ประเทศไทยกลายเป็นจุดสนใจอีกครั้งเมื่อมีประเด็นข่าวว่าสหรัฐฯ ขอตั้งฐานทัพเรือถาวรที่ฐานทัพทับละมุ จ.พังงา เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาลดกำแพงภาษีร้อยละ 36 ด้านกองทัพเรือไทยออกโรงยืนยันทันทีว่าไม่มีข้อเสนออย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯ และการใช้ฐานทัพทับละมุเป็นเพียงการส่งกำลังบำรุงตามข้อตกลงที่มีมานานแล้ว
สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ ก็เคยออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวนี้ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ไปแล้วว่าไม่มีแผนตั้งฐานถาวรอันเนื่องจากต้นทุนสูงและความจำเป็นด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนไป ทางด้าน ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง จาก ม.รังสิต ชี้ว่า หากเป็นจริง อาจเป็นกลยุทธ์ของสหรัฐฯ เพื่อคานอิทธิพลจีนในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจีนมีฐานทัพที่มัลดีฟส์และศรีลังกา และขอให้ไทยย้ำจุดยืนไม่ให้ชาติใดตั้งฐานทัพ เพื่อรักษาอธิปไตยและความเป็นกลางในเกมมหาอำนาจ

"ทฤษฎีโดมิโน" จุดเริ่มต้นสหรัฐฯ ปักหลักไทย
การเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยและสหรัฐฯ มีรากฐานมาจากการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคอินโดจีน เมื่อสงครามอินโดจีนปะทุขึ้นในเวียดนามและลาว โดยมีกัมพูชาที่เผชิญกับการลุกฮือของฝ่ายต่อต้านราชวงศ์ ประเทศไทยซึ่งเกรงกลัว "ทฤษฎีโดมิโน" จึงตัดสินใจเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2497 พร้อมกับสหรัฐฯ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน
ทฤษฎีโดมิโน เป็นแนวคิดที่สหรัฐฯ ใช้อธิบายว่า หากประเทศหนึ่งตกอยู่ภายใต้อิทธิพลคอมมิวนิสต์ ประเทศเพื่อนบ้านจะถูกอิทธิพลคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำตาม ล้มตามเหมือนโดมิโน
การเข้ามาของกองทัพสหรัฐฯ ในไทยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในเดือน เม.ย.2504 เมื่อกองทัพอากาศสหรัฐฯ (USAF) หน่วยเฉพาะกิจ 6010th Tactical (TAC) เดินทางถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ตามคำร้องขอของรัฐบาลไทยเพื่อจัดตั้งระบบเตือนภัยทางอากาศ การส่งกำลังพลชุดแรกเป็นส่วนหนึ่งของ "ปฏิบัติการเบลล์โทน" (Operation Bell Tone) พร้อมเครื่องบินขับไล่ F-100 Super Sabres จำนวน 6 ลำ
ต่อมาในเดือน มี.ค.2505 เครื่องบิน F-102 "Delta Daggers" ก็ถูกส่งมาเสริมกำลังที่ดอนเมืองเพื่อหนุนการป้องกันภัยทางอากาศของไทย ในขณะที่ กองบัญชาการช่วยเหลือทางทหารประจำประเทศไทย (Military Assistance Command, Thailand - MACT) ก็ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2505 ณ ดอนเมือง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการประสานงานทางทหาร

ที่มา : JUSMAGTHAI
ที่มา : JUSMAGTHAI
เบื้องหลังสงครามเวียดนาม "ไทย" ฐานทัพยุทธศาสตร์
ไทยถูกพิจารณาให้เป็นพื้นที่จัดกำลังพลที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับสหรัฐฯ เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับเวียดนามเหนือและใต้ และมีประเทศอย่างลาวและกัมพูชาเป็นฉนวนป้องกัน ทำให้มีความปลอดภัยสำหรับบุคลากรทางทหาร ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทั้ง 2 รัฐบาลได้บรรลุ "ข้อตกลงสุภาพบุรุษ" (Gentleman’s agreement) ซึ่งอนุญาตให้กองกำลังสหรัฐฯ สามารถใช้ฐานทัพในประเทศไทยได้
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Library of Congress Blogs ระบุว่าในช่วงสงครามเวียดนาม ประเทศไทยกลายเป็น "หลังบ้าน" ที่สำคัญยิ่งสำหรับปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ โดยมีการประมาณการว่า กว่าร้อยละ 80 ของการโจมตีทางอากาศทั้งหมดของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เหนือเวียดนามเหนือ มีต้นกำเนิดจากฐานทัพในประเทศไทย ข้อมูลจาก Wikipedia เรื่อง United States Air Force in Thailand อธิบายถึงบทบาทเหล่านี้ ได้แก่
- ฐานทัพอากาศดอนเมือง กรุงเทพฯ
- ฐานทัพอากาศโคราช จ.นครราชสีมา
- ฐานทัพเรือนครพนม จ.นครพนม
- ฐานทัพอากาศตาคลี จ.นครสวรรค์
- สนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง
- ฐานทัพอากาศอุบล จ.อุบลราชธานี
- ฐานทัพอากาศอุดร จ.อุดรธานี
- ฐานทัพอากาศน้ำพอง จ.ขอนแก่น
ฐานทัพเหล่านี้เป็นศูนย์กลางสำหรับปฏิบัติการทางอากาศหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินลาดตระเวน RF-101 และ RF-4C จากอุดรธานี ที่บินถ่ายภาพก่อนและหลังการโจมตี เครื่องบินขับไล่ F-105 และ F-4 จากโคราช ตาคลี และอุบลราชธานี ที่ส่งระเบิด ตลอดจนเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 และเครื่องบินเติมเชื้อเพลิง KC-135 จากอู่ตะเภา นอกจากนี้ นครพนมยังเป็นฐานของทีมกู้ภัยทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์ "จอลลีกรีนไจแอนท์"
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยมีนโยบาย "ลดการเปิดเผย" การปรากฏตัวของสหรัฐฯ ในสื่อสาธารณะ การถ่ายภาพบุคลากรสหรัฐฯ และเครื่องบินทหารถูกห้าม ข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารจากฐานทัพไทยถูกระงับ และแม้กระทั่งการโจมตีฐานทัพหรือบุคลากรสหรัฐฯ ที่ได้รับบาดเจ็บก็ไม่ได้รับการเปิดเผยหรือรับรางวัลใด ๆ นโยบายนี้ถูกมองว่าจำเป็นเพื่อให้ไทยยังคงรักษา "ความเป็นกลาง" ไว้ได้ในระดับหนึ่ง

ที่มา : JUSMAGTHAI
ที่มา : JUSMAGTHAI
สิ้นสุดสงครามเย็น สิ้นสุดกองทัพสหรัฐฯ ในไทย
เมื่อสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงด้วยการลงนามข้อตกลงสันติภาพปารีสในเดือน ม.ค.2516 และการล่มสลายของไซ่ง่อนในเดือน เม.ย.2518 รัฐบาลไทยมีคำสั่งให้กำลังพลสหรัฐฯ ออกจากประเทศไทย ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ถูกปิดลง กำลังพลสหรัฐฯ ชุดสุดท้ายออกจากประเทศไทยในเดือน มิ.ย.2519 การถอนกำลังพลนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศในอินโดจีน โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งไทยต้องเผชิญกับแรงเสียดทานทางการต่างประเทศจากเพื่อนบ้าน
หลังสงครามเย็น บทบาทของกองทัพสหรัฐฯ ในไทยได้เปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบความร่วมมือด้านการฝึกและยุทธศาสตร์ การฝึกร่วมผสม "คอบราโกลด์" (Cobra Gold) เริ่มต้นในปี 2525 กลายเป็นกิจกรรมการฝึกอบรมข้ามชาติที่สำคัญในภูมิภาค
