คพ.แนะ "แอมโมเนีย" อันตราย ต้องรีบอพยพ- ตร.สั่งสอบสาเหตุรั่ว

อาชญากรรม
18 เม.ย. 67
10:55
237
Logo Thai PBS
คพ.แนะ "แอมโมเนีย" อันตราย ต้องรีบอพยพ- ตร.สั่งสอบสาเหตุรั่ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (18 เม.ย.2567) น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กรณีเกิดเหตุสารแอมโมเนียรั่วในโรงงานผลิตน้ำแข็ง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินสารเคมี คพ.ได้เข้าไปยังจุดเกิดเหตุ แต่ต้องรอตำรวจและทางกู้ภัยเคลียร์ และช่วยเหลือชาวบ้านออกจากพื้นที่ก่อน เพราะแอมโมเนียเป็นก๊าซอันตราย

โดย คพ.ต้องเข้าตรวจวัดค่าความเข้มข้นของแอมโมเนียที่รั่วไหล ว่าอยู่ในระดับที่ยังมีความเข้มข้น อันตรายหรือไม่ และจะรีบรายงานผลตรวจทันที ส่วนประชาชนในพื้นที่ใกล้โรงน้ำแข็งแนะนำว่า ถ้ารู้สึกได้กลิ่นฉุนแปลว่า ไม่ปลอดภัย

อ่านข่าว : ระเบิดในโรงงานน้ำแข็งบางละมุง แอมโมเนียรั่ว อพยพ ปชช.วุ่น เจ็บกว่า 100 คน

แนะนำว่า แค่ได้กลิ่นแล้วเวียนศีรษะก็อันตรายแล้ว ต้องนำกลุ่มเสี่ยงออกจากพื้นที่ทันที และไม่แนะนำให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่โดยไม่จำเป็น เนื่องจากก๊าซแอมโมเนียเป็นก๊าซอันตราย ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนรุนแรง

แอมโมเนียระดับไหนอันตราย

สำหรับระดับอันตรายและผลกระทบจากก๊าซแอมโมเนีย ทาง คพ. ได้จัดทำประกาศกรมควบคุมมลพิษเรื่องค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีทางการหายใจแบบเฉียบพลัน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ ระดับที่ 1 : 30 ppm (ส่วนต่อล้าน) ระดับที่ 2: 160 ppm และระดับ 3: 1,100 ppm

โดยหากเทียบอันตรายกำหนดไว้ดังนี้ มากกว่า 400 ppm จะมีอาการระคายเคืองต่อทางเดินหายใจเยื่อตา และทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่หากมากกว่า 5,000 ppm ส่งต่อระบบหายใจและกล้ามเนื้อจนทำให้เสียชีวิตทันที

ส่วนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น สำหรับผู้ที่รับแอมโมเนียต้อง 1.เคลื่อนย้ายไปยังที่โล่งใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากจมูกระหว่างขนย้าย 2.ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกหากเสื้อผ้าติดผิวหนัง ต้องทำให้อ่อนตัวก่อนถอดออก และล้างร่างกายด้วยน้ำอุ่นอย่างน้อย 15 นาที

3.กรณีการสัมผัสตาให้ล้างออกด้วยน้ำเปิดน้ำไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที 4.กรณีการสัมผัสผิวหนังให้ล้างออกด้วยน้ำสบู่ถ้าเกิดบาดแผลขนาดใหญ่เนื่องจากความเย็นห้ามถูหรือราดน้ำบริเวณนั้นให้รีบนำส่งแพทย์ทันที

สำหรับแอมโมเนียมักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมห้องเย็นโรงน้ำแข็งและห้องแช่แข็ง โดยปี 2565 เคยเกิดแอมโมเนียรั่วที่โรงน้ำแข็งใน จ.เพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 ส่วนปี 2566 เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2566 แอมโมเนียรั่วที่โรงงานผลิตอาหารแช่แข็งส่งออกต่างประเทศที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

รรท.ผบ.ตร.สั่งสอบสาเหตุแอมโมเนียรั่วไหล

ด้าน พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ พล.ต.ท. สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภาค 2 นำตำรวจร่วมกับฝ่ายปกครองและทุกภาค ส่วนเข้าควบคุมสถานการณ์ ตั้งจุดช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมอพยพคนไม่เกี่ยวข้องออกนอกพื้นที่

จากการตรวจสอบเบื้องต้นมีประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 100 ราย เป็นพนักงาน , ประชาชนที่สัญจรผ่านด้านหน้าโรงน้ำแข็ง และประชาชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณข้างเคียง ส่วนใหญ่มีอาการ แสบตา แสบจมูก แต่มี 9 ราย พบอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และ 3 ราย มีบาดแผล และอาการซึม

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยังได้สั่งการให้เร่งสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุที่เกิดขึ้นว่า เกิดจากอะไร มีผู้ที่ต้องรับผิดชอบหรือไม่ เร่งทำความจริงให้ปรากฏ ตามพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยตั้งเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน หากพบเป็นความผิดอาญาให้ดำเนินการกับผู้เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและเด็ดขาด

อ่านข่าว : "ด.ต.ปิยนันท์" ตร.ทางหลวงถูกรถชน อาการคงที่ ย้ายรักษาตัว รพ.ตำรวจวันนี้

"ปู่จ๋าน ลองไมค์" เล่าความผิดพลาด ใช้ชีวิตตึงเกินไป จนป่วยหนักเข้า ICU

ข่าวที่เกี่ยวข้อง