เปิดใจทีมปิดทองหลังเครื่อง ปฏิบัติการรับมือเหตุฉุกเฉิน SQ321

สังคม
23 พ.ค. 67
13:12
28,235
Logo Thai PBS
เปิดใจทีมปิดทองหลังเครื่อง ปฏิบัติการรับมือเหตุฉุกเฉิน SQ321
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การขอลงจอดฉุกเฉินของ SQ321 ที่สนามบินสุวรรณภูมิเนื่องจากต้องการความช่วยเหลือด้านการแพทย์ด่วน ทำให้ทีมแพทย์สนามบินเปิดปฏิบัติการแผนเผชิญเหตุใหญ่ "พญ.วิชัญญา" ทีมแพทย์ ทอท. 1 ในทีมบัญชาการเผย "เป็นเคสที่วุ่นวายจริงแต่ทุกคนก็ช่วยกันสุดจริงๆ"
ถ้าเทียบให้เห็นภาพชัดๆ เหมือนสถานการณ์ถ้ำหลวง ที่ทุกทีมพร้อมสนับสนุนกันและกัน ใครมีอะไรรีบมาบอก รีบแก้ไข ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ช่วยคนบนเครื่องให้ไวที่สุด

คำตอบแรกที่ พญ.วิชัญญา บุรีรักษ์ หนึ่งในทีมแพทย์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้เผชิญเหตุการณ์รับไม้ต่อจากการประสานงานขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิของสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 เส้นทางลอนดอน (ฮีธโทรว์) - ชางงี สิงคโปร์ วันที่ 21 พ.ค.2567 เปิดเผยเป็นที่แรกกับไทยพีบีเอสออนไลน์ 

รวมพล "Full Team" เข้าช่วย SQ321

พญ.วิชัญญา หรือ "หมอป่าน" เล่าถึงภารกิจใหญ่ที่ทีมแพทย์สนามบินต้องเจอหลังประจำการที่นี่มาถึง 12 ปีว่า นี่เป็นครั้งแรกของสนามบินสุวรรณภูมิที่ต้องรับมือกับเหตุฉุกเฉินกับอุบัติเหตุหมู่ทางการบินที่เกิดจากการตกหลุมอากาศและมีผู้เสียชีวิต แม้เงื่อนไขการขอลงฉุกเฉินของ SQ321 คือต้องการความช่วยเหลือด้านการแพทย์ แต่ก็ต้องประสานงานกับหน่วยงานฝ่ายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน 

พยาบาลสายฉุกเฉินได้รับแจ้งเหตุจากวิทยุการบินว่า อีกประมาณ 30 นาที เครื่องของ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ จะขอลงฉุกเฉินเพราะเครื่องประสบ Turbulence และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก 

จากนั้นข้อมูลก็เริ่มหลั่งไหลมาเรื่อย ๆ ที่หมอป่านตั้งใจฟังมากที่สุดคือจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บที่เธอยอมรับกับทีมข่าวว่า "ไม่เคยนิ่ง ตัวเลขที่แจ้งเป็นจริงหรือไม่" ถ้าเป็นจริงตามที่แจ้งเท่ากับต้องใช้ทรัพยากรเยอะมาก ทำให้ต้องประชุมกันในทีมแพทย์และตัดสินใจทำตามแผนเผชิญเหตุ "อากาศยานอุบัติเหตุ" นั่นคือเรียกรวมพลเต็มรูปแบบ ทั้งคน อุปกรณ์ แผนเผชิญเหตุ ทั้งนี้เมื่อเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ในเที่ยวบิน ฝ่ายการแพทย์จึงต้องเป็น "ผู้บัญชาการเหตุการณ์ (On Scene Commander)"

แต่ทุกอย่างคือ "การเตรียมรับมือ" ไว้ก่อน และรอประเมินสถานการณ์หน้างานว่าจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเท่าที่เตรียมไว้หรือไม่ 

จำใจทิ้งดำ เร่งเก็บแดง-เหลือง-เขียว 

แม้ทางภาคพื้นจะได้รับแจ้งว่าอีก 30 นาทีเครื่องจะลงจอด แต่ในความเป็นจริงเครื่องมาถึงก่อนเวลาแจ้ง 10 นาที "เราได้รับแจ้งว่าเครื่องจะลงจอด 16.00 น. แต่เครื่องมาถึงจริงคือ 15.51 น." ก่อนขึ้นเครื่อง หมอถึงได้รู้ว่ามีเคสดำหรือผู้เสียชีวิต 1 คนบนเครื่อง สิ่งที่หมอทำได้ ณ ขณะนั้นคือ ต้องจำใจปล่อย และเรียกหน่วยงานที่ดำเนินการกรณีมีคนเสียชีวิตบนเครื่อง มารับช่วงแทน

