เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2568 การเฉลิมฉลองครบรอบ 90 พรรษาขององค์ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ที่เมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เมืองแห่งนี้เป็นบ้านพักพลัดถิ่นขององค์ดาไลลามะมาตั้งแต่ปี 2502 หลังจากพระองค์ทรงลี้ภัยจากการต่อต้านการปกครองของจีนคอมมิวนิสต์ แม้จะมีฝนตกหนักและหมอกหนาทึบ ผู้คนนับพันก็ยังคงมารวมตัวกันอย่างแน่นขนัด
บรรยากาศภายในอาคารพุทธทิเบต Tsuklakhang เต็มไปด้วยการแสดงระบำสวมหน้ากาก, ดนตรีที่บรรเลงด้วยฆ้อง, ปี่ และเครื่องเป่า เหล่าผู้ร่วมงานได้ร่วมกันร้องเพลง ขณะที่องค์ดาไลลามะทรงรับเค้กวันเกิดที่ตกแต่งด้วยผลไม้สดและดอกลิลลี่สีขาว งานเฉลิมฉลองครั้งนี้มีแขกคนสำคัญเข้าร่วมด้วย อาทิ รัฐมนตรีอินเดียหลายท่าน และนักแสดงฮอลลีวูด ริชาร์ด เกียร์ ผู้สนับสนุนองค์ดาไลลามะมาอย่างยาวนาน

ในโอกาสนี้ องค์ดาไลลามะทรงได้ส่งสารในวันประสูติของพระองค์ผ่านแพลตฟอร์ม X โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างสันติสุขทางใจด้วยการมีจิตใจที่ดีงามและมีความเมตตา พระองค์ยังทรงให้คำมั่นว่าจะยังคงส่งเสริมคุณค่าของมนุษย์, ความกลมกลืนทางศาสนา, ภูมิปัญญาอินเดียโบราณ และวัฒนธรรมทิเบต ที่พระองค์เชื่อว่ามีศักยภาพมากมายที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับโลก พระองค์ยังทรงยืนยันกับผู้เข้าร่วมพิธีว่ามีสภาพร่างกายที่ดีเยี่ยม และทรงตั้งเป้าที่จะมีพระชนมายุยืนยาวถึง 130 พรรษา เพิ่มขึ้น 2 ทศวรรษจากที่เคยทำนายไว้ก่อนหน้า
ประเด็นสำคัญของการเฉลิมฉลองในปีนี้คือ การที่องค์ดาไลลามะทรงประกาศเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งอย่างชัดเจน เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (2 ก.ค.) พระองค์ทรงมีพระดำรัสผ่านวิดีโอแก่ผู้อาวุโสทางศาสนาว่า พระองค์จะมีผู้สืบทอดหลังจากสิ้นพระชนม์ และ "องค์กรกาเด็น โพดรัง (Gaden Phodrang Trust)" ที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้นในปี 2558 เท่านั้นที่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการรับรองการกลับชาติมาเกิดของพระองค์
ไม่มีใครอื่นที่จะมีอำนาจเข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้
ทั้งนี้ การกลับชาติมาเกิดของดาไลลามะ หมายถึงความเชื่อในพุทธศาสนานิกายวัชรยานของทิเบต ว่าดาไลลามะแต่ละองค์เป็นการจุติ (reincarnation) ของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา ซึ่งเลือกเกิดใหม่ในร่างมนุษย์เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์

เมื่อดาไลลามะองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ พระภิกษุและผู้นำศาสนาจะค้นหาเด็กที่เชื่อว่าเป็นร่างจุติใหม่ผ่านการพิจารณาสัญญาณ พิธีกรรม และการทดสอบตามประเพณี เช่น การจดจำข้าวของของดาไลลามะองค์ก่อน กระบวนการนี้ถูกควบคุมโดยองค์กรทางศาสนาทิเบต เช่น องค์กรกาเด็น โพดรัง โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก
การประกาศนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ชาวทิเบตจำนวนมากรอคอยการตัดสินใจเกี่ยวกับสถาบันที่มีอายุหลายศตวรรษนี้ ก่อนหน้านี้ พระองค์เคยตรัสว่าจะประเมินเรื่องนี้อีกครั้งในช่วงวันเกิด 90 พรรษา และทรงเคยระบุว่าผู้สืบทอดจะเกิดนอกประเทศจีนใน "โลกเสรี"
การประกาศขององค์ดาไลลามะได้จุดชนวนความขัดแย้งกับรัฐบาลจีนอีกครั้ง กระทรวงการต่างประเทศของจีนยืนกรานว่า การกลับชาติมาเกิดขององค์ดาไลลามะจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อกำหนดของจีน และต้องได้รับการรับรองจากรัฐบาลกลาง

โฆษกกระทรวงฯ ยังกล่าวว่าการสืบทอดจะต้องสอดคล้องกับพิธีกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมทางประวัติศาสตร์ และการระบุตัวตนผู้สืบทอดจะทำได้ผ่านระบบจับสลากในโกศทองคำ ซึ่งเป็นวิธีการที่เริ่มใช้ในปี 2335 จีนมองว่าองค์ดาไลลามะเป็น "ผู้แบ่งแยกดินแดน" และพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านศาสนาให้เป็นจีน เพื่อรักษาการควบคุมทิเบต นักวิจารณ์เชื่อว่าจีนจะใช้วิธีนี้เพื่อกดดันประชาคมชาวทิเบต
ชาวทิเบตจำนวนมากแสดงความกังวลอย่างยิ่งว่าจีนอาจแต่งตั้ง "ดาไลลามะของตนเอง" ซึ่งพวกเขาจะไม่ยอมรับ เท็นซิน ไนดอน วัย 26 ปี ให้ความเห็นกับ CNN ว่าเธอรู้สึกว่าองค์ดาไลลามะทรงพิจารณาอนาคตอย่างถี่ถ้วน และทรงตัดสินใจชี้นำโดยชาวทิเบตและขนบธรรมเนียมทางพุทธศาสนา ไม่ใช่จากการแทรกแซงทางการเมืองภายนอก
ด้าน ยูดอน โอกัตซัง สมาชิกสภาของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต เชื่อว่า สถาบันขององค์ดาไลลามะมีความสำคัญมากต่อการต่อสู้ของชาวทิเบต อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ชาวทิเบต และเป็นแสงสว่างที่พึ่งทางจิตวิญญาณของพวกเรา เธอกังวลว่าอาจเกิดสุญญากาศหากไม่มีผู้สืบทอดที่ได้รับการยอมรับในไม่ช้า ยืนยันว่าดาไลลามะที่จีนเลือกนั้น "จะไม่ได้รับการยอมรับ" ทั้งจากชาวทิเบตและทั่วโลก

แม้ว่าบารมีขององค์ดาไลลามะจะดูลดลงบ้าง เนื่องจากพระชนมายุที่สูงขึ้น ทำให้ยากต่อการเดินทางไปทั่วโลก และพระองค์ไม่ได้พบกับ ปธน.สหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่สมัยบารัก โอบามา ในปี 2559
อย่างไรก็ตาม ผู้นำโลกเช่น บารัก โอบามา อดีต ปธน.สหรัฐฯ และ นายกฯ อินเดีย นเรนทรา โมดี ก็ได้ส่งข้อความอวยพรอย่างอบอุ่น แสดงถึงความเคารพและการสนับสนุนต่อข้อความแห่งความเมตตาและเสรีภาพของพระองค์ และ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แสดงการสนับสนุนความพยายามในการรักษาวัฒนธรรมทิเบต รวมถึงความสามารถในการเลือกและบูชาผู้นำทางศาสนาได้อย่างอิสระโดยปราศจากการแทรกแซง
องค์ดาไลลามะทรงยืนยันแนวทาง "ทางสายกลาง" มาโดยตลอด ซึ่งเป็นการแสวงหาการปกครองตนเองอย่างแท้จริงสำหรับทิเบตภายใต้จีน ไม่ใช่การแยกตัวเป็นเอกราชเต็มรูปแบบ แนวทางนี้ทำให้พระองค์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2532
อ่านข่าวเพิ่ม :
"องค์ดาไลลามะ" เตรียมเปิดแผนสืบทอดตำแหน่ง "ผู้นำจิตวิญญาณ"
ทรัมป์-เนทันยาฮูถกเข้ม! ลุ้นข้อตกลงหยุดยิงกาซา-ปล่อยตัวประกัน