นอกจากนี้ การฝึก "โคปไทเกอร์" (Cope Tiger) เริ่มต้นในปี 2537 มีการนำกองทัพอากาศสหรัฐฯ กลับมายังฐานทัพอากาศโคราช เพื่อการฝึกประจำปีร่วมกับกองทัพอากาศไทยและสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาทักษะการรบทางอากาศและความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกัน สนามบินอู่ตะเภาเองก็ยังคงถูกใช้โดยเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ในการปฏิบัติการรบในอิรักและอัฟกานิสถานอีกด้วย

ในปัจจุบัน หน่วยพิทักษ์มาตุภูมิแห่งรัฐวอชิงตัน (Washington National Guard) ยังคงทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยของไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมุ่งเน้นการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยท่าเรือ การดับเพลิง การค้นหาและกู้ภัย และการควบคุมสถานการณ์ในเหตุการณ์ภัยพิบัติ ความร่วมมือนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงบทบาทจากปฏิบัติการทางทหารเชิงรุกในอดีต สู่การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านพลเรือนและการตอบสนองต่อภัยพิบัติ
มรดกที่ถูกซ่อน "ลูกครึ่ง" และ "เอเจนต์ออเรนจ์"
เมื่อทหารสหรัฐฯ จากไป แต่พวกเขาก็ทิ้งมรดกที่กลายเป็นความลับที่ถูกลืมไว้เบื้องหลัง นั่นคือ "ลูกครึ่ง" และ ผลกระทบ "เอเจนต์ออเรนจ์"
จากบทความเรื่อง Luuk Khreung: The Vietnam War’s Forgotten Legacy in Thailand คำว่า "ลูกครึ่ง" เดิมหมายถึงลูกหลานผู้มีเชื้อสายชนชั้นสูงของไทย แต่การเข้ามาของทหารสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเวียดนามทำให้คำนี้มีความหมายเชิงลบ กลายเป็น "ลูกโสเภณี" ในบางบริบท การปรากฏตัวของทหารสหรัฐฯ ทิ้ง "ลูกครึ่ง" ไทย-อเมริกัน ราว 5,000-8,000 คน ซึ่งมักถูกเลือกปฏิบัติและเผชิญปัญหาการยอมรับในสังคม บางคนอพยพไปสหรัฐฯ ได้ แต่หลายคนต้องพึ่งการทดสอบ DNA เพื่อตามหาครอบครัว
เพลง "แหม่มปลาร้า" ประพันธ์โดยครูชลธี ธารทอง เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่สะท้อนภาพสังคมไทยในยุคสงครามเวียดนาม (2504-2518) ที่ทหารอเมริกัน หรือ "จีไอ" เข้ามาตั้งฐานทัพในไทย นำเงินดอลลาร์และวิถีชีวิตหรูหรา สร้างความฝันให้หญิงสาวไทยจำนวนมากที่อยากแต่งงานกับทหารเหล่านี้เพื่อหนีความยากจนไปสู่ชีวิตที่ดีในอเมริกา
ทำไมไม่ไปอยู่อเมริกา คุณหญิงดอลลาร์กลับมาทำไมเมืองไทย
แต่เมื่อทหารสหรัฐฯ ถอนกำลังในปี 2519 หญิงไทยที่ถูกเรียกว่า "แหม่มปลาร้า" หรือ "เมียฝรั่ง" มักถูกทิ้งไว้ ความฝันจะไปใช้ชีวิตต่างประเทศพังทลาย ครูชลธีได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ตรง ประพันธ์เพลงนี้และถูกขับร้องโดย สายัณห์ สัญญา

อีกหนึ่งมรดกอันมืดหม่นคือ การใช้สารเคมี "เอเจนต์ออเรนจ์" (Agent Orange) ยาฆ่าหญ้าชนิดนี้ถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดพืชพรรณรอบฐานทัพสหรัฐฯ ในไทย เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การสัมผัสสารเอเจนต์ออเรนจ์ได้นำไปสู่โรคมะเร็ง ความพิการแต่กำเนิด และอาการป่วยร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อเหล่าทหารผ่านศึกทั้งในไทยและต่างประเทศจนถึงปัจจุบันนี้
