ศูนย์ฯโพธิยาลัย แก้ปัญหาตกหล่นทางการศึกษา
ห้องเรียนที่เคยทิ้งร้างในโรงเรียนวัดวิเวกวนาราม โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ใน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องเรียนชั้นประถมศึกษาให้กับสามเณรกว่า 30 รูป ของศูนย์การเรียนโพธิยาลัยสันทราย
สามเณรกลุ่มนี้ มีทั้งลูกหลานคนไทยที่มีฐานะยากจน กลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูง รวมทั้งลูกหลานแรงงานข้ามชาติ ซึ่งบางส่วนหลบหนีภัยการสู้รบในประเทศเมียนมา เข้ามาหางานทำในประเทศไทย และด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง ผู้ปกครองจึงให้เด็กๆ บวชเรียนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา
แต่เพราะโรงเรียนพระปริยัติธรรม จัดการศึกษาเฉพาะระดับมัธยมศึกษา ขณะที่โรงเรียนในสังกัด สพฐ.ยุติการผ่อนผันให้สามเณรเรียนร่วมกับฆราวาส คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จึงตั้งศูนย์การเรียนโพธิยาลัยขึ้นที่โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เมื่อปลายปีก่อน
ก่อนจะขยายสาขารองรับสามเณรที่ยังตกหล่นทางการศึกษารวมแล้ว 3 สาขา ในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 และ เขต 3 รวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 1 มีนักเรียนรวม 1,258 รูป
หนึ่งในสามเณรเล่าว่า ครอบครัวอาศัยอยู่ที่เมืองแสนหวี ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่นั่นเกิดการสู้รบหนัก ระหว่างกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ และทหารเมียนมา โรงเรียนต่างๆ ปิดการเรียนสอน เด็กๆ จึงไม่ได้เรียนหนังสือ
ตัวเขาเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 แล้ว แต่เมื่อการเรียนหยุดชะงัก พ่อ แม่ จึงเดินทางมาหางานทำในเมืองไทย และ นำมาบวชเรียนเพื่อจะได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม แม้ว่าจะต้องเริ่มต้นเรียนชั้น ป.1 ใหม่ แต่ก็หวังจะได้ศึกษาต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี
พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ ผศ.ดร ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนโพธิยาลัย
พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ, ผศ.ดร ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนโพธิยาลัย เล่าว่า เด็ก และเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ติดตามแรงงานหรือผู้อพยพ เมื่อเข้ามาในประเทศ สิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับคือ การศึกษาและการรักษาพยาบาล
เด็กกลุ่มนี้บางส่วนเข้ามาบวช เพราะผู้ปกครองต้องทำงานไม่สามารถดูแลได้ พระสงฆ์ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องดูแล และ ให้การศึกษาระดับประถมศึกษาแก่สามเณรเพื่อการแบ่งเบาภาระให้กับ สพฐ. โดยมีชาวบ้านในชุมชนช่วยอนุเคราะห์ จึงไม่ต้องใช้งบประมาณราชการ
และการบวชเรียนยังช่วยหล่อหลอมจิตใจแก่เด็ก ลดความเสี่ยงการตกเป็นเหยื่อกลุ่มขบวนการค้ามนุษย์ รวมทั้งยังเป็นการสร้างศาสนทายาทด้วย
การบวชไม่ใช่อุปสรรคทางการศึกษา ศูนย์การเรียนโพธิยาลัย ถือเป็นความจำเป็นเฉพาะหน้า เพื่อสร้างความเท่าเทียม และเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์บีบบังคับ
เด็กเมียนมา สู่เด็กเคลื่อนย้าย ในโรงเรียนและศูนย์การเรียน
ผลจากการสู้รบที่รุนแรง ทำใหัมีผู้หนีภัยชาวเมียนมาข้ามแดนมายังประเทศไทยบ่อยครั้ง ล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ชาวเมียนมากว่า 3 พันคนอพยพข้ามแดนมายัง อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นเด็กในวัยเรียน
แม้ผู้หนีภัยจะเดินทางกลับประเทศเมียนมาไปหมดแล้ว หลังการสู้รบสงบ แต่ข้อมูลของภาคประชาสังคมในพื้นที่ยืนยันว่า ที่ผ่ามมามีเด็กสัญชาติเมียนมาจำนวนมากเข้ามาอยู่ในความดูแลของผู้จัดการศึกษาภาคเอกชนในอำเภอแม่สอด
ภาคประชาสังคมระบุว่า ศูนย์การเรียนรู้ 64 แห่ง กระจายอยู่ทั่วจังหวัดตากได้ให้การศึกษาแก่นักเรียนพลัดถิ่นจำนวน 15,139 คน แต่ยังไม่เพียงพอต่อจำนวนบุตรหลานของประชากรข้ามชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองและเด็กเคลื่อนย้ายต้องหาโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา
การมีงานและหารายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว โดยการหาช่องทางลักลอบเดินทางไปพื้นที่ชั้นในของประเทศไทย และเสี่ยงต่อถูกหลอกและตกเป็นผู้เสียหายในขบวนการค้ามนุษย์
ปัญหาเหล่านี้ถูกเสนอเป็นหนังสือข้อเสนอทางนโยบายในพื้นที่ชายแดนแม่สอดส่งถึงประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2567 ขอให้เปิดโอกาสการจัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐาน แก่กลุ่มเด็กเคลื่อนย้ายทุกคนในทุกรูปแบบที่เหมาะสม โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ทุกสถานศึกษาทุกสังกัด ตามนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน และ นโยบายเรียนฟรี 15 ปี
รวมทั้งพิจารณาการเปิดห้องเรียนสาขาที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและศูนย์การเรียน เพื่อรองรับสถานการณ์เบื้องต้น รวมถึงให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย และ จัดให้พื้นที่แม่สอดเป็นพื้นที่นำร่อง Buffer Zone ทางการศึกษาให้กลุ่มเด็กเคลื่อนย้าย
แต่ล่าสุดรัฐบาลก็ยังไม่มีแนวทางการจัดการศึกษาเพิ่มเติม ขณะที่ กรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาข้อมูล และจัดทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมอีกครั้ง ล่าสุด พบว่ามีศูนย์การเรียนเกิดขึ้นในทุกจังหวัด แต่บางส่วนไม่กล้าให้ข้อมูล เพราะกลัวถูกสั่งปิดั
รัฐต้องยอมรับว่า เด็กเคลื่อนย้ายมีอยู่จริง
สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล
สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ระบุว่า หลายปีที่ผ่านมาระบบการศึกษาในประเทศเมียนมาหยุดชะงักลง ประเมินว่าอาจมีเด็กกว่า 5 ล้านคนที่หายไปจากระบบ ขณะที่ในฝั่งประเทศไทยก็พบว่าเด็กเคลื่อนย้ายในสถานศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้น
ส่วนเด็กที่อยู่ตามไซต์งานก่อสร้าง ตามศูนย์การเรียนที่ไม่ได้ส่งข้อมูลให้กระทรวงศึกษาธิการ ยังเป็นตัวเลขที่ไม่ได้รับการยืนยัน และกลายเป็นปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น เด็กหลุดจากระบบการศึกษา การใช้แรงงานเด็ก หรือการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์
รัฐต้องยอมรับความจริงว่ามีเด็กเคลื่อนย้ายจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย และ ต้องมีการจัดระบบการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง
โรงเรียนมีสิทธิ์และหน้าที่ให้การศึกษาแก่เด็กทุกคน
ศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ นักวิชาการด้านการศึกษา
ศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ นักวิชาการด้านการศึกษา อดีตอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา และผู้ก่อตั้งศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951
มีกฎหมายตามจารีตประเพณีที่จะให้ที่พักพิง และไม่ผลักผู้ซึ่งหลบหนีภัยสงครามมา กลับสู่ต้นทางที่มีความไม่ปลอดภัย และต้องให้ที่พักชั่วคราวจนกว่าจะมั่นใจว่าพื้นที่ที่เขาจะกลับไป มีความปลอดภัยในชีวิต
ส่วนกรณีกระทรวงศึกษาธิการ มีหนังสือภายในให้สถานศึกษาสังกัด สพฐ.ละเว้น หรือทบทวนการรับเด็กซึ่งอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย หรือผู้หลบหนีมาด้วยภัยสงครามเข้าเรียน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหนังสือหารือไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชี้แจงแล้วว่า เป็นเพียงคำสั่งที่ซักซ้อมความเข้าใจเท่านั้น ไม่ได้สั่งให้สถานศึกษากีดกันสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย จึงอยากจะสร้างความเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว โรงเรียนมีสิทธิ์ และ มีภาระหน้าที่ในการให้การศึกษาแก่เด็กในประเทศไทยทุกคน รวมถึงเด็กกลุ่มนี้ด้วย
พื้นที่ชายแดนแม่สอด แม่สาย และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ด่านระเบียบบุญ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน วัด โบสถ์ หรือ ภาคประชาสังคม ได้ทำหน้าที่โอบอุ้มเด็กที่ลี้ภัยอยู่แล้ว สิ่งที่ทำเป็นการช่วยประเทศไทย และ เป็นการทำงานด้านมนุษยธรรม เพื่อดูแลพลเมืองประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงมากขึ้น
รายงานของ Myanmar Witness องค์กรเฝ้าระวังด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเมียนมามีการโจมตีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยกว่า 130 แห่ง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีครูและนักเรียนตกเป็นเหยื่อของการต่อสู้ระหว่างคณะรัฐประหารและกองกำลังต่อต้านเพิ่มมากขึ้น
ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ของกองกำลังต่อต้าน มากที่สุดอยู่ที่เขตสะกาย มีโรงเรียนถูกโจมตี 36 แห่ง และ เกิดขึ้นในรัฐฉาน รัฐกะยาและรัฐกะเหรี่ยง รัฐละ 11 ครั้ง
ขณะที่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่าการสู้รบในเมียนมาจะทำให้ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านคนในปี 2567 โดยครึ่งหนึ่งเป็นเด็กและผู้หญิง และมีผู้ลี้ภัยหลายหมื่นชีวิตเดินทางเข้ามาในแนวชายแดนตลอดช่วงสามปีที่ผ่านมา
รายงาน:ทีมศูนย์ข่าวภาคเหนือ
อ่านข่าว : หมอกควัน-ไฟป่าเหนือ โจทย์ใหญ่ "รัฐบาลแพทองธาร"
ปลุกผี "แก่งเสือเต้น" 30 ปี แก้น้ำท่วมสุโขทัย
เร่งตามจับชาวเมียนมาฆ่ายกครัวเพื่อนร่วมชาติ คาดข้ามฝั่งหลบหนี