ในทางการแพทย์เราจะไม่เททรัพยากรไปกับเคสดำ เราต้องเร่งเก็บเคสแดง-เหลือง-เขียว ไว้ให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

พญ.วิชัญญา บอกว่าเวลาเตรียมการจริงมีแค่ 20 นาทีไม่เกิน ทุกอย่างคือความกดดันที่หลีกหนีไม่ได้ เธอและทีมแพทย์-พยาบาล เป็นกลุ่มแรกที่เข้าไปในเครื่องบินโบอิ้ง 777-300ER จากประตูหน้าสุด ภาพแรกที่เห็นคือ "เทกระจาด" หมอป่านเปรียบเทียบถึงพื้นห้องโดยสารที่เต็มไปด้วยข้าวของกระจัดกระจาย โซนหน้าไม่พบร่องรอยความเสียหายเท่าไหร่ พอเดินเข้าไปกลางลำเริ่มเห็นความเสียหายและผู้บาดเจ็บมากขึ้น แต่ส่วนที่หนักที่สุดคือส่วนท้ายเครื่อง เพราะมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากอยู่ที่นั่น

เมื่อประเมินสถานการณ์ตรงหน้าแล้ว จึงตัดสินใจแจ้งไปยัง ผอ.ท่าอากาศยาน ขอคำอนุมัติใช้แผนปฏิบัติการฉุกเฉินอุบัติเหตุหมู่ ซึ่ง ผอ.ท่าอากาศยานก็อนุมัติคำสั่งทันที จึงมีการประสานงานไปยังทุกหน่วยงาน ทีมแพทย์ทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิ รพ.สมิติเวช ทีมดับเพลิงกู้ภัย ทีมขนย้าย เรียกว่ามีเท่าไหร่เรียกรวมพลมาที่ SQ321 ทั้งหมดในนาทีนั้น

บรรยากาศในขณะนั้น ทุกอย่างอยู่ในความเงียบ สงบ จะบอกว่าทุกคนอาจกำลังช็อกหลังจากผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมาก็ใช่ แต่เมื่อทุกคนเห็นทีมช่วยเหลือ ก็ไม่มีผู้โดยสารคนไหนตะโกนโวยวายเลยสักคน กลับกันทุกคนกลับให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการช่วยเปิดทางให้ทีมช่วยเหลือเข้าไปดูแลจัดการกับผู้ได้รับบาดเจ็บ หมอป่านเล่าถึงสิ่งที่สัมผัสได้จากผู้โดยสารและลูกเรือขณะขึ้นไปประเมินสถานการณ์

หลายคนคงเห็นว่ามีคนได้รับบาดเจ็บกว่าตนเอง ก็อยากให้หมอไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นก่อน

ถอดเสื้อกาวน์สวมหมวกผู้บัญชาการ

พญ.วิชัญญา กล่าวต่อว่า เมื่อประเมินภาพรวมเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว เธอและทีมงานต้องวางหน้าที่แพทย์ลง และสวมบทผู้บัญชาการสถานการณ์ตรงหน้า ทุกคนจะวิ่งเข้าหาเรา รายงานเหตุ เรามีหน้าที่ประสานทีมอื่นๆ ใครขาดเหลือส่วนไหนต้องประเมินและแจ้งเหตุต่อ เพื่อให้คนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วย

พญ.วิชัญญา และ นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะปฏิบัติงาน SQ321

พญ.วิชัญญา และ นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะปฏิบัติงาน SQ321

พญ.วิชัญญา และ นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขณะปฏิบัติงาน SQ321

ถ้าเปรียบเทียบให้คนนอกเหตุการณ์เห็นถึงความโกลาหลบนพื้นที่ลานจอดอากาศยานในสนามบินสุวรรณภูมิในวันนั้น พญ.วิชัญญาเปรียบว่า เหมือนถ้ำหลวงแบบย่อมๆ คนเยอะแยะไปหมด ทั้งเดินทั้งวิ่ง แต่ที่วิ่งคือวิ่งมาบอกว่า ทีมของตัวเองมีทรัพยากรอะไรบ้าง พร้อมรับมือตลอดเวลา ขอแค่หมอแจ้งก็พอ 

มันมีลักษณะสายการบังคับบัญชาเกิดขึ้นโดยปริยาย ทุกคนเข้ามาบอก รอรับคำสั่ง เร่งเข้าพื้นที่ 

ทำไมขอลงจอดสุวรรณภูมิ ?

