ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แกะรอยผลประโยชน์ "วัดไร่ขิง" เงินบริจาค-อำนาจ-โครงสร้าง-ทรัพย์สิน

อาชญากรรม
21 พ.ค. 68
12:49
823
Logo Thai PBS
แกะรอยผลประโยชน์ "วัดไร่ขิง" เงินบริจาค-อำนาจ-โครงสร้าง-ทรัพย์สิน
อ่านให้ฟัง
12:42อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รายได้เฉียดปีละ 1,000 ล้านบาทวัดไร่ขิง ThaiPBS แกะรอย เงินบริจาค รวมถึงอำนาจโครงสร้าง กิจของสงฆ์ - การดูแลวัด สมบัติและผลประโยชน์ ตามกฎหมาย ใครรับผิดชอบ?

ท่ามกลางการตรวจสอบคดี พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตตินฺธโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ยักยอกเงินวัด อย่างน้อย 300 ล้านบาท เข้าบัญชีตัวเอง

และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า ได้โอนต่อเข้าสู่บัญชี น.ส.อรัญญาวรรณ หรือ "เก็น" อายุ 28 ปี หญิงสาวคนสนิท ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจสอบสวนกลาง, ป.ป.ท., ป.ป.ง. และ สตง.ขยายผลตรวจสอบเส้นทางการเงินในขณะนี้ ที่อาจพบความผิดปกติไปถึงกว่า 800 ล้านบาท หรืออาจถึง 1,000 ล้านบาท

สังคมอาจสงสัยว่า แท้จริงแล้ว อำนาจการดูแลวัด - โครงสร้างวัด - เงินวัด ทุกประเภทใครรับผิดชอบ ? เรื่องนี้มีคำตอบ

กรณีที่เกิดขึ้นกับ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง ถ้าดูสถานะโครงสร้างทางกฎหมาย พระที่ดำรงตำแหน่ง "เจ้าอาวาส" ถือเป็นเจ้าพนักงาน มีอำนาจ หน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ดังต่อไปนี้

"มาตรา 37" เจ้าอาวาส มีหน้าที่ดังนี้

1.บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปได้ด้วยดี

2.ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่ หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้น ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกฎมหาเถรสมาคมข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

3.เป็นธุระในการศึกษาอบรมและสั่งสอนพระธรรมวินัยแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์

4.ให้ความสะดวกตามสมควรในการบำเพ็ญกุศล

"มาตรา 38" เจ้าอาวาสมีอำนาจดังนี้

1.ห้ามบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาส เข้าไปอยู่อาศัยในวัด

2.สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งไม่อยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาสออกไปเสียจากวัด

3.สั่งให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยในวัด ทำงานภายในวัดหรือให้ทำทัณฑ์บน หรือให้ขอขมาโทษ ในเมื่อบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ในวัดนั้นประพฤติผิดคำสั่งเจ้าอาวาสซึ่งได้สั่งโดยชอบด้วยพระธรรมวินัยกฎมหาเถรสมาคมข้อบังคับระเบียบหรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม

"มาตรา 45" ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา

และในฐานะที่ พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตตินฺธโร) ครั้งเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ยังมีสถานะเป็น "เจ้าคณะภาค 14" โดยตำแหน่งอีกด้วย ซึ่ง "คณะภาค 14" ต้องดูแลวัดที่อยู่ใน 4 จังหวัดด้วย ได้แก่ นครปฐม, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี และสมุทรสาคร

โดยตำแหน่งแล้ว อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ยังมีตำแหน่งอื่นอีกด้วย ทั้งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารกลางโครงการ "หมู่บ้านรักษาศีล 5", ประธานคณะอนุกรรมการหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล, รองแม่กองธรรมสนามหลวงประจำหนกลาง และที่ปรึกษาประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

สำหรับเจ้าคณะจังหวัด และรองเจ้าคณะจังหวัดในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 14 ประกอบด้วยดังนี้

