วันนี้ (23 พ.ค.2568) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า สถานการณ์สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ม.ค.2567 - วันที่ 6 พ.ค.2568 พบ JN.1* ยังเป็นสายพันธุ์หลัก คิดเป็นสัดส่วนสะสมร้อยละ 63.92 ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่พบในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ภาพรวมทั่วโลกที่ยังคงมี JN.1* เป็นสายพันธุ์หลัก

สำหรับสายพันธุ์ XEC พบแนวโน้มลดลง คิดเป็นสัดส่วนสะสมร้อยละ 3.07 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่วน LP.8.1* (สายพันธุ์ย่อย KP.1.1.3) เริ่มพบในประเทศไทยช่วงเดือน ม.ค.2568 ขณะนี้มีอัตราลดลงเช่นกัน โดยสัดส่วนสะสมที่พบยังน้อยกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้วัคซีนโควิด-19 ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงจากสายพันธุ์นี้

นพ.ยงยศ กล่าวอีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดในอนาคต โดยเผยแพร่จีโนมบนฐานข้อมูลสากล GISAID ตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ระบาดโรคโควิด 19 ในประเทศไทยเมื่อเดือน ม.ค.2563 - 6 พ.ค.2568 มีจำนวนสะสม 47,571 ราย
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม การล้างมือเป็นประจำ สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อได้

สัปดาห์นี้ผ่านไป 5 วัน ยอดป่วยพุ่ง 33,589 คน เสียชีวิต 3 คน
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat อัปเดตสถานการณ์โควิดในไทย โดยระบุว่า สัปดาห์ล่าสุดนี้ (18 - 24 พ.ค.2568) แม้ผ่านไป 5 วันกว่าๆ จำนวนผู้ป่วยรักษาที่โรงพยาบาล ก็แซงทะลุสถิติของสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อตอนรายงานตอนครบสัปดาห์ ทั้งนี้เมื่อเวลา 11.17 น. มีผู้ป่วยรายใหม่ 33,589 คน เสียชีวิต 3 คน โดยมีผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 37 คน
เป็น early signs ที่บ่งถึงการระบาดที่เพิ่มมากขึ้น หากธรรมชาติของแต่ละสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคล้ายคลึงกัน
ย้ำเตือนว่าอย่าหลงเชื่องมงายกับวาทกรรมของแหล่งเดิม ๆ ที่เอาแต่ตอกย้ำว่า โรคติดง่าย แต่ไม่รุนแรง อัตราตายใกล้เคียงไข้หวัดใหญ่
การเทียบเคียงอัตราตายแล้วสรุปแบบนั้น เป็นจริตที่ไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง อาทิ 0.01% vs 0.03% ดูน้อย ดูใกล้เคียง แต่เอามาสรุปแบบข้างต้นไม่ได้เด็ดขาด เพราะเมื่อจำนวนเคสติดเชื้อมากเรือนพัน เรือนหมื่น เรือนแสน "จำนวน" คนเสียชีวิตย่อมต่างกันมากถึง 3 เท่า
ชีวิตคนแต่ละชีวิต มีคุณค่าไหมสำหรับเรา? แต่นี่หมายถึงหลายต่อหลายชีวิตที่สูญเสียไป จากโรคที่ป้องกันได้
Harm minimization หรือการพยายามลดทอนการรับรู้ภัยของทุกคนในสังคม จึงก่อให้เกิดผลกระทบมากมายต่อทุกคน ครอบครัว และประเทศ ในยามที่เผชิญปัญหาระบาดหนักเช่นที่เรากำลังเห็นในปัจจุบัน นำไปสู่พฤติกรรมไม่ป้องกันตัว กิจกรรมเสี่ยง ระบาดขยายตัวต่อเนื่อง ป่วย และเสียชีวิต รวมถึงความถดถอยทางเศรษฐกิจตามมาเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ ไม่ควรหลงเป็นเหยื่อแหล่งข่าวลวง
ทั้งนี้ นพ.ธีระ ยังระบุความเข้าใจที่ว่าเมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 2-3 วันก็หายเพราะเดี๋ยวนี้โรคอาจรุนแรงน้อยลงพร้อมให้ข้อมูลทางการแพทย์ เพื่อให้พิจารณาในทางปฏิบัติ ดังนี้
ธรรมชาติของโรค COVID-19.
- ติดเชื้อ แพร่ให้คนอื่นได้ตั้งแต่ 2-3 วันก่อนมีอาการ
- ติดเชื้อ ใช้เวลา 3-4 วันก่อนจะมีอาการป่วย
- ติดเชื้อ อาจใช้เวลา 4-5 วันหลังเริ่มป่วยไวรัสจึงจะพีค ตรวจวันแรกๆ อาจได้ผลลบ ดังนั้นจึงควรตรวจซ้ำ
- ติดเชื้อ แยกตัว 5 วัน ยังมีโอกาสเพาะเชื้อขึ้น 50%, 7 วัน 25-30%, 10 วัน 10% ดังนั้นจึงควรแยกตัวให้เพียงพอ จนไม่มีอาการและตรวจซ้ำได้ผลลบ และใส่หน้ากากช่วยลดการแพร่เชื้อ
ยิ่งหากเป็นการทำงานที่ต้องดูแลคนอื่น ๆ เช่น สถานพยาบาล กิจการบริการต่าง ๆ ระบบต้องมีการตัดสินใจให้ถี่ถ้วน บริหารความเสี่ยงให้ดี คำนึงถึงหลักฐานวิชาการมากกว่าการใช้ความเชื่อความรู้สึก เพราะสุดท้ายแล้ว กลัวคนทำงานไม่พอ ให้รีบกลับมาทำงาน แต่ป้องกันไม่ดี สถานที่ไม่ถ่ายเทอากาศ มีกิจกรรมที่ต้องคลุกคลีใกล้ชิดคนอื่น ทั้งคนให้และรับบริการ สุดท้ายก็จะแพร่กันไปทั่วได้
เตือนคนขายฉวยโอกาสขึ้นราคาหน้ากากอนามัยเจอโทษหนัก
นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ยังมีการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อยู่บ้างทำให้ประชาชนมีความกังวลเรื่องหน้าการอนามัยขาดแคลน ซึ่งรัฐบาล โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายชุดตรวจโควิด-19 (ATK) หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ล้างมือ จากโดยมีผู้ผลิต ผู้นำเข้า ห้างค้าส่งค้าปลีก ผู้ประกอบการกว่า 20 รายอย่างใกล้ชิด ขอยืนยันว่ามีสินค้าพอเพียงและราคาปกติ ไม่มีการปรับขึ้น มีแต่การลดราคาและโปรโมชันต่อเนื่อง ขอประชาชนอย่าเป็นกังวล
นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยอยู่ที่ 50-60% ของความสามารถทั้งหมด และสามารถเพิ่มได้ และวัตถุดิบหลักในการผลิตยังคงเพียงพอ ส่วน ATK ยังต้องนำเข้าทั้งหมด แต่สินค้ามีเพียงพอสำหรับจำหน่ายและมีการนำเข้าเพิ่มเติมต่อเนื่อง รองรับความต้องการของประชาชน ซึ่งประชาชนยังคงหาซื้อสินค้าได้จากหลายช่องทาง เช่น ห้างค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาเก็ต ร้านขายยา และแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรเปรียบเทียบราคาก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า เนื่องจากราคาจะขึ้นอยู่กับชนิด ยี่ห้อ และคุณภาพของสินค้า
ทั้งนี้ ย้ำเตือนร้านค้าที่กักตุนสินค้า หรือขายเกินราคามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ข้อหาขายเกินราคาควบคุม มาตรา 25 (1) และมาตรา 25 (5) ไม่แจ้งต้นทุนซื้อขายสต๊อก มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย มาตรา 28 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ข้อหาขายแพงเกินสมควร (มาตรา 29) มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากพบการฉวยโอกาสหรือกักตุนสินค้า ราคาสูงเกินจริง สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569 หรือไลน์ @MR.DIT
อ่านข่าว :
โควิด-19 ติดเชื้อพุ่ง 34,785 คน เสียชีวิต 3 คน กทม.ป่วยมากสุด