ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แบ่งเกาะกูด ขุมทรัพย์ใต้ทะเล "ไทย-กัมพูชา" จุดจบ "แพทองธาร"

การเมือง
25 ต.ค. 67
19:58
49,778
Logo Thai PBS
แบ่งเกาะกูด ขุมทรัพย์ใต้ทะเล "ไทย-กัมพูชา" จุดจบ "แพทองธาร"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ความวัว คว่ำข้อสังเกตรายงานนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย ไม่เพียงดับฝันการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ท่ามกลางข้อกังขา การเอาตัวรอด เพื่อหวังหลุดพ้นจากปมคดีฟ้อง "ทักษิณ-เพื่อไทย" ครอบงำ 6 พรรคร่วม และยังสร้างความคาใจให้กับเพื่อนอย่างพรรคประชาชน ไม่ทันจางหาย

แต่ความควายเรื่อง "เกาะกูด" ได้จังหวะเข้ามาแทรก อย่างปิดไม่มิด หลังมีการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิก MOU 2544 ในยุค "ทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันจะนำมาเป็นเครื่องมือในการแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล และไทยอาจจะเสียเปรียบการปักปันเขตแดนทางทะเล แม้ "ภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทย ตั้งแต่สมัยฝรั่งเศส ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงว่าจะเสียเกาะกูดหรือไม่

"อย่าหลงประเด็น สิ่งสำคัญ คือ ข้างล่างใต้ทะเลที่มีประโยชน์ น้ำมันใช้ได้ ซึ่งอีก 10 ปีจะลดความสำคัญลง และกว่าจะตกลงกันได้ หากเอาผลประโยชน์ขึ้นมา ก็ปา 5 ปี หากไม่ทำอะไรภายใน 10 ปี ก็ไม่มีความหมาย เพราะปัจจุบันมีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่น่าเสียดาย ที่ประเทศชาติจะต้องสูญเสียทรัพยากรตรงนี้ไป เรื่องนี้ต้องเจรจาแต่ที่สำคัญต้องทำความเข้าใจกับประชาชน" รมว.กลาโหม ระบุตอนหนึ่ง และย้ำว่า

อย่าขยายเป็นเรื่องการยึดดินแดน เสียดินแดน เสียชาติขึ้นมา เพราะเป็นการปลุกความคลั่งชาติขึ้นมา ทำร้ายผลประโยชน์ที่ประเทศควรจะได้รับ

ภูมิธรรม กล่าวว่า ขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาเรื่องเขตแดน แต่ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะทุกประเทศมีหลักการที่ใช้คือวัดจากไหล่ทวีปมา 200 ไมล์ทะเล และอ่าวไทยแคบ เมื่อมีการประกาศ 200 ไมล์ทะเล เราก็ 200 ไมล์ทะเลตาม ทำให้ต่างฝ่ายมีพื้นที่ทับซ้อนกัน และ ในโลกนี้มีหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม ก็ใช้วิธีการพูดคุยกันเพื่อตกลงผลประโยชน์ แต่ไม่ได้หมายถึงเรื่องดินแดน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาไทยและกัมพูชา เคยมีความพยายามในการเจรจากันมาแล้ว โดยเฉพาะเมื่อปี 2544 รัฐบาลไทย-กัมพูชาได้ลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร (MOU 44) เพื่อหาข้อสรุปเรื่องการปักปันเขตแดน และเรื่องการพัฒนาร่วมทรัพยากรพลังงานในลักษณะพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint Development Area : JDA) ทว่าไม่มีความคืบหน้ามากนัก และไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้

กระทั่งต่อมา ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเห็นสัญญาณการรื้อฟื้นการเจรจารอบใหม่ จนถึงสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ภายใต้การนำของ "เศรษฐา ทวีสิน" และ "แพทองธาร ชินวัตร" ได้ปัดฝุ่นรื้อฟื้นการเจรจาปักปันพื้นที่ดังกล่าวตามบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา พ.ศ.2544 (MOU 44) อีกครั้ง โดยพยายามจัดสรรแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลที่เต็มไปด้วยแหล่งน้ำมันดิบกว่า 300 ล้านบาเรล ก๊าซธรรมชาติ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท

เพียงแค่รัฐบาลเริ่มขยับ ก็เจอแรงเสียดทางตั้งแต่ต้นทาง โดยมีคำถามถึง เหตุผลที่ต้องรีบเร่งแบ่งผลประโยชน์กัน เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานระหว่างไทย-กัมพูชานั้น แท้ที่จริงแล้ว เป็นความมั่นคงทางพลังงานของใครกันแน่ นอกจากนี้ยังมีอีกหลาย ๆ คำถามตามมา จนถึงขั้นต้องติด #saveเกาะกูดเลิกอนุญาตกาสิโน เลยทีเดียว

รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เฟซบุ๊ก "อย่าปล่อยให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มด้วยข้ออ้างเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน" ระบุว่า ข้ออ้างรัฐบาลเจรจาพื้นที่อ้างว่าทับซ้อนกันทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน เป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มโหฬารถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร และไม่มีประเทศไหนที่จะมีพื้นที่อ้างว่าทับซ้อนกันที่มีขนาดใหญ่ได้ถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร เช่นกรณีนี้

"ขอให้ดูแหล่ง JDA พื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย มาเลเซียมีขนาดพื้นที่เพียง 7,250 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น หากจะมีพื้นที่ที่ทับซ้อนกันจริงระหว่างไทยกับกัมพูชา ก็ไม่ควรมีพื้นที่ใหญ่เกินกว่าแหล่ง JDA ที่เป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่าง ไทย กับ มาเลเซีย รัฐบาลที่อ้างว่าสนิทชิดเชื้อกับผู้นำฝ่ายกัมพูชาควรเกลี้ยกล่อมให้กัมพูชายอมรับการเจรจาแบ่งเขตแดน ตามกฎหมายทะเลให้เสร็จสิ้นเสียก่อน การจัดการผลประโยชน์ทางทะเล"

รสนา ระบุอีกว่า การเจรจาแบ่งเขตแดน และแบ่งผลประโยชน์ตาม MOU 2544 ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายทะเล ย่อมมีข้อน่าสงสัยในเจตนาและความโปร่งใสของรัฐบาลว่าเป็นเจตนาดีต่อประเทศจริงหรือไม่ หรือสนใจเพียงผลประโยชน์ของนักการเมืองและกลุ่มทุนเท่านั้น ใช่หรือไม่

การแบ่งเขตแดนและแบ่งผลประโยชน์แบบในข้อตกลง MOU 2544 ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายทะเล ที่เส้นเขตแดนทางทะเลต้องลากเส้นกึ่งกลางจากเกาะกูดของไทย และเกาะกงของกัมพูชา

"การแบ่งผลประโยชน์ตามรูปที่ 1 กัมพูชาจะสามารถอ้างสิทธิเป็นเจ้าของดินแดนเพิ่มขึ้นในภายหลังได้ ดินแดนที่เคยเป็นของไทยตามกฎหมายทะเล จะกลายเป็นดินแดนของกัมพูชา เพราะการมีผลประโยชน์แม้เพียงร้อยละ 10 ก็ย่อมสามารถอ้างสิทธิในดินแดนตรงจุดนั้นได้ ใช่หรือไม่" รสนา ตั้งคำถาม

นอกจากนี้ การกำหนดสัดส่วนแบ่งผลประโยชน์เช่นนี้ ย่อมกระทบต่อดินแดนในอธิปไตยของไทยทั้งดินแดนส่วนที่อยู่เหนือ และอยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนืออย่างแน่นอน ใช่หรือไม่

การแบ่งเขตแดนและแบ่งผลประโยชน์แบบในข้อตกลง MOU 2544 ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายทะเล ที่เส้นเขตแดนทางทะเลต้องลากเส้นกึ่งกลางจากเกาะกูดของไทย และเกาะกงของกัมพูชา (รูป 2)

ขณะที่ "สมชาย แสวงการ" อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์เอกสารและเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก ขอให้ ยุติการจรจาแบ่งผลประโยชน์แหล่งพลังงานมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 10 ล้านล้านบาท ในอ่าวไทย กับ กัมพูชา เพราะหลักฐานประวัติศาสตร์ชัดเจนว่า ไม่มีพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในอ่าวไทยใด ๆ เหนือเกาะกูด ตามที่กัมพูชาอ้างประกาศฝ่ายเดียวตามเส้นเขตแดนทางทะเลที่ล้ำเข้ามาในอ่าวไทย เมื่อ พ.ศ.2515 แม้ไทยจะประกาศคัดค้านเมื่อ พ.ศ.2516 ตามเส้นแบ่งเขตที่ถูกต้องคือการยึดแนวแบ่งครึ่งระหว่าง เกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา

"สิ่งสำคัญรัฐบาลไทยต้องยึดหลักตามสนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1703 หรือ พ.ศ.2453 ที่รัชกาลที่ 5 ทรงยอมเสียดินแดนยกเสียมราฐ พระตระบอง ศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส เพื่อแลกคืนจังหวัดจันทบุรี ตราดและเกาะกง ที่ฝรั่งเศสยึดไว้กลับมาเป็นของไทย รัฐบาลจึงไม่ควรเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ใด ๆ" สมชาย ระบุตอนหนึ่ง

ไม่ต่างจาก ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ "ดร.นิว" นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์เฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ว่าเกาะกูดเป็นของไทย ไม่ใช่สิทธิ์ที่ใครจะมาเคลม ไม่ใช่สิทธิ์ที่ใครจะมาอ้างพื้นที่ทับซ้อน ไม่ใช่สิทธิ์ที่ใครจะมาอ้างผลประโยชน์ทับซ้อนในทะเล

รัฐบาลไหนประกอบด้วยพรรคการเมืองใดบ้าง กล้าขายชาติ กล้าเอาผลประโยชน์ของปวงชนชาวไทยไปประเคนให้รัฐต่างชาติแลกกับผลประโยชน์ต่างตอบแทน ก็ให้รู้ไป

เช่นเดียวกับ ไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊ก ต้านการขายชาติยกเกาะกูดให้กัมพูชา โดยต้องการให้เป็นพื้นที่ทับซ้อนนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องแตกหักที่ทุกเหล่าทัพและคนไทยไม่มีวันยอมรับได้

แม้ขณะนี้ ยังไม่ได้ข้อยุติ และยังไม่มีใครทราบว่าการเจรจาของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว มีความก้าวหน้าไประดับใด แต่การโยนหินก้อนใหญ่เพื่อแหวกน้ำให้เห็นตัวปลา และแบ่งผลประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องง่าย จากภาคประชาสังคม ประชาชน และขบวนการตาสับปะรดที่จับจ้องไม่ละสายตา

อ่านข่าว :

"ป่าไม้" ตอบปมแผ่นดินงอกไร่เชิญตะวัน แค่น้ำห้วยสักขึ้นลง

ย้าย ผกก.สภ.ปะนาเระ เซ่นคาร์บอมบ์ใกล้โรงพัก-ที่ว่าการอำเภอ

กินได้ "องุ่นไชน์มัสแคท" อย.แนะล้างให้ถูกวิธีเพื่อลดสารตกค้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง