วันนี้ (28 พ.ค.2568) นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายภาพรวมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดยคาดหวังอยากให้นายกรัฐมนตรีปรับคำแถลงนโยบาย ด้วยสงสัยว่า "หากไม่ปรับ...งบเลยไม่เปลี่ยน ทำให้คนไทยรับกรรม" พร้อมหยิบยก7 ประเด็น ชี้ให้เห็นดังนี้
- สุขภาวะการคลังของไทย เพราะรัฐบาลเบ่งงบเกือบเต็มกรอบ ทำให้รัฐบาลมีงบไปดำเนินการลงทุนโครงการใหม่ได้น้อย
- ชี้โลกเปลี่ยน นโยบายในอดีตมาใช้ในปัจจุบันไม่ได้แล้ว
- ท้วงติงงบยังเป็นสูตรเดิม เป็นการจัดงบที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง พร้อมชี้ว่าปัญหาที่เจอขณะนี้ไม่ใช่วิกฤตการคลัง แต่เป็นวิกฤตทางการเมือง
- ชี้เห็นว่าในขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้ขาดเงิน แต่ขาดรัฐบาลที่บริหารประเทศเป็น
- ความคุ้มค่าการใช้งบประมาณได้ผลหลายเด้ง ขาดวิธีการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิประ
- นายกฯ ไม่มีวิธีการจัดทำงบประมาณ ทำให้งบประมาณไม่เคยเปลี่ยน ทั้งการปรับทิศทางหรือการปรับทีม และ
- เตือนสติรัฐบาลว่าหากจัดงบประมาณแบบนี้ อาจสรุปได้ว่าประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์เกือบล้มและอาจกลับลุกขึ้นมาไม่ได้อีก โดยเฉพาะการกู้เงินที่ไม่มีแผนรองรับ
งบประมาณปี 2569 เป็นกระจกสะท้อนไปยังรัฐบาลชุดนี้ว่าไร้ทิศ ไร้ทางและไร้ภาพ ไม่ได้จัดงบเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ แต่ปล่อยให้การบริหารราชการแผ่นดิน เดินสะเปะสะปะอยู่ในระบบราชการประจำ เพราะใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนงบดิจิทัลวอลเล็ตไปใช้กับการลงทุนในระยะระยะสั้น 1.57 แสนล้านบาท เป็นการโยนเงินไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,850 แห่ง ส่งคำของบประมาณภายใน 3 วัน สะท้อนว่ารัฐบาลขาดเจตจำนงในการบริหารประเทศ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจัดงบลักษณะดังกล่าวเป็นการกระจายผลประโยชน์ให้กับกลุ่มผลประโยชน์ของรัฐบาลที่รู้ข่าวล่วงหน้า จึงจัดทำคำขอได้ทันภายในกรอบระยะเวลาอันสั้นใช่หรือไม่
ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอีกว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อของวิกฤตการจัดงบประมาณปี 2569 เป็นบทพิสูจน์ว่าจะผ่านไปได้หรือไม่ ทั้งประเด็นสงครามการค้าที่มีผลกระทบต่อการส่งออก ซ้ำเติมจากการสวมสิทธิและสินค้าเถื่อนราคาถูกจากต่างประเทศ ซึ่งจีดีพีของการผลิตและการบริโภคที่สวนทางสะท้อนว่าการแจกเงินใช้ไม่ได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ มองว่าหากมีการปฏิรูประบบงบประมาณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรมได้ ทั้งการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างสมดุล การลงทุนเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่ เช่น การลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว ไม่ใช่ใช้งบลงทุนเพื่อตัดถนน ขุดคลองหรือสร้างอาคาร
นายณัฐพงษ์ ยังอ้างอิงผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณ เพื่อทำงบประมาณรูปแบบใหม่และรัฐธรรมนูญปลดล็อกท้องถิ่น หากเสนอสภาฯ ไม่ผ่าน เพราะรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงการจัดงบ ทำให้มองไม่เห็นยุทธศาสตร์ใดๆ จากงบสูตรเดิม อย่าให้ความหวังกับประชาชนว่าประเทศไทยไม่ขาดเงินและจะฝ่าวิกฤตได้
แต่รัฐบาลต้องบริหารเงินแผ่นดินที่อยู่ในทุกหน่วยงานของรัฐ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ เฉพาะที่มีอยู่เท่ากับ 7-8 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 40% ต่อจีดีพี แต่ปัญหาคือไม่มีใครเชื่อมโยงเงิน รัฐวิสาหกิจต่างลงทุนและท้องถิ่นไม่เชื่อมโยงการบริหารประเทศ

พร้อมระบุว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ขาดเงิน แต่ขาดการใช้เงินและลงทุนอย่างมีเป้าหมาย โดยงบปี 2569 รัฐบาลทุ่มไปกับการจัดการน้ำ ตลิ่ง เขื่อนและคลอง มากกว่าเพิ่มพื้นที่รับน้ำ หรือระบบเตือนภัย, งบเกษตรฯ เน้นการเยียวยา ไม่มีการลงทุน, งบซอฟท์พาวเวอร์กลายเป็นงบอีเวนท์ ประชาสัมพันธ์ซ้ำซ้อน ส่วนงบสิ่งแวดล้อม เน้นสร้างซ่อมมากกว่าการแก้เชิงระบบ, งบดูแลคนพิการตกหล่น กระจัดกระจาย ซ้ำซ้อนและขาดการเข้าถึงอุปกรณ์พื้นฐาน
ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนวิธี เช่น งบประกันสินเชื่อ SME เพื่อเพิ่มตัวคูณในระบบเศรษฐกิจถึง 7 เท่า, งบช่วยเหลือเกษตรกร เปลี่ยนจากแจกเป็นเงินลงทุนอย่างมีเป้าหมาย สนับสนุนเครื่องจักรเฉพาะพื้นที่ พืช และเฉพาะเวลาเพื่อเพิ่มผลผลิต รวมถึงลดโลกร้อน
โลกเปลี่ยนแปลง แต่งบประมาณไทยไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีวิธีการใช้งบที่คุ้มค่า แม้นายกฯ ไม่ได้ทำงบประมาณ แต่คือคนที่คุมสำนักงบประมาณ เมื่อปล่อยให้ประเทศไทยใช้งบแบบไร้เป้าหมาย ไม่ปรับทิศทางหรือเปลี่ยนทีม จึงต้องตั้งคำถามว่าประเทศไทยมีคนที่เป็นผู้นำรัฐบาลอยู่จริงหรือไม่
ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวอีกว่า การจัดทำงบประมาณปี 2569 ไม่ใช่การทำงบประมาณผิดพลาด แต่คือกระจกสะท้อนตัวนายกฯ ว่าไม่มีเป้าหมายให้ประเทศ ละเลยการทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาล ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศต่อสภาฯ ว่าจะปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย แต่ยังมีการจัดงบประมาณสูตรเดิม เหมือนกับประเทศไทยไม่เคยมีนายกฯ อยู่
“เราไม่เคยมีผู้นำที่รู้จักใช้อำนาจเปลี่ยนงบประมาณที่ล้มเหลว เพื่อไม่ให้ประเทศล้มเหลวไปด้วย ขอย้ำว่าสถานการณ์ขณะนี้ไม่ใช่วิกฤตการคลัง แต่เป็นวิกฤตทางการเมือง เป็นวิกฤตของสถาบันรัฐไทยที่เริ่มเป็นระบบขูดรีด ประเทศไทยเกือบจะเป็นรัฐล้มเหลว หากจัดทำงบประมาณแบบเดิมที่ไม่เปลี่ยน นายกฯ ไม่ปรับการทำงาน แม้วันนี้ประเทศไทยจะยังไม่ใช่รัฐล้มเหลวที่สมบูรณ์ โครงสร้างรัฐไม่พัง แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนพังไปแล้ว” นายณัฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
อ่านข่าว
นายกฯ ถกงบ 69 ชู 6 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน กระตุ้น ศก.เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ
สภาฯ ผ่านฉลุย เปลี่ยนชื่อ "สำนักงานทรัพย์สินฯ" เป็น "พระคลังข้างที่"
"ศิริกัญญา" ติง "ทักษิณ" โชว์วิชันดึงงบฯ ดิจิทัลวอลเล็ตปราบยาเสพติด