ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ทวงคืนชายหาด” ทั่วประเทศ ต้องเปิดเผย “ข้อมูลระวางที่ดิน”

สิ่งแวดล้อม
7 มี.ค. 67
11:09
623
Logo Thai PBS
“ทวงคืนชายหาด” ทั่วประเทศ ต้องเปิดเผย “ข้อมูลระวางที่ดิน”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“โดยหลักการพื้นฐาน “ชายหาด” ต้องเป็นหาดสาธารณะ และต้องถูกดูแลรักษาในสถานะที่เป็นสมบัติส่วนรวมให้ได้ แต่ชายหาดจะเป็นพื้นที่สาธารณะได้จริง ก็ต้องทำให้คนในท้องถิ่นได้รับสิทธิในการเข้าถึงชายหาดได้ง่าย แต่ปัจจุบัน แค่จะหาทางลงไปที่ชายหาด ยังไม่มีทางสาธารณะที่จะเดินลงหาดได้ นอกจากต้องผ่านที่ดินของเอกชน”

“เมื่อคนทั่วไปเข้าถึงชายหาดไม่ได้ จึงตีความได้ว่า ชายหาดมีเจ้าของ”

ธนู แนบเนียร ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียมในบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันมาอย่างยาวนาน กล่าวถึงเหตุการณ์ชายชาวต่างชาติทำร้ายแพทย์หญิงคนหนึ่ง เพื่อขับไล่ออกจากพื้นที่หน้าวิลล่าหรู บริเวณหาดยามู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ว่า เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็น ปัญหาที่หมักหมมอย่างยาวนาน ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมด หรือ อาจรวมไปถึงพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยและพื้นที่เกาะต่าง ๆ ด้วย นั่นคือ ชุมชนท้องถิ่น หรือแม้แต่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ชายหาดได้จริง ถึงแม้ว่า โดยสถานะที่แท้จริงตามกฎหมายแล้ว ชายหาดจะยังเป็นที่สาธารณะอยู่ก็ตาม

“จริง ๆ แล้ว อาจไม่มีเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินฉบับไหน ที่เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน กล้าออกครอบคลุมไปถึงชายหาดหรอก แต่ถึงแม้ไม่มีเอกสารสิทธิที่ชายหาดโดยตรง นายทุนที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินติดชายหาด หรือบางฉบับก็อ้างว่าติดทะเล เลยอ้างสิทธิเลยไปถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่ชายหาดด้วย เขาทำเช่นนี้ได้ เพราะหน่วยงานของรัฐ ไม่เคยเปิดเผย ระวางแผนที่ต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส เมื่อไม่มีใครเห็นแผนที่ของรัฐ ก็ช่วยตรวจสอบไม่ได้ ความโปร่งใสก็ไม่เกิด คนที่ได้ประโยชน์มาตลอดหลายสิบปี จึงเป็นเจ้าของที่ดินหน้าหาดเหล่านั้น”

ธนู แนบเนียร ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR)

ธนู แนบเนียร ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR)

ธนู แนบเนียร ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR)

“ได้ยินมานานแล้ว ที่รัฐประกาศว่าจะทำระบบแผนที่เดียวที่ใช้ร่วมกันทุกหน่วยงาน (one map) แต่ผ่านมา 7-8 รัฐบาล ก็ยังไม่เห็นรัฐบาลไหนทำสำเร็จสักที ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามีปัญหาอะไร หรือว่าพอทำไปแล้ว จะมีข้อมูลการถือครองที่ดินแปลกๆถูกเปิดเผยออกมา”

ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน (ARR) ย้ำว่า ปัญหาการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิโดยมิชอบในพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เกิดขึ้นด้วยวิธีการแบบเดิมๆที่ใช้มาตลอด เช่น สค.1 บิน หรือ นส.3 บวม ทำให้มีที่ดินที่ควรเป็นที่สาธารณะประโยชน์จำนวนมากหลุดไปอยู่ในมือของเอกชน

ซึ่งส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นนายทุนรายใหญ่ ซึ่งมันเกิดขึ้นได้เพราะระบบของรัฐมีจุดอ่อน คือ ระบบฐานข้อมูลที่ดิน ถูกเก็บไว้ให้ดูได้เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น

“จุดอ่อนสำคัญ คือ รัฐไม่เปิดเผยข้อมูลระวางที่ดิน เป็นข้อมูลที่มีแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้นที่เข้าไปดูได้ และแต่ละหน่วยงานก็มีฐานข้อมูลของตนเอง เช่น กระทรวงทรัพยากรฯดูและกรมอุทยานฯ, กระทรวงมหาดไทย ดูแลกรมที่ดิน, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลสำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.), กองทัพ ดูแล กรมแผนที่ทหาร จึงทำให้ใช้คนละฐานข้อมูลกัน”

ในขณะที่ประชาชน หรือ แม้แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลับไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องในการออกเอกสารสิทธิที่ดินได้ มันก็ทำให้มีเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบ เกิดขึ้นเต็มไปหมด” ธนู อธิบายให้เห็นถึงระบบป่าไม้ที่ดินในประเทศไทย ที่ถูกผูกขาดการรับรู้ข้อมูลโดยหน่วยงานรัฐเท่านั้น

สำหรับวิธีการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิว่า ถูกออกโดยชอบ(ถูกต้อง)หรือไม่ ที่ผ่านมาจะต้องตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ อุทยาน หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน  โดยหนึ่งในวิธีการตรวจสอบ จะต้องดูว่า เอกสารสิทธิที่ถูกตรวจสอบได้มาจากเอกสาร สค.1 ที่ออกให้ในปีใด เพื่อย้อนกลับไปดูภาพถ่ายทางอากาศในช่วงเวลานั้น

หรือหลังจากนั้น ว่ามีการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนที่จะได้รับเอกสารสิทธิจริงหรือไม่ หากไม่พบการครอบครองทำประโยชน์มาก่อนเลย ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่า ที่ดินแปลงดังกล่าว ได้เอกสารสิทธิมาโดยมิชอบ ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะดีเอสไอ ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากชุมชนพื้นเมือง สามารถตรวจสอบพบการออกเอกสารสิทธิมิชอบในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเป็นจำนวนมาก

แม้จะมีการตรวจสอบพบมาตลอด แต่เห็นได้ชัดว่า กระบวนการตรวจสอบที่ทำได้จริง ยังคงต้องอาศัยกลไกของหน่วยงานรัฐเท่านั้น หรือ ความหมายอีกนัยหนึ่ง คือ ต้องรอให้เกิดความเสียหายขึ้นไปแล้ว รอให้เกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าของเอกสารสิทธิกับชุมชน หรือรอให้มีการร้องเรียนขอให้ตรวจสอบเกิดขึ้นเท่านั้น

เสนอสำรวจข้อมูล “ถือครอง-ระวาง” ที่ดิน-ชายหาดสาธารณะ

“ต้องทำให้ข้อมูลการถือครองที่ดิน และข้อมูลระวางที่ดิน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐยังต้องสำรวจด้วยว่า ชายหาดสาธารณะทุกแห่ง มีทางสาธารณะที่ประชาชนทุกคนสามารถใช้เป็นเส้นทาง เพื่อเดินลงไปที่ชายหาดได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีทางเดินลงหาด ก็มีค่าเท่ากับว่า ชายหาดนั้นจะอยู่ในความดูแลของเอกชนไปโดยอัตโนมัติ”

ข้อเสนอของ ธนู ในฐานะคนที่ทำงานประเด็นสิทธิชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันมายาวนาน เขาบอกว่า ถ้าท้องถิ่นเข้าถึงข้อมูลการถือครองที่ดินได้ ก็จะเข้าถึงการใช้ประโยชน์ชายหาดสาธารณะได้ และมีอำนาจในการดูแลหรือจัดสรรพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะได้อย่างแท้จริง ปัญหาการที่มีผู้เช่าที่ดินราคาแพงมาคุกคาม หรือ ขับไล่คนในท้องถิ่น ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้อีก

“ยกตัวอย่างว่า การที่มีคนมาจ่ายค่าเช่าที่แพง ๆ แล้วก็สามารถอ้างความเป็นเจ้าของที่ดินโดยเหมารวมไปถึงชายหาดสาธารณะและไปคุกคามชุมชนท้องถิ่นได้ เพราะการดูแลพื้นที่ไม่เคยถูกทำให้ยึดโยงกับชุมชนท้องถิ่นเลย ซึ่งเราสามารถทำให้โดยให้ท้องถิ่นเข้ามาเป็นผู้ดูแลรักษาพื้นที่ได้ เช่น การใช้มาตรการทางภาษี”

“เราจะต้องเริ่มด้วยการถ่ายโอนภารกิจเหล่านี้ออกจากอำนาจการดูแลหน่วยรัฐส่วนกลางที่ไม่สามารถดูแลได้จริงไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ควรถ่ายโอนภารกิจดูแลพื้นที่ชายหาดจากกรมเข้าท่าไปให้ชุมชนในท้องถิ่นกลายเป็นเจ้าภาพตัวจริง เพราะในปัจจุบันท้องถิ่นไม่สามารถไปแก้ปัญหานี้ได้ เพราะเขาไม่มีอำนาจ”

“สำคัญที่สุด คือ ต้องทำลายกลไกที่ทำให้เกิดการทุจริตในการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบได้ง่ายๆ นั่นคือ รัฐบาลควรสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเปิดเผยข้อมูลระวางที่ดินทั้งหมด ให้เป็น Open Data ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและร่วมตรวจสอบได้ จากนั้นต้องนำข้อมูลจากทุกหน่วยงานมาปรับเป็นระบบแผนที่เดียว (one map) ซึ่งจะทำให้ระบบการจัดการที่ดินทั่วประเทศมีความโปร่งใสขึ้นมาก”

“ถ้า one map เกิดขึ้นได้ การจัดการที่ดินก็จะเป็นธรรมกับชุมชนมากขึ้น จะสามารถรักษาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ไว้ได้ และสามารถนำรายได้ในการใช้ประโยชน์ที่สาธารณะกลับมาเป็นของรัฐได้ ... สิ่งที่เราสงสัย ก็คือ เหตุผลที่รัฐไม่สามารถทำให้เกิด one map ขึ้น เป็นเพราะจะไปกระทบกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มอย่างเช่นทุกวันนี้ ใช่หรือไม่” ธนู กล่าวทิ้งท้าย

 

รายงานโดย: สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง