วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ในหลายประเทศ เช่น ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ศรีลังกา และอินโดนีเซีย วันนี้ยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ธรรมะเดย์ (Dharma Day) และในประเทศไทยเรียกว่า "อาสาฬหบูชา (Asanha Bucha)" ส่วนศรีลังกาเรียกว่า เอสละโปยา (Esala Poya) สำหรับปี 2568 วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันที่ 10 ก.ค.
ที่มา-ความสำคัญ "วันอาสาฬหบูชา"
วันอาสาฬหบูชามีที่มาจากเหตุการณ์สำคัญในพุทธประวัติเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ภายใต้ต้นโพธิ์ที่พุทธคยา พระองค์ทรงพิจารณาธรรมอยู่เป็นเวลา 7 สัปดาห์ และตัดสินพระทัยเผยแผ่สิ่งที่ได้ทรงค้นพบ พระองค์ทรงมุ่งหน้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ซึ่งเป็นอดีตผู้ร่วมบำเพ็ญทุกรกิริยา ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ
ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 นี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแรกสุดชื่อว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" การเทศนานี้ถูกเรียกว่าการหมุนวงล้อแห่งธรรม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นเผยแผ่พระธรรมคำสอน สาระสำคัญของพระธรรมเทศนานี้คือ
- ปฏิเสธทางสุดโต่ง 2 ทาง พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละเว้น กามสุขัลลิกานุโยค หรือ การหมกมุ่นในกามสุข และ อัตตกิลมถานุโยค หรือ การทรมานตน ซึ่งถือเป็นทางสุดโต่งที่ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์
- มัชฌิมาปฏิปทา การเดินทางสายกลาง ทรงแสดงแนวทางการดำเนินชีวิตที่ไม่สุดโต่ง เพื่อนำไปสู่การดับทุกข์ ได้แก่
- อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
- อริยมรรคมีองค์ 8 ชี้แนวทางปฏิบัติอันประเสริฐ 8 ประการ ที่นำไปสู่การดับทุกข์ ได้แก่
- สัมมาทิฏฐิ หรือ ความเห็นชอบ
- สัมมาสังกัปปะ หรือ ความดำริชอบ
- สัมมาวาจา หรือ วาจาชอบ
- สัมมากัมมันตะ หรือ การกระทำชอบ
- สัมมาอาชีวะ หรือ การเลี้ยงชีพชอบ
- สัมมาวายามะ หรือ ความเพียรชอบ
- สัมมาสติ หรือ ความระลึกชอบ
- สัมมาสมาธิ หรือ ความตั้งมั่นชอบ
เมื่อจบพระธรรมเทศนา "พระอัญญาโกณฑัญญะ" ได้ดวงตาเห็นธรรมและบรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธองค์จึงเปล่งอุทานว่า "อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ" (โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ) และพระโกณฑัญญะได้ทูลขอบรรพชาด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทำให้ท่านเป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา
การเกิดขึ้นของพระสงฆ์องค์แรกนี้ ทำให้ พระรัตนตรัย อันประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบสมบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของพระพุทธศาสนา
ประเทศไทยเริ่มกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาในปี พ.ศ.2501 ภายหลังการเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษในปี พ.ศ.2500 และต่อมาในปี พ.ศ.2505 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมทางศาสนา
วันอาสาฬหบูชายังเป็น ประตูสู่พรรษา หรือ วันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นช่วงเวลา 3 เดือนที่พระสงฆ์จะจำพรรษาอยู่ประจำที่เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น
แนวปฏิบัติการทำบุญ "วันอาสาฬหบูชา"
เข้าวัดทำบุญตักบาตร พุทธศาสนิกชนจะเตรียมอาหารคาวหวาน ข้าวสวย ดอกไม้ เทียน และธูป ไปถวายพระสงฆ์ที่วัดในช่วงเช้า นอกจากนี้ยังสามารถถวายสังฆทาน ซึ่งประกอบด้วย ข้าวสารอาหารแห้ง ยาสามัญประจำบ้าน ผ้าไตรจีวร รองเท้า หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด การบริจาคสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ เช่น เก้าอี้พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า พัดลม เครื่องกรองน้ำ หรือเครื่องครัว ก็เป็นประโยชน์ต่อวัดและชุมชน
ฟังธรรมเทศนา หลังจากตักบาตร จะมีการสวดมนต์และฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ โดยมักจะเน้นการอธิบายหลักธรรมสำคัญอย่างอริยสัจ 4 และอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจหลักธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจ
ถือศีล 5 หรือศีล 8 การรักษาศีลในวันนี้เป็นการสำรวมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในความดีงาม ฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็ง และเสริมสร้างบุญกุศล ผู้ปฏิบัติบางคนอาจถือศีล 8 ซึ่งมีข้อปฏิบัติเคร่งครัดกว่าศีล 5
เวียนเทียนรอบอุโบสถ ในช่วงค่ำ กิจกรรมสำคัญคือการเวียนเทียน ผู้ศรัทธาจะจุดธูป เทียน ถือดอกไม้ และเดินประทักษิณ (วนขวา) รอบพระอุโบสถหรือเจดีย์ 3 รอบ โดยระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย คือรอบที่ 1 ระลึกถึงพระพุทธคุณ รอบที่ 2 ระลึกถึงพระธรรมคุณ และรอบที่ 3 ระลึกถึงพระสังฆคุณ การเวียนเทียนควรทำด้วยความสงบ สำรวม และตั้งจิตอธิษฐาน
การเฉลิมฉลองในประเทศต่าง ๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ในประเทศไทย จ.อุบลราชธานี มีเทศกาลแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ ศรีลังกามีพิธี Esala Poya ที่วัดพระเขี้ยวแก้วในเมืองแคนดี้ ส่วนเมียนมาเรียก Waso Full Moon Day เน้นการสนับสนุนปัจจัยที่จำเป็นแก่พระสงฆ์
พลวัตวันอาสาฬหบูชาในยุคดิจิทัล
ในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รูปแบบการประกอบพิธีกรรมในวันอาสาฬหบูชาได้ปรับเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวของพระพุทธศาสนา
- เวียนเทียนออนไลน์ วัดและองค์กรทางศาสนาหลายแห่งได้ริเริ่มจัดกิจกรรมเวียนเทียนออนไลน์ ผ่านช่องทางโซเชียลต่าง ๆ เช่น ทำให้พุทธศาสนิกชนสามารถร่วมกิจกรรมได้จากที่บ้านอย่างสะดวกและปลอดภัย
- ฟังธรรมผ่านสื่อดิจิทัล การถ่ายทอดสดหรือบันทึกธรรมเทศนาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงเนื้อหาธรรมะได้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่เดินทางไม่สะดวก
- ทำบุญผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การโอนเงินทำบุญผ่านช่องทางออนไลน์กลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่นิยม ทำให้การทำบุญเป็นเรื่องง่ายขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ แม้จะลดทอนประสบการณ์ร่วมในการปฏิบัติศาสนกิจที่วัด แต่ก็เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความรู้ทางศาสนาและหลักธรรม สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของศรัทธาที่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้ วันอาสาฬหบูชาในยุคใหม่จึงไม่ได้เป็นเพียงวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ทางจริยธรรมร่วมสมัย ที่สะท้อนถึงการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องและปรับเปลี่ยนของพระพุทธศาสนาในสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง
แหล่งที่มาข้อมูล :
Asalha Puja, Asalha Puja 2025 : The Sacred Day That Begins Buddhist Lent, Jul 4, Matthew John, สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา, บทความวิชาการ พลวัตของวันอาสาฬหบูชาในยุคสมัยใหม่, พระครูโกศลกิจจานุกิจ (เวหา ตาตะมิ), สมเดช นามเกตุ, ภัทราภรณ์ นามเกต
อ่านข่าวอื่น :
สภาพัฒน์รอถกกำแพงภาษี 36% เชื่อไทยยังมีสินค้าแข่งขันได้
ศาลนัดไต่สวน 9 ปาก พัศดีเวรเรือนจำ-จนท.ราชทัณฑ์ คดี "ทักษิณ" ชั้น 14