การบริหารจัดการสถานการณ์อุบัติเหตุหมู่ที่อยู่ตรงหน้าของทีมแพทย์สนามบิน และหน่วยงานอื่นๆ ที่ประกบช่วยให้ผู้ป่วยเคสสีแดง และสีเหลือง ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลได้ภายใน 2 ชั่วโมงหลังเครื่องจอด เมื่อร้องขอรถพยาบาลเพื่อส่งผู้ป่วยรักษาต่อยัง รพ.ภายนอก รถก็มารอทันที จากนั้นยังได้รับการอำนวยความสะดวกเปิดช่องทางจราจรจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกด้วย 

ไม่เกิน 15 นาทีรถพยาบาลก็นำตัวผู้ป่วยส่งถึง รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ ทั้งที่ในเวลาปกติอาจใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง

นี่เป็นสิ่งการันตีถึงความพร้อมของทีมแพทย์ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หมอป่านอธิบายเพิ่มว่า "สนามบินทางเลือก หรือ Alternate Airport" คือข้อบังคับที่ทุกเที่ยวบินในโลกต้องมี แต่การเลือกว่าจะขอลงฉุกเฉินที่สนามบินไหน ต้องดูความเหมาะสมด้วย เช่น สนามบินนั้นๆ มีรันเวย์ หรืออุปกรณ์รองรับเครื่องบินลำประสบปัญหาหรือไม่ มีบุคลากรให้ความช่วยเหลือพร้อมหรือไม่ พร้อมยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ด้วยความที่ประเทศไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้ชีวิตการเป็นหมอสนามบินของเธอต้องได้เจอกับผู้โดยสารป่วยแทบทุกช่วงอายุและแทบทุกวัน 

เราเจอเคสที่เครื่องขอลงจอดฉุกเฉินเพราะมีคนป่วยบนเครื่องมาเรื่อยๆ เคยมีแม้กระทั่ง Airbus-380 ขอจอดเพื่อนำส่งผู้ป่วยเพียง 1 คนส่งโรงพยาบาลที่สุวรรณภูมิ เราก็ให้ความช่วยเหลือ เราปฏิเสธไม่ได้เรื่องการช่วยเหลือเมื่อมีการร้องขอฉุกเฉิน นั่นคือ First Priority ของการเป็นแพทย์สนามบิน 

พญ.วิชัญญา ตอบคำถามทีมข่าวเมื่อถูกถามว่า สุวรรณภูมิสามารถปฏิเสธการรับเคสได้หรือไม่ เพราะมีกระแสโซเชียลตั้งข้อสงสัยว่า อีกไม่นานจะถึงสิงคโปร์แล้ว ทำไมเครื่องบินไม่บินต่อไปอีก

ทุ่มคะแนนให้ทุกคน 100 เต็ม 10  

เมื่อถาม พญ.วิชัญญา ว่าในวันนี้ที่สื่อทั้งในประเทศและนอกประเทศชื่นชมการบริหารจัดการสถานการณ์ของทีมแพทย์ท่าอากาศยาน เธอบอกว่าส่วนตัวเธอคงไม่กล้าให้รางวัลใด ๆ กับตัวเอง แต่ขอยกคะแนน 100 เต็ม 10 ให้กับทุกคนที่อยู่ในเหตุวันนั้น

ขอยกย่องและขอบคุณกับความทุ่มเทของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ผอ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ลงมากำกับงานด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่ไม่มีการปฏิเสธเมื่อขอความช่วยเหลือ

เราไม่ได้มีแผนรับมือเพื่อให้เป็นเพียงมาตรฐานของท่าอากาศยานระดับนานาชาติ ความสำเร็จที่แท้จริง เกิดขึ้นเมื่อเราสามารถรับมือกับเหตุการณ์ใหญ่ตรงหน้าได้เป็นอย่างดี การซ้อมที่เกิดขึ้นทุกปี วันนั้นเรางัดเอาทุกทักษะมาใช้กันทั้งหมด

ไม่ใช่แค่เหตุฉุกเฉินตรงหน้า สภาพอากาศก็ไม่เป็นใจ

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการซ้อมแผนเผชิญเหตุที่เกิดขึ้นทุกปีของสนามบินสุวรรณภูมิ หมอป่านเล่าว่าในทุก ๆ ปีจะซ้อมแผนช่วงประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค. ในการซ้อมจะเลือกซ้อมในวันที่อากาศแจ่มใส เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่เจ็บป่วยแล้วไม่สามารถปฏิบัติงานในวันถัดไปได้ แต่ในวันเกิดเหตุจริง อุปสรรคใหญ่ที่ทีมช่วยเหลือเจอไปพร้อม ๆ กันคือ "สภาพอากาศ" 

ขณะกำลังปฏิบัติงานอยู่ประมาณ 2 ชั่วโมงก็ได้รับแจ้งจากหน่วยปฏิบัติการเขตการบินว่า กลุ่มฝนกำลังจะมาถึงสนามบินใน 20 นาที ขอความเห็นว่าจะดำเนินการอย่างไรกับการลำเลียงผู้โดยสารลงจากเครื่องในขณะนั้น ในจังหวะที่ทีมบัญชาการนิ่งคิด ทีมอาคารได้ยื่นความช่วยเหลือเข้ามาทันที โดยเสนอกางเต็นท์เพิ่มเพื่อรองรับผู้โดยสารที่อาจเปียกฝนขณะลงจากเครื่อง

พญ.วิชัญญา กล่าวว่า แม้ตัวเธอจะเป็นผู้บัญชาการ แต่ไม่ได้เป็นเพียงการสั่งการออกไปฝ่ายเดียว แต่ทีมที่ปฏิบัติงานร่วม ก็สามารถ Feedback กลับมาได้เช่นกัน นั่นคือการทำงานเป็นทีมที่ต่างฝ่ายต่างช่วยสนับสนุนกันและกัน

เรียนรู้และถอดบทเรียน

ความฝันวัยเยาว์ของ ด.ญ.วิชัญญา คือการเป็นแพทย์ และนักบิน แต่ในยุคที่ประเทศไทยไม่เปิดรับนักบินที่เป็นผู้หญิง เธอจึงพาตัวเองเข้าใกล้ความฝันให้มากที่สุดคือ การเป็นแพทย์สนามบิน นอกจากงานด้านการรักษาผู้ป่วยแล้ว หมอป่านยังมีความรู้ด้านการบินอีกด้วย เธอสะท้อนเหตุการณ์ SQ321 ว่า ความผิดพลาดในการทำการบินนั้น เป็นสิ่งที่นักบินไม่ต้องการให้เกิดขึ้น

แต่เหตุการณ์นี้ หากสืบสวนแล้วพบว่า สาเหตุที่แท้จริงมาจากการตกหลุมอากาศ ในทางการบินไม่มีบทลงโทษอะไร แต่ต้องมาถอดบทเรียนจากอุบัติเหตุนี้เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการการทำงานให้ปลอดภัยและรัดกุมมากขึ้น 

ถ้าไม่ได้เป็นการละเมิดกฎหมาย ไม่ควรเอาผลการตรวจสอบมาตัดสินถูกผิดแล้วลงโทษใด ๆ เพราะถ้าตัดสินลงโทษ ต่อไปจะไม่มีใครกล้ารายงานเวลาเกิดเหตุการณ์ไม่ปลอดภัย กลายเป็นคนกลัวความผิดไปหมด

หลายคนที่สงสัยว่า ทำไมต้องมีหมอในสนามบิน วันนี้คงต้องตอบแบบนี้ว่า เพราะเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดได้เสมอ สนามบินจึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเผชิญเหตุฉุกเฉินในทุก ๆ ด้าน การตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินของท่าอากาศยานได้ทันท่วงที เพื่อบรรเทาเหตุนั้น ๆ และทำให้ท่าอากาศยานกลับมาดำเนินการในสภาวะปกติให้ไวที่สุด คือ ภารกิจที่สำคัญที่สุดของฝ่ายการแพทย์ ทอท. 

รู้หรือไม่ : พญ.วิชัญญา บุรีรักษ์ คือสุดยอดแฟนพันธุ์แท้สายการบิน จากรายการแฟนพันธุ์แท้ เด็กผู้หญิงที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักบินและอยากเป็นคุณหมอ เธอจึงเลือกตามหาฝันไปพร้อมๆ กัน ก็ไปรักษาผู้โดยสารที่ป่วยในสนามบินไปเล้ยยยย !

อ่านข่าวเพิ่ม : 

เรารู้อะไรบ้างจากการ "ตกหลุมอากาศ" ของ SQ321

บวท.พร้อมรับมือสภาพอากาศกระทบเที่ยวบิน-รองรับภาวะฉุกเฉิน

อัปเดตผู้ได้รับบาดเจ็บ SQ321 กลับบ้านแล้ว 27 รักษาตัว 58 คน

ผู้โดยสารโปรดทราบ! กรุณารัด "เข็มขัดที่นั่ง" ทุกครั้งเมื่อโดยสารเครื่องบิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง