"แม่สาย" น้ำท่วมหนัก คำถามใหญ่แจ้งเตือนภัยหน้าที่ใคร

ภัยพิบัติ
12 ก.ย. 67
19:47
1,244
Logo Thai PBS
"แม่สาย" น้ำท่วมหนัก คำถามใหญ่แจ้งเตือนภัยหน้าที่ใคร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ประเทศไทยมีหน่วยงานเกี่ยวข้องกับระบบเตือนภัยมากกว่า 14 หน่วยงาน แต่เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทำไมจึงยังถูกตั้งคำถาม การเตือนภัยยังไร้ประสิทธิภาพ  เหตุใดแต่ละหน่วยงานมีข้อมูล แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้เตือนภัยมากนัก

อ่านข่าว : "เปิ้ล นาคร" ดรีมทีมเจ็ตสกีกู้ภัยน้ำท่วมเชียงราย

เมื่อฝนตกหนักสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ คือ น้ำจะท่วมสูงแค่ไหน แต่ทุกวันนี้ยังเป็นต่างหน่วยต่างเตือน การคาดการณ์ภัยที่จะมาถึงจึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนในแต่ละพื้นที่ จึงทำให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่กับชาวแม่สาย

ประเทศไทยมีความพยายามพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉิน "Cell Broadcast Service" ผ่านมือถือครั้งแรก 5 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และ รัสเซีย แต่จะเริ่มต้นปี 2568 

นั้นเป็นเรื่องในอนาคตแต่ปัจจุบันไทยมีระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าถึง 5 หน่วยงานดูแล ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา, ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ, กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรธรณี และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ภารกิจ คือ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ การแจ้งเตือนล่วงหน้า การแจ้งเตือน การอพยพ และนอกจากนี้ไทยยังมีหน่วยงานเกี่ยวข้องกับระบบเตือนภัยมากกว่า 14 หน่วยงานด้วยกันที่ ปภ.รวบรวมไว้ แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติความเสียหายยังเกิดขึ้นรุนแรงแรง

ภาพสะท้อนที่ทำให้มีการตั้งคำถามถึงการเตือนภัยไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ คือ ผู้ประสบภัยใน อ.แม่สาย ต้องติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 30 ชั่วโมง ติดค้างอยู่บนหลังคา หลายคนอพยพออกไม่ทัน แม้จะแจ้งเตือนประกาศผ่านเสียงตามสาย แต่ก็ยังเกิดความเสียหายครั้งใหญ่ ทำให้ภาคประชาชนเชื่อว่า ชาวบ้านอาจยังไม่มั่นใจข้อมูลที่แจ้งเตือนภัย เพราะระดับความรุนแรงไม่ชัดเจน

จึงเสนอให้รัฐบาล มีระบบการสื่อสารเตือนภัยอย่างเป็นระบบ มีหน่วยหลักเป็นผู้ทำหน้าที่ประกาศแจ้งเตือนภัย ผ่านช่องทางออนไลน์ โทรทัศน์ ส่งข้อความสั้น SMS เพื่อให้ชาวบ้านมั่นใจว่า "เป็นข้อมูลจริง"

นายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า 

นอกจากนี้ เรื่องของแผนเผชิญเหตุ ก็เป็นอีกประเด็นที่นักวิชาการมองว่าภาครัฐล้มเหลว การบรรเทาทุกข์ล่าช้า เพราะติดระบบราชการ ประชาชนผู้ประสบภัยต้องติดอยู่ในสถานการณ์ความเสี่ยงนานเกินไปกว่าที่ภาครัฐจะส่งทีมไปช่วยเหลือ ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องปฏิรูปเช่นเดียวกัน

ขณะที่ผ่านมาภาคประชาชนมีการเสนอ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้มีการทำระบบการเตือนภัยผ่าน SMS เป็น "ระบบเตือนภัยล่วงหน้า" หรือ "Early Warning System" แต่ที่ผ่านมายังไม่เกิดเป็นรูปธรรม ทั้งที่น้ำท่วมรอบนี้ไทยมีบทเรียนการเตือนภัยและความเสียหายจากเวียดนาม ลาว และจีน มาก่อนหน้าด้วยซ้ำ

อ่านข่าว : รวมความประทับใจ "คนไทยไม่ทิ้งกัน" ฝ่าวิกฤตน้ำท่วมเชียงราย

  • ทวีปอเมริกา ในสหรัฐฯ เน้นการแจ้งเตือนไปที่การเตือนภัยพิบัติ ระบบพื้นฐานใช้แจ้งเมื่อเกิดวิกฤต ผ่านข้อความสั้นไม่เกิน 90 ตัวอักษรแบบเร่งด่วน
  • วีปยุโรป ใช้ระบบ EU-Alert ส่วนใหญ่จะเป็นการแจ้งเตือนภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น เหตุการณ์ฉุกเฉิน การโจมตีของผู้ก่อการร้าย สภาพอากาศที่รุนแรง
  • ทวีปเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น ระบบ J-Alert ​เป็นการเผยแพร่ข้อมูลจากรัฐบาลสู่สาธารณะอย่างรวดเร็ว เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม หรือแม้กระทั่งการถูกโจมตี ทำให้อพยพได้ทันท่วงที

ที่น่าสนใจคือ เกาหลีใต้ เพราะไม่ว่าประชาชนอยู่ในเกาหลีใต้หรือไม่ แต่หากเกิดเหตุภัยพิบัติจะได้รับข้อมูลข่าวสารแจ้งเตือนทั้งภาษาเกาหลี จีน และอังกฤษ

สำหรับประเทศไทยมีการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติแล้ว เป็นการแจ้งเตือนทั้งบนระบบโทรศัพท์ และโทรทัศน์ภาคพื้นดิน หากระบบนี้เปิดใช้ก็มีความคาดหวังจะทำให้การแจ้งเตือนมีประสิทธิภาพเหมือนกับหลายประเทศ

 
 
 
ข่าวที่เกี่ยวข้อง