วันนี้ (1 พ.ค.2568) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคประชาชน ออกมาเรียกร้องอย่างดุเดือดหลังการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเชิญตัวแทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ กรมสรรพากรเข้าชี้แจง ถึงกรณีการตรวจสอบการซื้อหุ้นมูลค่า 4,434.5 ล้านบาท ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) ที่ไม่มีดอกเบี้ยและกำหนดการชำระเงิน ซึ่งอาจเข้าข่ายนิติกรรมอำพรางหรือการหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้
วิโรจน์ เผยว่า ประเด็นสำคัญคือคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีดังกล่าว กลับมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม โดยขาดผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ตำแหน่ง ซึ่งต้องได้รับการแต่งตั้งจาก "นายพิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง หากคณะกรรมการยังไม่ครบองค์ จะไม่สามารถวินิจฉัยคดีของ น.ส.แพทองธาร ได้ สร้างความล่าช้าและอาจนำไปสู่ข้อครหาเรื่องความโปร่งใส
กังวลว่าหากมีการเตะถ่วง ไม่แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน นายพิชัยอาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสามารถร้องต่อ ป.ป.ช. ได้
วิโรจน์กล่าว พร้อมระบุว่า คณะกรรมาธิการฯ เตรียมทำหนังสือถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่
- นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง เกี่ยวกับการใช้อำนาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรให้ครบองค์คณะ ซึ่งหากไม่ได้เหมือนกันก็จะนำไปสู่หลักฐานที่ชี้ว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ ร้องต่อ ป.ป.ช.ได้
- นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ถึงกรอบเวลาในการรวบรวมข้อเท็จจริง พร้อมทั้งส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรเมื่อไหร่ เช่นกรอบเวลาอย่างช้าที่สุด ที่จะนำไปร้องต่อ ป.ป.ช.ได้ และถามว่า หากประชาชนใช้โมเดลของนายกรัฐมนตรี กรมสรรพากรจะไม่ไปกล่าวหาว่าประชาชนทำความผิดใช่หรือไม่ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค
- นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ขอให้ใช้อำนาจทางกฎหมาย ทำหนังสือ เพราะปัจจุบันกรมสรรพากรยังไม่มีระเบียบในการทำงานเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี กรณีใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นใด หากปล่อยไปเช่นนี้ก็จะเกิดความเสียหายต่อการจัดเก็บภาษีเสียหายต่อราชการ เสียหายต่อประชาชน ซึ่งหากพบว่ามีการละเว้นหรือเตะถ่วงในหน่วยงานใด มีการยกกรณี คุณหญิง เบญจา หลุยเจริญ มาชี้เห็น ถึงโทษอาญาและจำคุกที่จะตามมา
ต่อมา นายวิโรจน์ ตั้งคำถามต่อกรมสรรพากรว่า หากประชาชนทั่วไปโอนหุ้นให้บุตรที่มีมูลค่าเกิน 20 ล้านบาท/ปี ซึ่งต้องเสียภาษีการรับให้ร้อยละ 5 สำหรับส่วนที่เกิน และใช้รูปแบบตั๋ว PN เช่นเดียวกับกรณีของ น.ส.แพทองธาร กรมสรรพากรจะดำเนินการจัดเก็บภาษีหรือไม่ ตัวแทนจากกรมสรรพากรตอบเพียงว่า "อยู่ในขั้นตอนรวบรวมข้อเท็จจริง" และปฏิเสธให้กรอบเวลาที่ชัดเจน ทำให้เกิดคำถามถึงความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย
หากประชาชนต้องจ่ายภาษีไปก่อน แต่ต่อมาคณะกรรมการวินิจฉัยว่ากรณีของนายกฯ ทำได้ กรมสรรพากรจะคืนภาษีให้ประชาชนหรือไม่ ? หรือประชาชนจะเสียเปรียบ ?
นายวิโรจน์ ตั้งข้อสังเกต พร้อมเสนอให้กรมสรรพากรออกระเบียบชั่วคราว เพื่อระงับการเรียกเก็บภาษีในกรณีที่คล้ายกัน จนกว่าคดีของ น.ส.แพทองธาร จะมีคำวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ตัวแทนกรมสรรพากรยืนยันว่าไม่พิจารณา "กรณีสมมติ" และขอให้ยึดข้อเท็จจริงเท่านั้น
นายวิโรจน์ ยังยกกรณี คุณหญิง เบญจา หลุยเจริญ อดีตผู้บริหารกรมสรรพากร ที่ถูกดำเนินคดีและต้องโทษจำคุกจากความผิดเกี่ยวกับภาษี เพื่อเตือนว่าการละเว้นหน้าที่หรือการบังคับใช้กฎหมายที่ลักลั่น อาจนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงทั้งต่อราชการและประชาชน พร้อมย้ำว่า การที่กรมสรรพากรยังไม่มีระเบียบชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ตั๋ว PN หรือเครื่องมือทางการเงินอื่นในการโอนหุ้น อาจสร้าง "สุญญากาศทางกฎหมาย" ทำให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าการปฏิบัติตามรูปแบบของนายกฯ จะได้รับการผ่อนผันเช่นเดียวกันหรือไม่
คณะกรรมาธิการฯ ภายใต้การนำของ นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ จะเร่งติดตามความคืบหน้า โดยกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงกรอบเวลาและความคืบหน้าในการแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร วิโรจน์ย้ำว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นกรณีของนายกรัฐมนตรีหรือประชาชนทั่วไป เพื่อรักษาความเป็นธรรมและความเชื่อมั่นในระบบภาษีของประเทศ
อ่านข่าวอื่น :
ระส่ำ ราคา“ปาล์มร่วง” ชาวสวนร้องขอ 5.50บ/กก. ชี้ต้นทุนพุ่งแซงรายรับ