ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แก้วิกฤตราคา “พริก” ตกต่ำ ค้าภายใน ขอเอกชนรับซื้อ ตั้งเป้า 2 แสนกก.

เศรษฐกิจ
22 พ.ค. 68
16:42
75
Logo Thai PBS
แก้วิกฤตราคา “พริก” ตกต่ำ ค้าภายใน ขอเอกชนรับซื้อ ตั้งเป้า 2 แสนกก.
กรมการค้าภายใน เร่งแก้ปัญหา พริกราคาตกต่ำ ขอเอกชนช่วยรับซื้อพริก จ.เชียงใหม่ ตั้งเป้ารับซื้อ 2 แสนกิโลกรัม หวังดันราคาขายสูงกว่าทุน หลังราคาร่วงเหลือกิโลกรัมละ 3-6 บาท คาดปีนี้ผลผลิต 8,500 ตัน

วันนี้ ( 22 พ.ค.2568) นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ผลผลิตพริกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ปริมาณผลผลิตสูงเกินความต้องการของตลาด ส่งผลกระทบต่อราคาพริกหน้าสวนตกต่ำลง โดยมีราคาซื้อขายเพียงกิโลกรัมละ 3 – 6 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาท สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรในพื้นที่โดยเฉพาะอ.ฮอดและอ.อมก๋อย ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกพริกสำคัญของจังหวัด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจ.เชียงใหม่ ระบุว่า เชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกพริกกระจุกตัวอยู่ในอ.ฮอดและอ.อมก๋อย รวมกันประมาณ 3,500 ไร่ โดยปี 2568 คาดว่าจะมีผลผลิตรวมประมาณ 8,500 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ซึ่งมีผลผลิตรวม 5,200 ตัน หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการผลิตที่ขยายตัวอย่างชัดเจน

เพื่อลดผลกระทบดังกล่าวและรักษาเสถียรภาพราคาพริก กรมฯได้ประสานความร่วมมือกับเอกชนรายใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องแกงประกอบอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เชื่อมโยงตลาดระหว่างเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมการแปรรูป เพื่อรับซื้อพริกสดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 6-8 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป และคุ้มค่ากว่าต้นทุนการผลิต

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวอีกว่า เอกชนจะรับซื้อพริกจากเกษตรกร อำเภอฮอด จำนวน 9,000 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 8 บาท และ รับซื้อพริกแดงจากเกษตรกร อ.ฮอดและอ.อมก๋อย มีเป้าหมายรับซื้อ 200,000 กิโลกรัม ในราคารับซื้อกิโลกรัมละ 6- 7 บาท ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวไม่เพียงช่วยระบายผลผลิตพริกในพื้นที่ แต่ยังส่งผลให้ราคาพริกในจ.เชียงใหม่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีราคาขายเพียงกิโลกรัมละ 4 – 5 บาท ปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 6-8 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรพึงพอใจและสามารถดำรงชีพได้

ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรในยามที่ประสบปัญหา การเข้ามาร่วมรับซื้อในราคาที่เหมาะสมไม่เพียงแต่ช่วยพยุงราคา แต่ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการเดินหน้าการผลิตอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ กรมฯจะยังคงเดินหน้าสานต่อความร่วมมือกับผู้ประกอบการแปรรูปในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงตลาดและรองรับผลผลิตพริกจากเกษตรกรให้มีทางเลือกในการจำหน่ายมากยิ่งขึ้น รวมถึงเตรียมมาตรการเสริมในกรณีที่ปริมาณผลผลิตเกินความต้องการของตลาด เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำซ้ำอีก

อ่านข่าว:

 "แตงโมชัยนาท" ราคาตกต่ำ "พาณิชย์" เร่งเชื่อมตลาดช่วยเกษตรกร

พาณิชย์ แจงไลฟ์ขายทุเรียน "เจาะขายตรง" ตลาดเศรษฐกิจดิจิทัล

พาณิชย์ โรดโชว์ “ผลไม้ไทย” หวั่นล้นตลาด “ทุเรียน” ปีนี้ผลผลิตเพิ่ม 3 แสนตัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง