วันที่ 27 พ.ค.2568 นายเวสารัช โสภณดิเรกรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้นำเสนอรูปแบบการแก้สารพิษโลหะหนัก ต่อนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลฯ ซึ่งเดินทางไปยัง จ.เชียงราย เพื่อตรวจการแก้ไขปัญหาน้ำกก ปนเปื้อนสารเคมีจากการทำเหมืองแร่ ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา
อ่านข่าว : รัฐบาลพร้อมเจรจาแก้ปัญหามลพิษ "เหมืองรัฐฉาน"
นายเวสารัชกล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำ ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ เสนอรูปแบบฝายดักตะกอน 3 รูปแบบ คือ ฝายดักตะกอนและตรงกลางดูดซับ ฝายแบบขั้นบันไดระยะยาว รูปแบบแก้มลิงชะลอน้ำ

นายเวสารัช โสภณดิเรกรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
นายเวสารัช โสภณดิเรกรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ
รูปแบบแรก ฝายดักตะกอนแบบฝายและตัวกลางดูดซับชั่วคราว
หลักการฝายดักตะกอนเป็นโครงสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อให้ความเร็วของน้ำลดลงสามารถ กรองตะกอนและสารปนเปื้อนตกตะกอนได้
ส่วนจุดเลือกสร้างฝาย คือ บริเวณต้นน้ำและกลางน้ำ เป็นพื้นที่ตรวจพบตะกอนปนเปื้อนสูงและไม่กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การออกแบบและสำรวจฝายความเร็วของน้ำและปริมาณพร้อมระบบบำรุงรักษา คาดว่าจะได้รับประโยชน์จะลดสารโลหะหนักตะกอนที่จะลงในแม่น้ำกกตอนล่าง เพื่อจะฟื้นฟูคุณภาพน้ำและระบบนิเวศ ลดความเสี่ยงสุขภาพประชาชน
สำหรับ จุดที่ศึกษา 10 จุด คืออยู่ที่ อ.แม่อาย 3 จุด และ อ.เมืองเชียงราย 7 จุด
งบประมาณก่อสร้าง : ฝายดักตะกอน 774,000 บาท/เมตร จำนวน 10 แห่ง งบประมาณ 538 ล้านบาท
การบำรุงรักษา : ขุดลอกตะกอน 640 บาท/ลบ.ม. (รวมค่าขนทิ้ง ระยะไม่เกิน 100 กม. งบประมาณ 338 ล้านบาท
รวมงบประมาณ 1,516 ล้านบาท

อ่านข่าว : อธิบดีกรมน้ำ สั่งเร่งออกแบบ "ฝายดักตะกอน" ในแม่น้ำกก
รูปแบบที่สองประตูน้ำแบบขั้นบันได
สำหรับแนวระยะยาว คือ ฝายขนาดใหญ่ที่มีประตูระบายน้ำ ตะกอนสารโลหะหนักตกตะกอน จะมีเรื่องของการไหลของน้ำที่มาเกี่ยวข้อง สารหนูความเร็วของน้ำตกตะกอนได้ดี คือความไหลของน้ำที่แทบจะไม่มีการไหล เนื่องจากเป็นฝ่ายขนาดใหญ่ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือชุมชนจะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนดำเนินการ งบประมาณก่อสร้าง 13 แห่ง 7,640 ล้านบาท
รูปแบบที่สามคือ รูปแบบของแก้มลิง ร่วมกับบึงประดิษฐ์ลอยน้ำ
คือการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ด้านเหนือน้ำที่มีการก่อสร้างฝ่ายดักตะกอนทำเป็นแก้มลิง นำพืชลอยน้ำดูดซับสารพิษให้ตกตะกอนบริเวณแก้มลิงและขุดลอกออกจากแหล่งเก็บน้ำ

งบประมาณก่อสร้าง 1.ระบบดักตะกอนแบบฝายและตัวกลางดูดซับชั่วคราว จำนวน 10 แห่ง งบประมาณ 538 ล้านบาท 2.แก้มลิงกับบึงประดิษฐ์ลอยน้ำ จำนวน 14 แห่ง งบประมาณ 438 ล้านบาท รวม 976 ล้านบาท
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดับสารหนูช่วงรอยต่อชายแดนมีค่าสูง แต่หลังจากไหลมาถึงฝายเชียงราย เมื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำพบสารพิษลดต่ำ ซึ่งประเมินว่า ถ้ามีการสร้างฝายเก็บกักตะกอน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งจะขอไปดูเรื่องของการลงทุนและระยะเวลา รวมถึงสำรวจความคุ้มค่าอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่พบว่า ในแม่น้ำกกมีการปนเปื้อนสารหนู ซึ่งคาดว่า มาจากการทำเหมืองแร่ในประเทศเมียนมา แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ระบุชัดเจนว่า เหมืองแร่อยู่ที่ใดกันแน่ มีจำนวนกี่เหมือง แต่ละเหมืองปล่อยสารเคมี หรือสารพิษอะไรออกมาบ้าง และระดับการปนเปื้อน ในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย รวมถึงแม่น้ำโขงอยู่ ณ จุดใด หรือแม้แต่การพบปลาที่ได้รับผลกระทบจากสารพิษ มีมากน้อยเพียงใด แต่กลับมีการออกแบบฝายดักตะกอน รวมถึงการเสนองบประมาณของฝายแต่ละแบบแล้ว
อ่านข่าว : ชาวเชียงราย “ฮอมปอย” แก้สารพิษ เตรียมระดมพล 5 มิ.ย.นี้