ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"วีรบุรุษยุคใหม่" เหตุไฉน "ปินอย" ถึงชอบทำงานต่างประเทศ ?

สังคม
5 มี.ค. 67
19:25
648
Logo Thai PBS
"วีรบุรุษยุคใหม่" เหตุไฉน "ปินอย" ถึงชอบทำงานต่างประเทศ ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระแสข่าวการทะเลาะวิวาทกันของกะเทยไทยและฟิลิปปินส์ ทำให้เกิดคำถามในสังคมว่าการเข้ามาขายแรงงานของชาวปินอยนั้น มีสาเหตุจากอะไร พบว่าการทำงานต่างประเทศคือ "วัฒนธรรม" ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ส่งเสริม และยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษยุคใหม่ของประเทศ

ในปี 2565 สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ (Philippine Statistics Authority : PSA) เปิดเผยข้อมูลว่า ปี 2565 มีแรงงานข้ามชาติฟิลิปปินส์ (Overseas Filippino Workers : OFW) มากถึง 1.96 ล้านคน จำนวนนี้ถือว่ามากขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 7.6 (1.83 ล้านคน) 

ซึ่งในจำนวน 1.96 ล้านคน มีแรงงานข้ามชาติฟิลิปปินส์ที่เซ็นสัญญากับนายจ้าง (Overseas Contract Workers : OCW) จำนวน 1.94 ล้านคน และแรงงานที่ไม่มีวีซาหรือใบอนุญาตทำงานกว่า 26,000 คน ซึ่งเป็นผู้ลับลอกทำงานที่เข้าประเทศต่างๆ ในคราบนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือน นักเรียน หรือวีซาประเภทอื่น   

ในจำนวนแรงงานปินอยส์ที่เดินทางออกนอกฟิลิปปินส์ เป็นหญิงมากถึงร้อยละ 57.8 และในจำนวนนี้กลุ่มอายุที่มากที่สุดคือ 30-34 ปี ส่วนอาชีพที่แรงงานฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ทำคือ อาชีพรับจ้าง เช่น แม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด พนักงานส่งสินค้า คนงานภาคเกษตรกรรม จุดมุ่งหมายส่วนใหญ่ทำงานในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกง คูเวต สิงคโปร์ และ กาตาร์ 

วีรบุรุษยุคใหม่ของฟิลิปปินส์

"Bayani" เป็นภาษาตากาล็อกที่แปลว่า "วีรบุรุษ" คือคนที่มีความกล้าหาญ ถ่อมตน และเสียสละ ซึ่งเป็น ชาวปินอยมองว่า แรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์ คือ ผู้เสียสละที่ยอมออกจากบ้านไปทำงานในต่างแดน เพื่อทำให้ครอบครัวของตนสุขสบาย ถึงขนาดที่ อดีต ปธน.คอราซอน อากีโน ได้บัญญัติวลี "Bagong-Bayani" ในปี 1988 ยกย่องให้เหล่า OFW เป็นวีรบุรุษยุคใหม่ของประเทศ เพราะพวกเขาไม่เพียงแต่ส่งเสริมเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ผ่าน "การโอนเงิน" เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ที่มีความเสียสละอีกด้วยเพราะ OFW เหล่านี้ต้องอดทนต่ออาการคิดถึงบ้าน

นับเป็นการเสียสละความสุขส่วนตัว ที่ต้องยอมทำงานในสภาพการทำงานที่เลวร้าย เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวของพวกเขาที่บ้าน

ข้อมูลจากธนาคารกลางฟิลิปปินส์ในเดือน ธ.ค.2565 เปิดเผยว่า ค่าจ้างที่ OFW ส่งกลับมายังครอบครัวมีมากถึง 36,140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 หรือ 34,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากปี 2564 

นาย Michael L. Ricafort หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Rizal Commercial Banking Corp. กล่าวว่า โดยปกติแล้วการโอนเงินจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุด สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เหล่าวีรบุรุษไกลบ้าน ส่งเงินกลับบ้านมากขึ้นเพื่อช่วยครอบครัวรับมือกับราคาสินค้าที่มีสูง 

การโอนเงินกลับบ้านของ OFW เป็นเหมือนไฟส่องสว่างสำหรับเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ในแง่ของการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค คิดเป็นสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละ 75 ของเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตเร็วขึ้น

ข้อมูลของธนาคารโลกคาดการณ์ว่ายอดเงินส่งกลับประเทศของแรงงานข้ามชาติฟิลิปปินส์ในปี 2566 จะมีมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง "ฟิลิปปินส์" เป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ของโลก ที่ส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวจำนวนมาก รองจาก อินเดีย เม็กซิโก และ จีน นอกจากนี้ธนาคารโลกยังคาดการณ์ว่าแนวโน้มกระแสเงินไหลเข้าประเทศผ่าน OFW ยังคงเติบโตอย่างเนื่องในทศวรรษหน้า

ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ที่เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากแรงงานย้ายถิ่นฐานมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