และที่ยากไปกว่าเดิมคือ การเรียกร้องขอค่าชดเชยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่เริ่มแรกไม่มีหน่วยงานใดให้การช่วยเหลือ จนกว่าจะพิสูจน์ทราบได้ว่าเกิดจากเอเจนต์ออเรนจ์ จนกระทั่งมีการผ่านกฎหมายสหรัฐฯ หรือ PACT Act 2565 ที่ขยายสิทธิให้ผู้ประจำการในไทยระหว่าง 2505-2519 สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินชดเชยได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ตำแหน่ง
"ไทย" จุดยุทธศาสตร์สำคัญ 2 มหาอำนาจโลก
ปัจจุบัน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความเข้มข้นขึ้น ทั้ง 2 มหาอำนาจต่างมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจมหาศาลในภูมิภาคนี้ โดยต่างฝ่ายต่างเกรงกลัวว่าอีกฝ่ายจะเข้ามามีอิทธิพลเหนือกว่า
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก The Asia Foundation: U.S.–China–Southeast Asia Relations: Challenges and Opportunities for Regional Cooperation ระบุว่า ประเทศในอาเซียนโดยส่วนใหญ่ไม่ต้องการถูกบังคับให้ "เลือกข้าง" ระหว่าง 2 มหาอำนาจ ส่วนใหญ่ต่างปรารถนาที่จะมีส่วนร่วม สร้างสมดุล และรักษาผลประโยชน์ของตนเองกับทั้ง 2 ฝ่าย
อาเซียนมีความกังวลหลักเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะ ติดกับดัก ในความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะประเด็นไต้หวันหรือทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามได้ นอกจากนี้ ยังกังวลถึง การแบ่งขั้ว ทางการเมือง ซึ่งอาจบังคับให้รัฐเล็ก ๆ ต้องเลือกฝ่าย และกลายเป็น "ตัวแทน" ในการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ

ที่มา : JUSMAGTHAI
ที่มา : JUSMAGTHAI
สิ่งที่อาเซียนปรารถนาคือ สภาพแวดล้อมภายนอกที่สงบและมั่นคง มีการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่ความขัดแย้ง อาเซียนเรียกร้องให้มหาอำนาจร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมในประเด็นความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ อาชญากรรมข้ามชาติ และโรคระบาด
นอกจากนี้ ยังต้องการการสนับสนุนอย่างจริงจังต่อ "ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน" (ASEAN Centrality) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการรักษาเสถียรภาพและความร่วมมือในภูมิภาค
แม้จีนจะถูกมองว่ามีส่วนร่วมในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั่วภูมิภาคอย่างสร้างสรรค์ผ่านโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) มากกว่าสหรัฐฯ แต่ประเทศในอาเซียนบางประเทศก็ยังคงระมัดระวังเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่อาจเกิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน นโยบายการแยกส่วนทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากจีน ก็สร้างความกังวลว่าอาจนำไปสู่การแบ่งขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนจึงต้องการ "การกระจายความเสี่ยง" ไม่ใช่ "การแยกส่วน"
แหล่งที่มาข้อมูล :
U.S.–China–Southeast Asia Relations: Challenges and Opportunities for Regional Cooperation, United States Air Force in Thailand, Kyoto Review of Southeast Asia, U.S. Embassy Bangkok's
อ่านข่าวอื่น :
ย้ำชัดไม่มีดีล “สหรัฐฯ” ตั้งฐานทัพพังงา บทเรียนไล่ “จีไอ” ไม่อยากให้มีภาค 2
"ภูมิธรรม" โต้ไม่เคยคุยสหรัฐฯ ใช้ฐานทัพเรือแลกดีลภาษี