ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครม.เห็นชอบเสนอ "มวยไทย-ชุดไทย" ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรม

สังคม
26 มี.ค. 67
18:08
956
Logo Thai PBS
ครม.เห็นชอบเสนอ "มวยไทย-ชุดไทย" ขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ที่ประชุม ครม.เห็นชอบเสนอ "มวยไทย-ชุดไทย" ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก

วันนี้ (26 มี.ค.2567) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการเสนอรายการ "ชุดไทย" และ "มวยไทย" เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ

รมว.วัฒนธรรม กล่าวถึงความสำคัญและสาระของมรดกฯ ทั้ง 2 รายการ ว่า รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรม ชุดไทย : ความรู้ งานช่างฝีมือ และแนวปฏิบัติการแต่งกายชุดไทยประจำชาติ (Chud Thai : The Knowledge, Craftsmanship and Practices of The thai National Costume) เป็นเครื่องแต่งกายที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทย ได้รับการพัฒนามาเป็นเวลานาน พบหลักฐานมีการนุ่งและการห่มมากว่า 1,400 ปี ตั้งแต่สมัยทวารวดี อยุธยา จนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ภาพการแต่งกายจึงเป็นหลักฐานสำคัญบอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และสืบทอด

ปี พ.ศ.2503 ชุดไทยได้รับการพัฒนารูปแบบครั้งสำคัญ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ศึกษาวิวัฒนาการรูปแบบการแต่งกายของสตรีไทย และสร้างสรรค์ชุดไทยขึ้น 8 แบบ ส่วนของสุภาพบุรุษมี 3 แบบ คนไทยทุกภูมิภาคมักสวมใส่ชุดไทยในวาระโอกาสต่าง ๆ และเมื่อมีโอกาสสำคัญในชีวิต ทั้งงานรัฐพิธี งานพิธีการทางศาสนา ถือเป็นแนวปฏิบัติทางสังคมและยังเป็นกระบวนการผลิตของช่างฝีมือไทยทั้งในเรื่องของการทอผ้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบและงานช่างตัดเย็บ ตลอดจนการปักประดับลวดลายบนผืนผ้าด้วย

ส่วน "มวยไทย" (Muay Thai : Thai Traditional Boxing) เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ได้รับการสืบทอดมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ปรากฏหลักฐานใน "จดหมายเหตุว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม" บันทึกโดย ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ ซึ่งมวยไทยเป็นวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยมือเปล่าในระยะประชิดตัว เป็นศาสตร์และศิลป์ที่ก่อกำเนิดจากภูมิปัญญาของคนไทยที่ต้องต่อสู้กับภัยธรรมชาติ สัตว์ป่า มนุษย์และภัยจากสงคราม การฝึกฝนวิชามวยไทยมีตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน จนถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไว้ใช้ในการป้องกันตนเองและปกป้องประเทศ

เอกลักษณ์โดดเด่นของมวยไทย คือ การใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายในการป้องกันตัว ซึ่งครูบาอาจารย์ได้คิดค้นกลวิธีการฝึกจากการเลียนแบบท่าทางของสัตว์ การสังเกตธรรมชาติ และวรรคดี รวมถึงวิถีชีวิตตามบริบทท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคประยุกต์เป็นท่าทางมวยต่างๆ และยังมีพิธีกรรมของการมอบตัวเป็นศิษย์ การขึ้นครูและการครอบครู การแสดงความกตัญญูต่อครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ เห็นได้จากการรำไหว้ครูมวยไทยก่อนการชกทุกครั้ง

ปัจจุบัน มวยไทยเป็นกีฬาประจำชาติ เป็นกีฬาอาชีพ มีการจัดการเรียนการสอนมวยไทยในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มวยไทยจึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า การนำเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมทั้งรายการ "ชุดไทย" และ "มวยไทย" ต่อยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนในประเภท บัญชีรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (The Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก 5 เกณฑ์ ประกอบด้วย

  1. รายการที่นำเสนอนี้ สอดคล้องกับลักษณะของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003
  2. การขึ้นทะเบียนรายการที่นำเสนอนี้ จะส่งเสริมความประจักษ์และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การสะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในระดับโลก และแสดงถึงความสร้างสรรค์ของมนุษยชาติ
  3. มาตรการสงวนรักษาที่เสนอมานั้น ผ่านการพิจารณามาอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อให้มีการป้องกันและส่งเสริม และมีการกำหนดมาตรการสงวนรักษาวัฒนธรรม
  4. รายการที่นำเสนอนี้เกิดจากชุมชน กลุ่มบุคคล หรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
  5. เป็นรายการที่ปรากฏและดำรงอยู่ในดินแดนของรัฐภาคีสมาชิกที่นำเสนอ โดยบรรจุอยู่แล้วในบัญชีมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของรัฐภาคีสมาชิก ตามที่นิยามไว้ในอนุสัญญา มาตรา 11 และ 12

อ่านข่าวอื่นๆ

ไฟเขียวขึ้นค่าจ้าง 400 บาท ใน 10 จังหวัดนำร่อง เริ่ม 13 เม.ย.นี้

​ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวง "เด็กใช้กระท่อม-กัญชา" เสี่ยงทำผิด

ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเตรียมเฮ ลาคลอดบุตรรับค่าจ้าง 98 วัน คาดมีผล พ.ค.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง