กลุ่มลูกจ้างค้าน "ประกันสังคม" ขยายอายุรับเงินชราภาพเป็น 65 ปี

สังคม
6 ก.ย. 67
17:29
44,678
Logo Thai PBS
กลุ่มลูกจ้างค้าน "ประกันสังคม" ขยายอายุรับเงินชราภาพเป็น 65 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์ คัดค้านขยายอายุผู้ประกันตนมาตรา 33 ชราภาพ ประกันสังคม จาก 55 ปี เป็น 65 ปี

เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2567 สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง คัดค้านขยายอายุผู้ประกันตนมาตรา 33 ชราภาพ ประกันสังคม จาก 55 ปี เป็น 65 ปี

ตามที่ รมว.แรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้แถลงต่อสาธารณชนผ่านสื่อมวลชน ใจความว่า การผลักดันนโยบายหรือทิศทางการขับเคลื่อนงานประกันสังคมในปี 2568 โดยให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ตามร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … อาทิ ขยายฐานอายุผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็น 65 ปี ผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 ที่มีสิทธิรับเงินบำนาญชราภาพ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39/1 เพื่อรับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, กรณีทุพพลภาพ และ ตาย

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และองค์กรสมาชิกได้ประชุมร่วมกันและมีมติ "ขอคัดค้าน ไม่เห็นด้วย" โดยมีเหตุผล ดังต่อไปนี้

1. ขัดต่อหลักการและสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 77 ทวิ และกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทำงานเพราะคนงานส่วนมากจะเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี การขยายเวลาออกไป จึงเป็นการประวิงเวลาและไม่เป็นคุณกับคนงาน

2. การอ้างประกันสังคมจะล้มเนื่องจากเงินไม่พอ เหตุเพราะรัฐบาลค้างจ่ายหลายหมื่นล้านบาท และ สัดส่วนการจ่ายสมทบลดลงจากในอัตราเท่ากัน 3 ฝ่าย คือ ในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้าง และมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม ในต้นปี 2540 จากเหตุวิกฤต "ต้มยำกุ้ง" จนถึงบัดนี้เวลาล่วงเลยมาเกือบ 30 ปี รัฐยังคงลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเหลือเพียงร้อยละ 2.75 นอกจากจ่ายเงินสมทบอัตราที่ต่ำกว่าผู้ประกอบการ และผู้ประกันตนแล้ว รัฐยังค้างจ่ายเงินสมทบอีก กว่า 68,000 ล้านบาท จนเป็นเหตุให้ สสรท. ต้องติดตามทวงหนี้รัฐบาล เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2567 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล

3. การอ้างว่าประกันสังคมจะล้มไม่มีเงิน เพราะบริหารจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพ เช่น การลงทุนที่ไม่มีผลตอบแทนดีพอ เสี่ยง ขาดทุนจากการวางแผนการลงทุนที่ชัดเจน เช่น การลงทุนในต่างประเทศ ทำให้สูญเงินจากอัตราแลกเปลี่ยน กว่า 14,400 ล้านบาท (ในปี 2566)

4. กรณีที่ผู้ประกอบการบางรายไม่ชำระเงินเข้ากองทุน และมีการตัดหนี้สูญอย่างมีนัยและอาจมองได้ว่าเป็นการกระทำที่ส่อไปในทางไม่สุจริต หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งผู้ประกอบการบางรายเก็บเงินจากผู้ประกันตนแล้วไม่นำส่งประกันสังคม

5. นายจ้างที่เป็นส่วนราชการ จ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมล่าช้า บางส่วนราชการได้รับการยกเว้นเงินเพิ่ม ก่อให้เกิดปัญหากับกองทุนต่าง ๆ ของประกันสังคม

สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) จึงมีข้อเสนอเพื่อความมั่นคง ยั่งยืนของการประกันสังคมและเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน ดังนี้

1. ยกเลิกแนวคิดนโยบาย การขยายอายุรับเงินชราภาพ จาก 55 ปี เป็น 65 ปี

2. แก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้รัฐต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราส่วนที่เท่ากันหรือมากกว่าผู้ประกอบการและผู้ประกันตน

3. ให้ขยายฐานสมาชิกประกันสังคมให้กว้างมากขึ้นให้ครอบคลุมถึงลูกจ้างภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการ คนทำงานบ้าน และแรงงานข้ามชาติ

4. ปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ บริหารจัดการที่มีแบบแผน มีวิสัยทัศน์ มั่นคง ยั่งยืน

5. ดำเนินงานการลงทุนและการได้รับผลตอบแทนที่ยั่งยืนด้วยการสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม สร้างบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขของประกันสังคมเอง เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน และประโยชน์ที่ได้เงินจากการลงทุนนำไปสร้างความมั่นคง ยั่งยืนให้การประกันสังคม และการจัดตั้งสถาบันการเงิน (ธนาคารแรงงาน) เพื่อการระดมทุนจากผู้ประกันตนจากการออม การให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน และผู้ประกอบการ (นายจ้าง)

6. กระบวนการปฏิรูปประกันสังคมต้องเป็นประชาธิปไตยผ่านความเห็นชอบของผู้ประกันตน เพราะเงินกว่า 2.5 ล้านล้านบาท ของกองทุนประกันสังคมส่วนใหญ่เป็นของคนงานหรือผู้ประกันตน ดังเช่นครั้งนี้ คือ การขยายสิทธิประกันสังคมชราภาพจาก 55 ปี เป็น 65 ปี ไม่ผ่านความเห็นชอบ ไม่ผ่านความคิดเห็นจากผู้ประกันตน เป็นเหตุผลที่ สสรท. ออกแถลงการณ์คัดค้านเป็นเบื้องต้น และจะเรียกประชุมองค์กรสมาชิกและเครือข่ายเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านต่อไปจนถึงที่สุด

อ่านข่าวอื่น :

นายกฯ เข้าทำเนียบครั้งแรก นำ รมต.ถวายสัตย์ - ครม.ใหม่คึก

“ลุงป้อม”-“ผู้กอง” สร้างดาวคนละดวง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง