ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขความลับ “สี” บึ้งประกายสายฟ้าชนิดใหม่ของโลก

สิ่งแวดล้อม
13:39
233
ไขความลับ “สี” บึ้งประกายสายฟ้าชนิดใหม่ของโลก
อ่านให้ฟัง
04:15อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

วันนี้ (18 ก.ค.2568) ที่เวทีการประชุมวิชาการเรื่องมดในประเทศไทย ครั้งที่ 6 (ANetThai) จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อนำเสนองานวิจัยของนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องมดและแมงมุมในประเทศไทย

หนึ่งในผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์จากวารสารวิจัยนานาชาติ Zookeys เมื่อปี 2566 คือ บึ้งประกายสายฟ้า ซึ่งอยู่ในกลุ่มของแมงมุม ทีมวิจัยนำโดย ดร.นรินทร์ ชมภูพวง อาจารย์ประจำสาขากีฏวิทยาและโรคพืชวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมคณะ และโจโฉ ยูทูบเบอร์ชื่อดัง สำรวจวิจัยและพบบึ้งชนิดนี้จากป่าชายเลนใน จ.พังงา เป็นครั้งแรก

นายชวลิต ส่งแสงโชติ นักแมงมุมวิทยาจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะวิจัย บอกว่า ถึงแม้บึงประกายสายฟ้า จะได้รับการยืนยันเป็นบึ้งชนิดใหม่ของโลก แต่ยังมีข้อมูลที่ต้องวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะการไขความลับเรื่องสีบนตัวบึ้งที่เกิดจากการหักเหของแสง ต้องศึกษาโครงสร้างของบึ้งว่าเหตุใดถึงหักเหแสงได้ จนเกิดความสวยงามบนตัว

นอกจากนี้ ยังมีบึ้งบางชนิดที่อยู่ในกระบวนการวิจัย เช่น บึ้งปล้องไผ่พระเจ้าตากสิน ที่เลือกอยู่ในปล้องไผ่ ซึ่งต้องศึกษาเรื่องระบบนิเวศวิทยาของบึ้งชนิดนี้ว่าเชื่อมโยงสัตว์ชนิดใดที่เป็นผู้ทำรูให้บึ้งชนิดนี้

ด้านนายพงศกร บัวบาน หรือน้องภูมิ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยา จ.นนทบุรี ได้เข้ามาช่วยงานและศึกษาเรื่องของบึ้งและแมงมุมกับทีมอาจารย์ ม.ขอนแก่น ที่บูธงาน ANetThai อธิบายเพิ่มว่า บึ้งประกายสายฟ้า ถือว่าสวยที่สุดในโลก และมีความพิเศษมาก

สีที่ตัวบึ้งประกายสายฟ้าไม่ได้เกิดจากเม็ดสี แต่เกิดจากการหักเหของแสงในเส้นขนของตัวบึ้งในระดับนาโนเมตร เมื่อใช้ไฟส่องที่ตัวในมุมต่าง ๆ จะทำให้สีเปลี่ยน เช่น เขียว ม่วง ฟ้า ชมพู ซึ่งทีมวิจัยกำลังหาคำตอบในส่วนนี้

พงศกร บอกว่า นอกจากความพิเศษที่เกิดจากความสวยงามของบึ้งแล้ว ยังพบว่าบึ้งสามารถปรับตัวเข้ากับถิ่นที่อยู่และระบบนิเวศได้ดี ไม่ว่าจะอยู่ในรูดิน โพรงไม้ และต้นไม้สูง 10 เมตร แต่ในทางกลับกันพบว่าป่าเลนชายที่ถูกบุกรุก ส่งผลให้สถานะของบึ้งอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง

นอกจากนี้ มีผู้สนใจศึกษาบึ้งและแมงมุมในป่าธรรมชาติของไทยน้อยมาก และหากพบแมงมุมแปลกในธรรมชาติ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่าอาจเป็นชนิดใหม่ก็ได้ ทำให้ตัวเองสนใจที่จะศึกษาต่อ และมีความใฝ่ฝันที่จะก้าวเข้าสู่นักแมงมุมวิทยาในอนาคต โดยกำลังทำแฟ้มสะสมผลงาน เพื่อสมัครสอบในมหาวิทยาลัย

"ชอบแมงมุมมาตั้งแต่ ป.1 มีฮีโรในดวงใจวัยเด็ก คือ สไปเดอร์แมน ไม่ได้รู้สึกกลัวเหมือนเด็กคนอื่น ๆ และหลงเสน่ห์แมงมุมหยากไย่บ้านตัวแรกที่ชอบอยู่ในห้องน้ำ ชอบตัวสีสันลวดลายแปลก และศึกษาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ชอบกลุ่มแมงมุมกระโดดเลียนแบบมด เพราะดวงตาคู่แรกจะใหญ่และมีตัวเล็กใกล้เคียงกับมด"

ทั้งนี้ ทีมวิจัยว่าอยู่ระหว่างการศึกษาแมงมุม เช่น แมงมุมกระโดดเลียนแบบมดแดง ที่อาศัยตามพุ่มไม้ ต้นไม้และพรางตัวบริเวณมดแดง ส่วนอีกชนิดคือ Southern Blue Tarantula มีลักษณะเด่นลำตัวเป็นสีฟ้าครามตั้งแต่ต้นขาจนถึงปลายขา และมีตัวสีน้ำเงินเมทัลลิก รวมทั้งบึ้งครามระนอง ซึ่งเป็นบึ้งตัวเดียวในสกุล Ornithoctonus ที่มีสีฟ้าคราม พบในภาคใต้ของไทย

อ่านข่าว : หาดูยาก กล้องดักถ่ายจับภาพ "เสือไฟ" ป่าเขาหลวง 

สำรวจพบ "แม่ลูกพะยูน - โลมาหลังโหนก" โชว์ตัวเกาะลิดี