เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2568 ณ โรงแรมแกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ลุมพินี ได้จัดงานเสวนาครั้งสำคัญในหัวข้อ "คึกฤทธิ์กับ ความสัมพันธ์ไทย-จีน" เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยมี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน และมีองค์ปาฐก หรือ ผู้แสดงปาฐกถา 3 ท่าน ได้แก่ ดร.เตช บุนนาค อดีตเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ดร.สารสิน วีระผล อดีตเอกอัตรราชทูตไทย และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ นายอู๋ จื้ออู่ (Wu Zhiwu) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย
ในการเสวนาครั้งสำคัญนี้ นายอู๋ จื้ออู่ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำราชอาณาจักรไทย ได้แสดงความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ "บุคคลที่มีทั้งตำนานและตำรา ตั้งแต่เรียนหนังสือ"

ภูมิหลังอุปทูตฯจีน ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ไทย-จีน
นายอู๋ จื้ออู่ เผยภูมิหลังส่วนตัวว่า ตนได้ศึกษาภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง เมื่อ 30 ปีก่อน และมีภูมิลำเนาอยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง พร้อมเล่า ในยุคที่จีนเพิ่งเริ่มต้นพัฒนา การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ หรือ สายศิลป์ มีเพียงภาษาไทย ซึ่งอาจเป็นผลจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างกวางตุ้งกับไทย นายอู๋ระบุว่า นอกจากการเรียนภาษาไทยแล้วยังได้ศึกษา "ไทยคดีศึกษา" พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่ามีชื่อของบุคคลสำคัญหลายท่านที่เข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้ ได้การปรากฏอยู่ในตำราเรียน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เล่าถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ทำให้นึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดย วรรณไว พัธโนทัย ชื่อ "โจว เอินไหล ผู้ปลูกไมตรีไทย-จีน"
หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนสำคัญในการประกอบการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัย และทำให้เข้าใจความเป็นมาของความสัมพันธ์ไทย-จีน ในช่วงสงครามเย็น จนกระทั่งมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2518 และได้รับทราบว่า "ความสัมพันธ์นี้ได้มาไม่ง่ายเลย"
"กลไกสำคัญ" ผลประโยชน์ร่วม 2 ประเทศ
นายอู๋ จื้ออู่ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีน ชี้แจงว่าการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2518 เกิดจาก "ความสอดคล้องของผลประโยชน์ประเทศทั้ง 2 และสอดคล้องความต้องการของสถานการณ์ด้านการระหว่างประเทศในช่วงนั้น"
ในเวลานั้น จีนมองเห็นสัญญาณการผ่อนคลายความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้หลายประเทศที่เคยต้องการใกล้ชิดจีน สามารถทยอยเข้ามาสร้างสัมพันธ์ทางการทูตได้ โดยในอาเซียน มาเลเซียและฟิลิปปินส์ได้นำหน้าไทย ในการสถาปนาความสัมพันธ์ไปก่อนหน้าแล้ว
ช่วงที่จีนกำลังสร้างมิตรกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ประธานเหมา เจ๋อตุง ได้ถือ "ทฤษฎี 3 โลก" ซึ่งแบ่งโลกออกเป็น ประเทศมหาอำนาจ สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ประเทศที่พัฒนาแล้วในตะวันตก และประเทศโลกที่ 3 โดยจีนมีนโยบายที่จะผูกมิตร และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศโลกที่ 3 ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มนี้
ขณะเดียวกัน ไทยได้เสนอเจตจำนงที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน นำไปสู่การริเริ่ม "การทูตปิงปอง" และ "การทูตแบดมินตัน" เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในระดับประชาชน และในที่สุดก็นำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ก.ค.2518
"ผลิดอกออกผล" จากสนามรบ สู่ สนามการค้า
นายอู๋ ได้กล่าวถึงผลลัพธ์ของความร่วมมือที่ "ผลิดอกออกผลอย่างรวดเร็ว" ในเวลาต่อมาหลังจากการสถาปนาการทูตอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการแก้ไขสถานการณ์ในภูมิภาคจนนำมาซึ่งความมั่นคงและเสถียรภาพ และการเปลี่ยน "สนามรบให้เป็นสนามการค้า" ซึ่งทำให้ภูมิภาคนี้ประสบกับสันติภาพ ความเจริญ และความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

"จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน" ประสบการณ์ที่ยืนยันความจริง
นายอู๋ ระบุว่า
ผมคนหนึ่งที่จะเป็นพยาน และสามารถบอกได้ว่าคำนี้ไม่ใช่แค่วาทกรรมทางการทูต แต่เป็นคำที่สอดคล้องกับความเป็นจริง
นายอู๋ จื้ออู่ เล่าถึง โอกาสในการฝึกงานภาคปฏิบัติที่บริษัททัวร์ของประเทศจีน ซึ่งขณะนั้นยังเป็นรัฐวิสาหกิจ มีโอกาสต้อนรับคณะทัวร์คนไทย และได้มีความสัมพันธ์กับคนไทยที่มา ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายจีน ในระหว่างการพูดคุยก็รู้สึกเหมือนเป็นญาติกัน
ในปี 2535 มีการจัดเอเชียนเกมที่ปักกิ่ง สิ่งที่สร้างความประทับใจอย่างยิ่ง คือ นายอู๋ได้เห็นว่าทีมนักกีฬาไทยเชียร์จีน และนักกีฬาจีนเชียร์ไทย
นอกจากนี้ ในตอนที่เข้ากระทรวงใหม่ ๆ ปี 2534 นายอานันท์ ปันยารชุน ได้นำคณะเยือนจีนอย่างเป็นทางการ นายอู๋ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝึกงาน มีโอกาสได้ร่วมโต๊ะ ได้เห็นการพบปะพูดคุยระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ ความเป็นกันเอง และความสนิทสนมกัน พร้อมระบุว่า
เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศจริง ๆ ตอกย้ำที่เรียนมาว่า จีน-ไทย ใช่อื่นไกล เป็นพี่น้องกันจริง ๆ
จีน-ไทย "แบบอย่าง" แห่งการอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง
นายอู๋ จื้ออู่ ย้ำว่าจีนและไทยคือ แบบอย่างของประเทศที่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง และร่วมมืออย่างเสมอภาค แม้จะมีระบบการปกครองต่างกัน แต่ทั้ง 2 ฝ่ายยึดมั่นในหลักการของเสถียรภาพและสันติภาพ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค พร้อมกล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน สามารถเป็นแบบอย่าง ให้กับประเทศอื่น ๆ ได้ เห็นได้จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น
ปี 2542 ไทยเสนอให้ทำแถลงการณ์ความร่วมมือ เพื่อมุ่งสู่ศตวรรษที่ 21 ต่อจากนั้นจีนได้ถือเอาแถลงการณ์ร่วมระหว่างจีน-ไทย นำไปขอเจรจากับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน จนมีการลงนามความร่วมมือทวิภาคีในลักษณะคล้ายกัน
ในปี 2544 ไทยยังเป็นประเทศแรกในอาเซียน สร้างความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับจีนและในปี 2555 ไทยเป็นประเทศแรกที่ยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนที่มีความร่วมมือแบบทวิภาคี
นายอู๋ จื้ออู่ กล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่า
เราสามารถสร้างตัวอย่างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นมา ไม่ใช่แค่ผลประโยชน์ของเราทั้งสองเท่านั้น แต่เราทำให้ประเทศอื่นเห็นว่า สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับจีน และสร้างประโยชน์ให้กับแต่ละประเทศได้

จีน-ไทยสานใจ สู่ "ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน"
ประโยคที่นายอู๋ต้องการแบ่งปัน คือ "จีนไทยสานใจกัน ร่วมสร้างฝันประชาคม" โดยประชาคมนี้คือ "ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น"
นายอู๋ อ้างถึง การเยือนประเทศไทยของ สี จิ้นผิง ในปี 2565 และการตกลงกับผู้นำประเทศไทยว่า จะร่วมสร้างประชาคมไทย-จีน การจะเป็นประชาคมจะต้องมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ตามความเข้าใจของ นายอู๋ ความมั่นคงคือ การที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเข้าใจอันดี มีความไว้เนื้อเชื่อใจ มีอะไรก็สามารถพูดคุยกันได้ ไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์ของโลกภายนอก เนื่องจากมีวุฒิภาวะมากพอที่จะพูดคุยจนเข้าใจ และแสวงหาจุดร่วมจุดต่าง เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและความร่วมมือกัน รักษาความสัมพันธ์อันดีต่อไป
ส่วนความมั่งคั่งนั้น นายอู๋ระบุว่า สามารถนำพาความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศให้นำผลประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง นายอู๋ ย้ำว่าไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ และเป็นมิตรประเทศที่สำคัญที่สุดของจีนในภูมิภาคนี้ และความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศนั้น มีมากกว่าเศรษฐกิจและการค้า
ดังจะเห็นได้จาก ด้านการศึกษา มีนักศึกษาไทยไปเรียนที่ประเทศจีน ซึ่งตอนนี้เป็นอันดับ 1-2 ในประเทศจีน และสถานกงสุลใหญ่ไทยก็เปิดมากที่สุด หรือ เปิดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบเท่ากับประเทศอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความร่วมมืออันดีของ 2 ประเทศ
นายอู๋ จื้ออู่ กล่าวปิดท้ายด้วยความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แม้ว่าจะเกิดมาทำงานไม่ทันตอนเปิดความสัมพันธ์ แต่ก็มีส่วนเล็กน้อยในการร่วมสร้างความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศจวบจนทุกวันนี้ และรู้สึกดีใจมากที่มีโอกาสมาร่วมงานเสวนากับทุกท่านในวันนี้
เรียบเรียง : ศศิมาภรณ์ สุขประสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ่านข่าวอื่น :
ฝ่ายค้านรุก! พริษฐ์ยันไม่ร่วมรัฐบาล จี้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่
ผู้ว่า ททท. ขอโทษ "เที่ยวไทยคนละครึ่ง" เว็บล่ม แจงเหตุไม่ได้รับ OTP