อ่าน : "กะเทยไทย" รวมตัวซอยสุขุมวิท 11 หลังเหตุถูกกะเทยฟิลิปปินส์รุมทำร้าย

วัฒนธรรม ปินอย โก อินเตอร์

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 การเป็นประเทศใต้อาณานิคมของสเปน เครือรัฐอเมริกัน และญี่ปุ่นนั้น ทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อการทำงาน นับเป็นสิ่งสำคัญของประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ จากนั้นการส่งออกแรงงานปินอยส์ออกนอกประเทศก็ดำเนินเรื่อยยาวมาจนศตวรรษที่ 20 ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศอันดับ 3 ที่ส่งแรงงานออกไปทำงานมากที่สุดในโลก ตามข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดยอาชีพ "แม่บ้าน" เป็นอาชีพที่ชาวฟิลิปปินส์ทำงานมากที่สุด 

งานวิจัยเรื่อง "ปัจจัยที่มีผลต่อการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ของชาวฟิลิปปินส์" โดย ศันสนีย์ เจ๊ะเลาะ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิลล่า พงศ์ยี่หล้า พบว่าการออกไปทำงานต่างประเทศของคนฟิลิปปินส์ "ถือเป็นวัฒนธรรม" เนื่องจากประวัติศาสตร์ของประเทศ อีกทั้งทางรัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายส่งเสริมแรงงานออกไปทำงานต่างประเทศ จัดตั้งหน่วยงาน ตั้งกองทุน เปิดศูนย์ให้ความช่วยเหลือ เรียกว่าหากมองในแง่ของระบบการส่งแรงงานไปต่างประเทศ "ฟิลิปปินส์" ถือเป็นประเทศที่สามารถใช้เป็นต้นแบบได้อีกประเทศหนึ่ง

การส่งเสริมของรัฐบาลฟิลิปปินส์ทำให้แรงงานของประเทศสามารถออกไปทำงานที่ไหนก็ได้จนเกิดเป็นวัฒนธรรม เมื่อเด็กฟิลิปปินส์โตขึ้นมา ก็อยากทำงานในต่างประเทศ อยากเป็นวีรบุรุษของประเทศที่ได้ส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวและเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ส่วนการมาทำงานในเมืองไทยก็เพราะวัฒนธรรมของคนไทยกับคนฟิลิปปินส์นั้นคล้ายๆ กัน

อ่าน : สอบปม "กะเทยฟิลิปปินส์" อยู่ไทยผิด กม. บางคนหนีกลับประเทศ

"ค่าครองชีพ" ดึงดูดฟิลิปปินส์มาไทย

"ค่าครองชีพ" คือปัจจัยอันดับ 1 ที่ดึงดูดให้แรงงานข้ามชาติฟิลิปปินส์เข้ามาทำงานในประเทศไทย เนื่องจากค่าครองชีพในฟิลิปปินส์สูงกว่าประเทศไทย แต่รายได้น้อย จึงไม่เพียงพอต่อการครองชีพ เป็นเหตุผลหนึ่งให้เดินทางออกมาทำงานนอกประเทศ ชาวฟิลิปปินส์หลายคนที่เข้ามาทำงานบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เงินเดือนที่ได้จากการทำงานที่ไทยกับฟิลิปปินส์จะไม่ต่างกันนัก แต่ค่าครองชีพของไทยที่ถูกกว่า ทำให้พวกเขามีเงินเก็บมากพอที่จะส่งกลับบ้านเกิดได้ และยังมากพอที่ทำให้สามารถจัดสรรชีวิตอยู่อย่างสบาย

แม้อาชีพ "แม่บ้าน" จะเป็นอาชีพหลักที่คนฟิลิปปินส์ทำงาน แต่ในประเทศไทยพวกเขาเลือกอาชีพ "ครู" เพราะความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่มีมาก และวัฒนธรรมที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับของไทย ทำให้แรงงานปินอยเป็นตัวเลือกที่ดีของนายจ้างไทยเช่นกัน 

ด้านมืดที่แรงงานฟิลิปปินส์ต้องเจอ

ข้อมูลจาก สถาบันวิจัย Social Weather Stations หรือ SWS เปิดเผยว่า หากฟิลิปปินส์ยังมีคอนเซปต์พึ่งพาการส่งเงินของ OFW จะเพิ่มแรงกดดันมหาศาลให้เหล่าแรงงานจำนวนมาก แทนที่รัฐบาลจะมุ่งมั่นในการส่งออกแรงงานไปต่างประเทศ แต่ควรหามาตรการปกป้องแรงงานในต่างประเทศมากกว่า  

ปัจจุบัน ยังมีแรงงานฟิลิปปินส์จำนวนมากที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความอยุติธรรมหลายอย่างจากนายจ้างไม่เป็นธรรม การทำงานที่หนักเกินข้อตกลง การได้รับค่าจ้างต่ำ ถูกทารุณกรรม ถูกข่มขืน และที่แย่กว่านั้นคือถูกฆาตกรรม

รัฐบาลต้องยุติโครงการส่งออกแรงงาน และจัดให้มีการประกันรายได้กับการสร้างงานในประเทศมากกว่า เพื่อที่วีรบุรุษของเราจะได้เป็นวีรบุรุษของฟิลิปปินส์ยุคใหม่ที่แท้จริง 

ที่มา : Harvard International Review, สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา
ธันวาคม 2566, สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์, บทสรุปโครงการให้ความรู้แรงงานย้ายถิ่นและการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย, สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) 

อ่าน : "สุขุมวิท 11" ย่านธุรกิจ - ที่เที่ยวฮิตชาวต่างชาติ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง