ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อาคารราชการทิ้งร้าง สร้างไม่เสร็จ "ใคร" ต้องรับผิดชอบ ?

สังคม
6 พ.ค. 68
14:46
137
Logo Thai PBS
อาคารราชการทิ้งร้าง สร้างไม่เสร็จ "ใคร" ต้องรับผิดชอบ ?
อ่านให้ฟัง
07:16อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ACT แจง "3 ปีศาจ" ทำก่อสร้างรัฐร้าง "จนท.รัฐ-ผู้รับเหมา-คอร์รัปชัน" ชวนจับตาอาคาร "สำนัก.งบฯ-กสทช."

ท่ามกลางกระแสข่าวอาคารราชการของหน่วยงานสำคัญระดับประเทศมีประเด็นถูกทิ้งร้าง สร้างไม่เสร็จ ทั้งอาคารสำนักงบประมาณ มูลค่า 2,100 ล้านบาท และ อาคาร กสทช. มูลค่า 2,600 ล้านบาท รวมถึงอาคารอื่น ๆ เช่น สนามกีฬาชุมชน ศูนย์ท่องเที่ยว ฯลฯ ทั่วประเทศอีกนับไม่ถ้วน ที่ล้วนแล้วแต่มาจากเงินภาษีประชาชน

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยนายมานะ นิมิตรมงคล ชวนสังคมตั้งคำถามใครควรรับผิดชอบจัดการปัญหานี้ ถ้า "ปีศาจ 3 ตน" ต้นตอปัญหา ได้แก่ เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้รับเหมา และการทุจริตคอร์รัปชัน

ทั้งนี้ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ขยายความด้วยการยกตัวอย่างความล้มเหลวงานก่อสร้างของราชการที่เป็นกระแสข่าวดังก่อนหน้านี้ ได้แก่

โครงการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน สมุทรปราการ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท สาเหตุจากการขบวนการสมคบคิดของนักการเมือง ข้าราชการและผู้รับเหมาจำนวนมาก โครงการสร้างสถานีตำรวจทั่วประเทศ 396 แห่ง มูลค่า 5,848 ล้านบาท เกิดจากการฮั้วประมูลที่ชักใยโดยอดีตรองนายกรัฐมนตรีแล้วนำงานไปแบ่งขายโควต้าให้ผู้รับเหมารายย่อยหลายรายทั่วประเทศ

อีกโครงการคือ "อควาเรียมหอยสังข์" จ.สงขลา มูลค่า 1,400 ล้านบาท ที่โกงกินโดยขบวนการของอดีตข้าราชการระดับสูงหลายคนในกระทรวงศึกษาธิการ

ล่าสุดกรณีสำนักงบประมาณและอาคาร กสทช.ด้วยมูลค่าโครงการสูงถึงหลักพันล้านบาทจึงชวนสังคมจับตาผลการตรวจสอบความล้มเหลวการก่อสร้างสองโครงการนี้ร่วมกันครับ

นายมานะกล่าวว่าจากหลาย ๆ สถานการณ์พบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้งานก่อสร้างของส่วนราชการไม่เสร็จ หรือเกิดกรณีผู้รับเหมาทิ้งงานนั้น ไม่ใช่เพราะการทุจริตเพียงเหตุผลเดียว แต่ยังมีองค์ประกอบของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและปัจจัยแวดล้อมอย่างระบบราชการที่เอื้อให้เกิดการทุจริตและความล้มเหลวในการทำงาน ดังนี้

กรณีเจ้าหน้าที่ผิดพลาดหรือด้อยประสิทธิภาพ เช่น

  1. แบบก่อสร้างไม่ชัดเจน มีการแก้แบบ เพิ่มงาน ของานแถม แล้วโยนเป็นภาระผู้รับเหมา
  2. หน่วยงานมีปัญหาการเบิกจ่ายเงิน เช่น ช่วงโควิดหน่วยงานรัฐต่างถูกตัดงบประมาณจำนวนมาก
  3. หน่วยงานขาดประสบการณ์บริหารงานก่อสร้าง พิจารณาอนุมัติแบบเพื่อก่อสร้างจริง อนุมัติวัสดุ/อุปกรณ์ล่าช้า การตรวจรับงาน/เบิกจ่ายเงินล่าช้า เป็นเหตุให้ผู้รับเหมาขาดเงินหมุนเวียน
  4. เจ้าหน้าที่ เช่น กรรมการตรวจรับงาน ช่างคุมงาน ไม่มีความรู้เพียงพอ ขาดประสบการณ์ ในการคุมงานและตัดสินใจ ขั้นตอนการบริหารงานที่ซับซ้อนและมากเกินความจำเป็น

  5. การแบ่งงวดงาน/งวดเงิน ไม่สอดคล้องกับเนื้องานที่ทำจริง ทำให้ผู้รับเหมาต้องลงทุนเยอะ แต่เบิกเงินได้น้อย
  6. งานเริ่มล่าช้าเพราะหน่วยงานมีข้อติดขัด ส่งผลให้แผนงานผู้รับเหมาผิดพลาด เช่น การส่งมอบที่ดิน
  7. เจ้าหน้าที่สั่งงานปากเปล่า ทั้งที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนอนุมัติของราชการครบถ้วน

กรณีผู้รับเหมา ปัญหาที่พบ เช่น

  1. ผิดพลาดในการบริหารจัดการ เช่น ขาดประสบการณ์ในงานลักษณะนั้น เจองานที่ต้องใช้เทคนิคซับซ้อน รับงานในราคาต่ำกว่าจริง คำนวณต้นทุนผิดพลาด เงินขาดสภาพคล่อง/หาแหล่งกู้ยืมไม่ได้ตามแผนหรือรับหลายงานพร้อมกัน ราคาวัสดุก่อสร้างแพงขึ้นมากเกินคาด ขาดแรงงานมีฝีมือ ฯลฯ
  2. ถูกโกงหรือไปร่วมขบวนการโกง เช่น ซื้องานมาจากนายหน้า รับเหมาช่วง แล้วถูกเอาเปรียบหรือถูกหักค่านายหน้ามากเกินไป ถูกผู้มีอิทธิพลบีบจนไม่สามารถซื้อวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ได้ ถูกเจ้าถิ่นบังคับให้จ้างคนของเขามาถมดินในราคาแพงหรือเรียกค่าเงินกินเปล่าค่าถมดิน เป็นต้น
  3. ตั้งใจทิ้งงาน เมื่อได้รับเงินงวดตามต้องการแล้ว
  4. เจอปัญหาใหญ่แบบคาดไม่ถึง ทำให้ไปต่อไม่ได้ เช่น พื้นดินทรุดตัวมาก เกิดโรคโควิด 19 เป็นต้น

หลายโครงการพบว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เข้มงวดรัดกุมมาก จนผู้รับเหมาไม่สามารถลดสเปก ลดเนื้องาน ขอแก้แบบ หรือขอขยายเวลาก่อสร้างได้เหมือนที่เคยปฏิบัติมา สุดท้ายจบด้วยการทิ้งงาน เหมือนที่คนวงในอธิบายเรื่องอาคาร สตง. ประจำจังหวัดถูกทิ้งงานนับสิบแห่งเมื่องานก่อสร้างไปต่อไม่ได้ กลายเป็นภาระให้หน่วยงานรัฐเริ่มขั้นตอนหาผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการต่อ ทำให้งานล่าช้าและเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นอีก

สุดท้าย กรณีคอร์รัปชัน เช่น

  1. จ่ายเงินใต้โต๊ะ ค่าฮั้ว ล็อกทีโออาร์เพื่อล็อกผู้รับเหมา ล็อกสเปกวัสดุอุปกรณ์ ค่านายหน้า ทุกอย่างต้องจ่ายหนักมากจนไม่เหลือกำไร
  2. จ่ายเงินค่าเร่งเวลาเมื่อขออนุมัติวัสดุอุปกรณ์ หรือจ่ายเมื่ออยากใช้ของราคาถูก จ่ายทุกขั้นตอนการตรวจรับงาน เบิกจ่ายเงิน อนุมัติขั้นตอนก่อสร้าง การแก้ไขแบบรูปรายการและการบริหารสัญญา
  3. มีการล็อกสเปกวัสดุอุปกรณ์บางอย่างที่ผู้รับเหมาไม่รู้มาก่อน หรือไม่สามารถซื้อหามาได้
  4. ถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง เพราะไม่ยอมจ่ายเบี้ยใบ้รายทาง หรือไม่ใช่พวกพ้อง หรือแหวกฮั้วเข้ามา
  5. ถูกคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นมารีดไถ เช่น ตำรวจ เทศกิจ ตม. แรงงาน อปท.ฯลฯ

ถามว่า ปัญหานี้ฟ้องร้องค่าเสียหายได้มั้ย คำตอบคือ แม้จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ก็ไม่คุ้ม และบางครั้งก็ไม่มีหลักประกันว่างานนั้นจะเสร็จได้หากมีการโกงกินหนักมากอยู่แล้ว ผมคิดว่า ผู้รับเหมาที่ดีมีอยู่จำนวนมาก แต่ปีศาจที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเจ้าของโครงการและนักการเมืองที่คดโกงคอยอาศัยช่องโหว่ของระบบและอำนาจที่มี เพื่อกอบโกยให้ตนเองและพวกพ้อง ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าว

อ่านข่าวอื่น :

คนรักทุเรียนต้องรู้! เคล็ดลับกินอย่างไรให้อร่อยปากไม่ลำบากกาย

ของบ “พันล้าน” รีโนเวทสภา อยู่ดีไม่ว่าดีหาทาง “เรียกแขก”

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง