วันนี้ (28 พ.ค.2568) จากกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาประธานอาเซียน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ "ยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ มุมมองและความท้าทายต่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน" ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ตอนหนึ่งว่า แหล่งผลิตยาเสพติดที่สำคัญอยู่ในพื้นที่ของกลุ่มกองกำลังติดอาวุธว้าแดง เขตรัฐฉาน อีกภายใน 1-2 เดือน รมว.ต่างประเทศ ต้องเข้าไปพบปะกับผู้นำเมียนมาให้จัดการ หากทำไม่ได้ ประเทศไทยคงต้องขออนุญาตจัดการด้วยตนเอง และหากยังผลิตจะถือว่าเป็นศัตรู
รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร ภาควิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและการต่างประเทศเมียนมา เปิดเผยว่า เห็นด้วยในหลักการ ว่าต้องมีการจัดการกับกลุ่มว้าแดงเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศไทย แต่ต้องเป็นการทำงานอย่างรัดกุมและคำนึงถึงประเด็นระหว่างประเทศที่มีความอ่อนไหวด้วย
ส่วนตัวรู้สึกกังวลและไม่ค่อยเห็นด้วยกับการสื่อสารของนายทักษิณที่พูดว่า หากรัฐบาลทหารเมียนมาจัดการไม่ได้จะขอเป็นฝ่ายเข้าไปจัดการด้วยตนเอง ตรงนี้อาจจะก่อให้เกิดการตั้งข้อสังเกตได้ว่าเป็นสัญญาณที่ออกมาจากรัฐบาลไทยหรือไม่ หรือเป็นสัญญาณที่ออกมาจากฝ่ายความมั่นคงไทยหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะกระทบต่อความสัมพันธ์ในหลาย ๆ เรื่อง

รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร ภาควิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร ภาควิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ กล่าวว่า การใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดตามที่นายทักษิณกล่าวอ้างนั้น อาจทำให้ผู้ฟังคาดเดาไปว่า ไทยอาจจะแทรกแซงโดยส่งกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของไทยเข้าไปปราบปรามยาเสพติดหรือไม่ เรื่องนี้ควรต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของเมียนมา และสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอาจทำให้กองทัพเมียนมารู้สึกไม่ไว้วางใจ และหวาดระแวงว่า ทางการไทยจะมีนัยทางการเมืองในการเข้าไปสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมากลุ่มใดหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยที่พยายามจะเข้าไปมีบทบาทในการเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพระหว่างกลุ่มต่อต้านกับรัฐบาลทหาร
รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการผลิตยาเสพติดของกลุ่มว้าแดงอย่างมีนัยสำคัญมาราว 20 ปีก่อน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานติดตามและดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับรัฐบาลและระดับท้องถิ่นที่ผู้บัญชาการกองกำลังต่าง ๆ เป็นผู้ดูแล รวมไปถึงบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการเรียกร้องกับรัฐบาลเมียนมาให้ช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหายาเสพติด ก็มีการทำมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ทว่า รัฐบาลทหารเมียนมาก็มีข้อจำกัดในการเข้าไปบริหารจัดการ ด้วยรูปแบบการปกครองพื้นที่ของว้าแดงซึ่งมีความอิสระในการปกครองตนเอง เพราะได้ทำข้อตกลงหยุดยิงและมีการแบ่งสรรทางอำนาจต่าง ๆ กับรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 1990 มากไปกว่านั้นคือมิติของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เป็นประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย จึงทำให้กองทัพไม่อยากเข้าไปกดดันหรือแทรกแซงว้าแดงมากนัก ยังไม่นับว่าภายหลังจากการรัฐประหารในปี 2021 เป็นต้นมา ได้ทำให้อิทธิพลของกองทัพลดน้อยถอยลงไปอย่างมากในบริเวณพื้นที่ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ขณะที่กองกำลังติดอาวุธอย่างว้าแดงกลับมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ช่องทางหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยทำมาโดยตลอดในทางการทูต คือการคุยกับรัฐบาลจีน โดยเฉพาะรัฐบาลท้องถิ่นซึ่งอยู่ในพื้นที่ยูนนาน ให้ช่วยดูแลและจัดการเรื่องยาเสพติดร่วมกัน และร้องขอรัฐบาลจีนให้หยุดส่งสารเคมีที่เป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการผลิตยาเสพติดให้กับกลุ่มว้าแดง

มากไปกว่านั้น คือการบริหารจัดการพื้นที่ภายในประเทศในเรื่องการป้องปรามการเสพ การซื้อ และการลักลอบขนย้ายยาเสพติด และการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการปราบปรามยาเสพติดบริเวณแนวชายแดนของกลุ่มผู้ค้ายา จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเยียวยา บรรเทาผู้เสพยาเสพติด
รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตัวแสดงที่สำคัญในการจัดการและแก้ไขปัญหายาเสพติดคือชนกลุ่มน้อยที่เป็นเครือข่ายของฝ่ายความมั่นคงไทย หรือเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยบริเวณตามแนวชายแดน ควรจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญในการติดต่อประสานงาน และขับเคลื่อนร่วมกันเป็นเครือข่ายในการสนับสนุนการป้องปรามยาเสพติด รวมไปถึงการใช้กลไกที่สำคัญอย่างคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย - เมียนมา (TBC) ซึ่งเป็นเวทีในการหารือเรื่องความมั่นคง ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการพูดคุยแก้ไขปัญหาเรื่องยาเสพติด
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สิ่งที่คุณทักษิณพูดเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการมาโดยตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องดำเนินการให้มีความเข้มแข็ง จับต้องได้ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการดำเนินการความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้งรัฐบาลกลางเมียนมา รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของจีน สิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นตัวเลือกในเบื้องต้นก่อนที่จะคิดถึงการใช้ความรุนแรง ที่อาจจะก่อให้เกิดการละเมิดอำนาจอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้าน รศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ กล่าว
อ่านข่าวอื่น :
นายกฯ ถกงบ 69 ชู 6 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน กระตุ้น ศก.เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
ออกจากถ้ำครั้งแรกในรอบเดือน “ทักษิณ” จัดหนักอ้างสารพัดเรื่องแก้ได้