วันนี้ (8 พ.ค.2568) พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง กรณีเหตุอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่ม ว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวนยังคงอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานทั้ง พยานบุคคล พยานแวดล้อม พยานวัตถุ เช่น เหล็ก ที่ใช้มีลักษณะอย่างไร รวมถึงเอกสารที่มีการขอมาตั้งแต่เริ่มทำ TOR โครงการ, สัญญาการจ้าง ทั้งการออกแบบ, การจ้างควบคุมงาน, จ้างการก่อสร้าง เบื้องต้นตำรวจได้มองแนวทางการดำเนินคดีไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ออกแบบซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการผู้มีอำนาจ , วิศวกรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และ ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย)
กลุ่ม ที่ 2 คือ กลุ่มผู้ควบคุมงาน เช่น กรรมการผู้มีอำนาจ , วิศวกรที่เกี่ยวข้องกับกิจการร่วมค้า PKW (พีเอ็น ซิงค์โครไนซ์, ว.และสหาย คอนซัลแตนตส์ , เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเมนท์
และกลุ่มที่ 3 คือผู้ก่อสร้าง ประกอบด้วยกรรมการผู้มีอำนาจ , วิศวกรที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด , บริษัท ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งขณะนี้มีข้อมูลและข้อเท็จจริงว่า มีการทำ TOR และว่าจ้าง 2 บริษัท ในการออกแบบอาคาร ซึ่งทางพนักงานสอบสวนได้ส่งแบบไปให้สภาวิศวกร วิศวกรรมสถาน และผู้เชี่ยวชาญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบว่า แบบดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือไม่ และในสัปดาห์หน้าจะทราบผลดังกล่าว
ทั้งนี้ผลดังกล่าวจะสอดคล้องกับรายงานการสืบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า สิ่งที่มีการออกแบบดังกล่าวมีความไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวงและมาตรฐาน ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลจากผู้เชี่ยวชาญในสัปดาห์หน้าในประเด็นการออกแบบ ซึ่งก็จะมี 2 บริษัทที่เกี่ยวข้อง ถัดมาคือประเด็นการก่อสร้างอาคารที่ได้มีการออก TOR และมีการว่าจ้างกิจการร่วมค้า 2 บริษัท เบื้องต้นได้มีการนำวัตถุที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่น เหล็กและคอนกรีตส่งพิสูจน์ ในช่วง 7 วันแรกหลังเกิดเหตุ
พนักงานสอบสวน ดีเอสไอ และกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้เดินทางไปเก็บหลักฐานจากที่เกิดเหตุและเก็บชิ้นงานทุกวัน ซึ่งเหล็กได้มีการจัดเก็บไปแล้วทั้งหมด 315 ชิ้น ส่วนปูน ได้มีการเจาะตั้งแต่บริเวณ พื้น,เสา,ปล่องลิฟต์ ลงมาถึงบริเวณชั้นล่าง ได้ชิ้นส่วนตัวอย่างมาทั้งหมด 75 ชิ้น เบื้องต้นได้ทำการตรวจสอบแล้ว และในสัปดาห์หน้าจะได้ผลในส่วนนี้ โดยขณะนี้ได้รับผลของเหล็กและปูนบางส่วนแต่ยังไม่ครบถ้วน ทำให้พนักงานสอบสวนยังคงรอพยานหลักฐานในส่วนนี้ และประเด็นที่ 3 คือการจ้าง ควบคุมงานก่อสร้างที่ได้
มีการทำ TOR และว่าจ้างกลุ่มกิจการร่วมค้า ตรงส่วนนี้มีประเด็นเรื่องของการแก้ไขแบบการก่อสร้างผนังปล่องลิฟต์ หรือ Core Lift ซึ่งปรากฏประเด็นขึ้นมาว่าพบวิศวกรถูกปลอมลายเซ็น ซึ่งส่วนนี้ทางพนักงานสอบสวนได้เอกสารข้อเท็จจริงมาแล้วและผลการตรวจสอบจะออกในสัปดาห์หน้าพร้อมกัน โดยทางตำรวจได้ประสานข้อมูลการทำงานร่วมกับดีเอสไอ เบื้องต้นพบว่าจากการสอบปากคำวิศวกร 40 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงลายมือชื่อ พบในจำนวน 36 คนที่เข้าให้ข้อมูล มี 28 คนอ้างว่าถูกปลอมลายเซ็น ซึ่งก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องตรวจสอบ
ส่วนการสอบปากคำผู้แทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจรับงาน พนักงานสอบสวนมีการสอบปากคำไปแล้ว 36 ปาก โดยหากได้รับผลการตรวจสอบทั้งหมดครบถ้วนแล้ว พนักงานสอบสวนจะมีการนำมาพิจารณาองค์ประกอบทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทุกรูปแบบทั้งในฐานะส่วนบุคคลและนิติบุคคล เช่น กลุ่มวิศวกร ที่มีการลงลายมือชื่อ และยืนยันว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการออกหมายจับกับกลุ่มคนเหล่านี้บางส่วน
อ่านข่าว :
“ปลอดประสพ” จวกผู้ว่าฯ สตง.ไม่มาชี้แจง กมธ.สรุปสาเหตุตึกถล่ม