1. จ.นครปฐม มีเจ้าคณะจังหวัด 1 รูป และรองเจ้าคณะจังหวัด 1 รูป

2. จ.สุพรรณบุรี มีเจ้าคณะจังหวัด 1 รูป และรองเจ้าคณะจังหวัด 3 รูป

3. จ.กาญจนบุรี มีเจ้าคณะจังหวัด 1 รูป และรองเจ้าคณะจังหวัด 3 รูป

4. จ.สมุทรสาคร มีเจ้าคณะจังหวัด 1 รูป และรองเจ้าคณะจังหวัด 1 รูป

สำหรับเงินบริจาค ทุกประเภท ที่เข้าสู่บัญชีวัดไร่ขิง ทางวัดไร่ขิง มีรูปแบบการรายงานบัญชีทางการเงินทุกวัน

ตู้บริจาค ที่มีเกือบ 200 ตู้ในวัด ในจำนวนนี้ มีของหน่วยงาน , มูลนิธิอื่น ที่ไม่ใช่ของวัดไร่ขิงมาฝากวางไว้ 18 ตู้ ทางวัดมีขั้นตอน คือ เฉพาะตู้บริจาคที่เป็นของวัดไร่ของ จะมีผู้ช่วยเจ้าอาวาส ที่รับผิดชอบ 1 คน ไขกุญแจ และ ให้เจ้าหน้าที่ รปภ.ของวัด 4 คน ช่วยนำเงินจากในตู้บริจาค ใส่ถุงผ้า และนำมาส่งที่ "แผนการเงิน" ของวัด ในทุกวัน โดยให้เริ่มไขตู้บริจาคได้ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป จากนั้นเมื่อเข้ามาส่งที่แผนการเงินของวัดไร่ขิงแล้ว จะมีการนำใส่ตู้เซฟทันที ยังไม่นับภายในช่วงเวลานั้น

แต่เช้าวันรุ่งขึ้นประมาณ 09.00 น. จะนำเงินออกจากตู้เซฟ ออกมานับโดยมีกรรมการวัด ที่ประกอบด้วยพระสงฆ์ผู้ช่วยเจ้าอาวาส, กรรมการวัด และจิตอาสาของวัดจำนวน 6 คน ช่วยกันนับเพื่อสรุปยอดส่งให้ธนาคาร จากนั้น จะมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารต่างๆ ที่วัดไร่ขิงเปิดบัญชีไว้ เป็นคนเข้ามารับที่แผนกการเงินเพื่อนำไปฝากธนาคาร

จะมีบ้างที่ติดช่วงเสาร์, อาทิตย์, วันพระใหญ่ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่การไขกล่องบริจาค จะข้ามไปทำกันวันจันทร์ หรือวัดถัดไปหลังวันหยุด หรือหลังวันพระใหญ่

ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า สำหรับเงินบริจาค ที่ไหลเข้าวัดไร่ขิง เฉพาะ "ตู้บริจาค" มีเฉลี่ยวันละเฉลี่ยวันไม่ต่ำกว่า 50,000-1,000,000 บาท อย่างวันเสาร์อาทิตย์จะหลักแสน และวันพระใหญ่ หรือ เทศกาลของวัด เฉลี่ยกว่าวันละ 1,000,000 บาท ยังไม่นับรวมกับเงินบริจาค ที่ไหลเข้าสู่มูลนิธิ 3 แห่งของวัด

ขณะที่พระอาวุโสรูปหนึ่งของวัดไร่ขิง ให้ข้อมูลว่า จำนวนตู้บริจาคที่หน่วยงานต่างๆ นำมาฝากตั้งไว้ในวัด จำนวน 18 ตู้นั้น ทางพระและวัดไร่ขิง ไม่เกี่ยวข้องกับการนับเงิน หรือ รับรู้การบริจาค เพียงแต่วัดได้อนุญาตให้หน่วยนั้นๆ มาวางตั้งตู้ได้เท่านั้น ส่วนการเก็บเงินของ 18 ตู้ ทางต้นสังกัดของหน่วยนั้นๆ หรือ มูลนิธินั้นๆ จะมีบุคคลเข้ามาเก็บเงินไปเอง แต่อาจรวมอยู่ในจำนวน "ตู้บริจาค" ที่ตำรวจตรวจสอบรวมไปด้วยขณะนี้ แต่ส่วนนี้เงินไม่ได้ไหลเข้าบัญชีวัดไร่ขิง

ส่วนการเช่าวัตถุมงคล ของทางวัดไร่ขิง ที่ทางเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบว่า มีการนำส่งรายได้อย่างไร ข้อมูลนี้ พระอาวุโสวัดไร่ขิง ให้ข้อมูลว่า การเช่าวัตถุมงคลที่วัดทำขณะนี้เป็น "พระบูชา" ขนาดต่างๆ

แต่รุ่นที่มีราคาสูงสุด เป็น "พระบูชา หลวงพ่อวัดไร่ขิง" ขนาด 9 นิ้ว ปิดทอง ราคา 17,000 บาท และถ้านำไปลงยาด้วยจะมีราคา 30,000 บาท การเช่า

ล่าสุดที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบบัญชีวัดไร่ขิง (ในจำนวนนี้ เป็นบัญชีอดีตเจ้าอาวาส 4 บัญชี) มีบัญชีที่เกี่ยวข้องกับ การเปิดบัญชีวัดไร่ขิงเพื่อจัดทำวัตถุมงคล แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ บัญชีธนาคารที่เปิดมาเกี่ยวกับรายได้การเช่าวัตถุมงคลของที่วัดโดยเฉพาะ

และบัญชีเฉพาะกิจสำหรับการเช่าวัตถุมงคลเป็นรายโครงการพิเศษ เช่น วัตถุมงคลรุ่นจตุคามรามเทพในอดีต ที่ขณะนี้มีรายได้จากการเช่าเกือบ 100 ล้านบาท เมื่อปิดโครงการ บัญชีเล่มนั้นก็ไม่ได้ใช้ทำอะไรอีก ส่วนรายได้เอาไปสร้างหอประชุม รร.วัดไร่ขิงวิทยา ประมาณ 80 ล้านบาท เพราะอย่างที่เคยบอกว่า ถ้าจะมีโครงการเฉพาะที่วัดทำ ก็จะต้องมีเหตุและผลว่า ทำไปเพื่ออะไร และรายได้จะไปสนับสนุนโครงการใด

สำหรับวัดไร่ขิง ที่ขณะนี้ตรวจสอบอย่างน้อย 53 บัญชีจาก 4 ธนาคาร พระอาวุโส ให้ข้อมูลด้วยว่า ทางวัดจะมีบัญชีธนาคารแยกบัญชีชัดเจน โดยมีบัญชีหลัก คือชื่อบัญชี "วัดไร่ขิง" บัญชีเดียว ส่วนบัญชีธนาคารอื่นๆ ของวัด เช่น

- บัญชีตู้บริจาค

- บัญชีเพื่อสร้างวัตถุมงคล

- บัญชี มูลนิธิทั้ง 3 มูลนิธิของวัด แยกบัญชี

- บัญชีเฉพาะ ที่ทำเป็นรายโครงการ

- บัญชีกองทุนค่าไฟ

- บัญชีค่าเช่าแผงค้า ของวัดไร่ขิง

- บัญชีร้านสวัสดิการของวัดไร่ขิง

ทั้งหมด จะมีพระที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและกรรมการวัด ดูแลขั้นตอนเบิกจ่าย

รายได้จาก "ร้านสวัสดิการ" ของวัด ที่มีประมาณ 10 ร้าน ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ขยายผลตรวจสอบพบว่า มีบุคคลเป็นหญิงชื่อ "เตย" หญิงผู้มีรายงานว่าใกล้ชิดกับอดีตเจ้าอาวาส จนไว้ใจให้ดูแลร้านสวัสดิการ ที่ทำเป็นร้านกาแฟในวัด แม้ไม่เสียค่าเช่าที่ แต่กลับพบว่า รายได้จากร้านสวัสดิการไหลเข้าสู่บัญชีของเตย เช่นกัน

และไม่พบเตย เข้ามาที่ร้านตั้งแต่หลังสงกรานต์ และ สถานะร้านติดป้ายว่า "ปิดปรับปรุง" เพราะน้ำรั่วที่หลังคา แม้ภายในจะตกแต่งไว้อย่างสวยงาม กว้าง ติดแอร์ มีเครื่องทำกาแฟสด และเน้นกระจกใสโดยรอบร้าน เพื่อให้เห็นวิวของวัดไร่ขิง

ขณะที่รายได้ของวัดไร่ขิง ยังได้จากค่าเช่าแผงค้า "ตลาดนัด" ที่มีผู้ค้าประมาณ 700-800 ร้าน ในวันตลาดนัดใหญ่ และวันตลาดนัดย่อย เสียค่าที่ 40-60 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่วัดไร่ขิง เฉลี่ย 1 สัปดาห์ มีขึ้นประมาณ 5 วัน

ส่วนงานประจำปีของวัดไร่ขิง ปีละ 2 ครั้ง มีประเด็นน่าสนใจว่า การประมูลร้านค้าที่จะมาขายในงานประจำปี ต้องผ่านการประมูล ซึ่งผู้ร่วมประมูลล่าสุด เมื่อช่วงที่จัดงาน เม.ย.2568 มีเข้าร่วมประมาณ 100 ราย แต่วัดไม่กำหนดโควตา ว่า 1 ราย จะจำกัดได้กี่ล็อก

ซึ่งตรงนี้อาจมีช่องว่างทำให้ผู้เข้าประมูล ไปปล่อยเช่าช่วงต่อตามที่มีกระแสจากคนในพื้นที่ว่า ราคาต่อล็อกสูงถึงหลักแสนบาท หรือบางร้านต้องการหลายล็อกก็ต้องจ่ายถึงหลักล้านบาท

และยังมีข้อสังเกตจากพระรูปนี้ว่า ในวันประมูลทางวัดใช้วิธีให้ผู้ประมูล เขียนตัวเลขที่เสนอราคาได้เองใส่กระดาษ โดยที่ไม่ต้องสู้ราคากันแบบที่เห็นราคากลาง ทำให้อาจเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ผู้ต้องการได้ล็อกไว้ค้าขายหรือไปปล่อยต่อ ต้องเสนอราคาให้สูงที่สุดเข้าไว้ก่อน เพื่อจะได้มั่นใจว่า ตัวเองจะชนะการประมูล เพราะเข้าประมูล มีจริงๆ เพียงประมาณ 100 คน แต่ล็อกที่ได้ขายจริง คือ ประมาณเกือบ 300 ล็อก

โดยสามารถวางขายได้เต็มที่ 9 วันตามที่วัดกำหนดในช่วงจัดงานประจำปีของวัดเต็ม 9 วัน และ ยังได้สิทธิ์เนียนๆ มาขายยาวก่อนวันงานอีก 5 วันล่วงหน้า และอีก 5 วัน หลังงานจบ ซึ่งจะทำให้ผู้ได้สิทธิ์วางขายได้ถึง 19 วันเต็มๆ และการปล่อยล็อกต่อเพื่อเช่าช่วง ที่ผ่านมาทางวัด ก็ไม่ได้มีข้อห้ามและไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว

นี่จึงเป็นผลประโยชน์มหาศาลของวัดไร่ขิง


รายงาน : ภัทราพร ตั๊นงาม ผู้สื่อข่าวอาวุโส ไทยพีบีเอส

อ่านข่าว :

เปิดเส้นเงิน "วัดไร่ขิง" ตู้บริจาค 185 ตู้ ไม่เข้าบัญชี จำนวนมากเบิกเกินจริง-ผิดวัตถุประสงค์

"หลวงพี่น้ำฝน" ยอมรับเคยถวายเงิน อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง

ตำรวจเตรียมขอศาลอนุมัติหมายจับ คดียักยอกเงินวัดไร่ขิง เพิ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง