วันนี้ ( 21 พ.ค.2568) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 5 (3/2568) โดยที่ประชุมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน การดำเนินธุรกิจแบบนอมินี การขายสินค้าต่างชาติผิดกฎหมายทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ และการส่งเสริมให้เกิดการใช้แรงงานไทยและวัตถุดิบในประเทศ พร้อมผลักดันให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จาก FTA อย่างเต็มที่

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย
โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินคดีกับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานและผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 39,186 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 2,074 ล้านบาท และสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่ต่ำกว่า 1,500 บาทได้ถึง 1,796 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้ ดำเนินมาตรการ Notice and Takedown ถอดสินค้าผิดกฎหมายจากแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วกว่า 10,378 รายการ ส่วนการปราบปรามธุรกิจนอมินีมีการดำเนินคดีรวม 857 ราย มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 15,288 ล้านบาท

นอกจากนี้ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งนายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ และพลตำรวจโท พิทยา ศิริรักษ์ เป็นที่ปรึกษาเพิ่มเติมใน 2 คณะอนุกรรมการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) และคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SME ไทย และแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการทำงานเชิงรุกและลงพื้นที่ทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มหน่วยงานในคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์
นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลก มีความเสี่ยงสูงที่สินค้าผิดกฎหมายและไม่มีคุณภาพจะทะลักเข้าสู่ไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รมว.พาณิชย์กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะดำเนินการทุกมาตรการที่จำเป็น โดยเฉพาะสินค้าที่ขายในประเทศจะต้องระบุแหล่งที่มาของสินค้า และมีการแข่งขันด้านราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็จะเข้ามาบูรณาการใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมด้วยอย่างจริงจัง พร้อมเร่งรัดให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ด้านนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาสินค้านำเข้าและธุรกิจนอมินีสะสมในมานานกว่า 10 ปี สาเหตุหลักมาจากกฎหมายไทยที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าโลก และไม่สามารถเอาผิดกับบริษัทที่ใช้คนไทยถือหุ้นแทนต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์
โดยแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ จะมุ่งล้างปัญหานอมินีเดิม ซึ่งแบ่งกลุ่มบริษัทที่มีต่างชาติถือหุ้นตั้งแต่ 0.01 – 49.99% ออกเป็น 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.การท่องเที่ยว 2.อสังหาริมทรัพย์ 3.อีคอมเมิร์ซ ขนส่ง และคลังสินค้า 4. โรงแรมและรีสอร์ท 5.การเกษตร และ6.การก่อสร้าง
จากข้อมูลพบว่ามีบริษัทกลุ่มเสี่ยงกว่า 46,918 ราย กระทรวงฯจะตั้งคณะทำงานระดับจังหวัดขึ้นในทุกจังหวัด ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายเป็นประธาน และมีพาณิชย์จังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มงวด ทั้งที่มาของเงินทุน ความสามารถในการประกอบธุรกิจ และความเชื่อมโยงกับชาวต่างชาติ

สำหรับบริษัทใหม่ที่จดทะเบียนในอนาคต จะมีการเสนอปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มบทลงโทษต่อธุรกิจนอมินีถึงขั้นยึดทรัพย์ และจะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อผลักดันเข้าสู่รัฐสภาโดยเร็ว รวมถึงประสานในทุกวาระ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด ซึ่งการดำเนินการจะเป็นไปอย่างจริงจังและเชิงรุก โดยให้แต่ละจังหวัดดำเนินการตรวจสอบบริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และในจังหวัดที่มีบริษัทที่อยู่ในข่ายเป็นจำนวนมากจะให้รายงานผลความคืบหน้าเป็นไตรมาสต่อไป
อ่านข่าว:
ไทย 1ใน 25 "ตลาดเกิดใหม่" น่าลงทุน คลังชี้ไทย-USA สัมพันธ์ปึ้ก
อุตฯรถยนต์ไทย "โอกาส-ท้าทาย" สนค.ชี้ไทยต้องปรับตัวรองรับตลาดโลก
รัฐบาลเลื่อนแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท เฟส 3 ไม่มีกำหนด