่าสินค้านำเข้า ประกอบกับช่วงโควิด-19 ชายแดนจีนที่ติดกับประเทศเมียนมาก็ปิดด่านไม่ได้มีการขนสินค้าผ่านแดน ทำให้สินค้าจีนไม่ได้มีผ่านชายแดนแม่สาย

ส่วนที่มีสินค้าจีนรวมถึงกางเกงรูปช้าง ผู้ประกอบการมีการสั่งจากจีนเข้ามาจำหน่าย โดยซื้อมาจากผู้ประกอบการค้าสินค้าจีนอีกทอดหนึ่ง ส่วนมากจะนำเข้าผ่านทางชายแดนประเทศลาวหรือด่านพรมแดนด้าน อ.เชียงของ เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่เพื่อบริการให้กับนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวที่แม่สายเท่านั้น

อ่านข่าว : ดรามา! กางเกงช้าง เมื่อจีนผลิตตีตลาดไทย

ยอดขายเสื้อผ้าลาย "โคราชโมโนแกรม" พุ่งรับตรุษจีน

เสื้อและกางเกงที่มีลวดลายของแมว ภายใต้ลายผ้า "โคราชโมโนแกรม" โดยเฉพาะธีมสีแดง เข้ากับช่วงเทศกาลตรุษจีน ช่วงนี้ขายดีเป็นพิเศษ หลังจากเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เปิดตัวกางเกงแมว เพื่อหวังผลักดันให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์เมืองโคราช

แม่ค้าชาวพิมาย บอกว่า หลังจากนำกางเกงลายแมว มาวางจำหน่าย ขายดีมาก จึงคิดออกแบบเสื้อแมวลายปราสาทหิน ซึ่งเป็นเสื้อสีแดง และสีดำเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น

ขณะที่นายภพ ไตรบัญญัติกุล กรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ฝ่ายธุรกิจต่างประเทศและการลงทุน เจ้าของไอเดียโครงการประกวดลาย "โคราชโมโนแกรม" ระบุว่า จดลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันการแอบอ้าง โดยให้การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ไว้

แต่การนำไปใช้ เปิดให้ทุกคนสามารถโหลดลายนี้ไปใช้ทำสินค้าได้โดยเสรี โดยไม่หวงลิขสิทธิ์ เพราะในยุคการค้าเสรี สินค้าชนิดใด มีคุณภาพดี เด่น และดัง ก็ย่อมเป็นเป้าหมายของผู้คนที่จะนำไปลอกเลียนแบบเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ได้ไปลดทอนคุณค่าสินค้าของแท้ได้

เช่นเดียวกับโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าชินรดาการ์เมนท์ ในอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ กรรมการผู้จัดการระบุว่า สินค้ากางเกงลายช้าง ทำจากผ้าพิมพ์ลายช้างหลากหลายรูปแบบ ผสมผสานระหว่างลายช้างกับลายไทย ไม่ได้คิดที่จะจดลิขสิทธิ์ เพราะไม่ต้องการปิดช่องทางการค้าคนอื่น ที่ผ่านมาโรงงานผลิตกางเกงลายช้างมา11ปี แต่ก็ไม่ใช่รายแรก ๆ เช่นกัน

แนะผู้ประกอบการจดลิขสิทธิ์ ปกป้องผลประโยชน์ทางการค้า

ทักษอร สมบูรณ์ทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุว่า กรณีดังกล่าวยังไม่สามารถเอาผิดสินค้านำเข้าได้ เพราะต้องพิสูจน์ว่าสินค้าดังกล่าว ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้ประกอบการไทยหรือไม่ และเจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องร้องเรียนเพื่อดำเนินคดี ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีผู้ประกอบการรายใดร้องเรียน ทั้งกางเกงลายช้างและลายแมว

ขอให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการจดลิขสิทธิ์เพื่อปกป้องสิทธิทางการค้า บุคคลอื่นจะนำลวดลายดังกล่าวไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ได้

ส่วนการคุ้มครอง จะคุ้มครองเฉพาะลายที่จดลิขสิทธิไว้เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการมาจดลิขสิทธิ์ภาพลายช้างเพียง 10 กว่าราย และลายแมวเพียง 1 ราย เท่านั้น

จากการลงพื้นที่ของกรมฯ เพื่อตรวจสอบการจำหน่ายกางเกงช้าง ย่านการค้าสำคัญ ยืนยันว่ากางเกงช้างไทยมีคุณภาพ ทั้งเรื่องการตัดเย็บ ลวดลายที่ละเอียดกว่า แต่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ซื้อมากขึ้น ผู้ประกอบการควรเพิ่มข้อมูลอื่นๆ เช่น ตราสินค้า ผู้ผลิต แหล่งผลิตที่ชัดเจน นอกเหนือจากระบุว่าเพียง Made in Thailand เท่านั้น

ขณะที่ทีมข่าว สำรวจย่านการค้าและแหล่งท่องเที่ยวเยาวราช พบการจำหน่ายกางเกงช้างและกางเกงแมวนำเข้าจากจีน มีป้ายบอกชัดเจนว่า Made in China ซึ่งมีทั้งแบบแม่ค้าเดินเร่ขาย และขายภายในห้าง โดยกางเกงขาสั้นราคาปลีกขายตัวละ 100 บาท และกางเกงขายาว ตัวละ 120 บาท ส่วนของไทยไม่พบว่าการจำหน่าย

เทียบกางเกงช้าง ไทย VS จีน

ก็มีวิธีสังเกต

1. กางเกงช้างไทย จะเป็น "ลายช้างยืน" ขาตรง สมส่วน เรียงต่อกันเป็นแถวตรง / ช้างจีน คว่ำบ้าง หงายบ้าง นอนบ้าง

2. เนื้อผ้าต่างกัน ของไทย มี 2 เนื้อ คือเนื้อสปัน หรือเรยอน พลิ้ว เบา กับผ้าไหมอิตาลีอย่างดี /ส่วนจีน จะเป็นผ้ายืด ผ้าหนังไก่ นุ่มๆ

3. การตัดเย็บต่างกัน ของไทย เดินตะเข็บคู่ ทนทาน / ของจีน ตะเข็บเดี่ยว ใช้งานต้องเบามือ **แต่ในมือดิชั้น ไม่ต่างกันมาก ตีตะเข็บจากโรงงาน คล้ายๆกัน

4. เรื่องคุณภาพ ให้คุณผู้ชมตัดสินใจเอง แต่ราคา ของไทย 100-200 บาท / ของจีน ราคาส่ง 55-75 บาท

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง