วันนี้ (20 ก.ค.2568) ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชน เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "การปกป้องศาสนาและศรัทธาของประชาชน" ดำเนินการระหว่างวันที่ 16-19 ก.ค.2568 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,143 คนทั่วประเทศ ด้วยวิธีวิจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ พบว่าร้อยละ 80.1 พอใจการทำงานของตำรวจในการปกป้องศาสนาและศรัทธา มากกว่าหน่วยงานอื่น ๆ รองลงมาคือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ร้อยละ 72.3 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้อยละ 70.6 สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ร้อยละ 65.8 และกระทรวงวัฒนธรรมร้อยละ 41.2 สะท้อนว่าประชาชนไว้วางใจหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและต่อต้านทุจริตมากกว่าหน่วยงานศาสนาโดยตรง
เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อมาตรการจัดการพระสงฆ์ที่ทำผิดร้อยละ 78.5 พอใจการจับกุมพระที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต้องห้ามร้อยละ 74.2 หนุนการดำเนินคดีพระที่ยักยอกเงินวัดหรือเงินบริจาคร้อยละ 73.1 สนับสนุนการตรวจสอบทรัพย์สินของพระและฆราวาสที่เกี่ยวข้องกับวัดร้อยละ 69.7 พอใจที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบทันทีหลังได้รับเบาะแส และ ร้อยละ 55.2 เห็นด้วยกับมาตรการคุ้มครองพระดีที่ถูกใส่ร้าย ผลนี้แสดงถึงความต้องการของประชาชนที่ให้ความสำคัญกับการกระทำที่เป็นรูปธรรมมากกว่าพิธีกรรมหรือคำกล่าวอ้าง
ผลสำรวจยังระบุบุคคลที่ประชาชนชื่นชมในการจัดการปัญหาพระทำผิด อันดับ 1 คือ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว หรือ "บิ๊กเต่า" ได้รับคะแนนนิยมร้อยละ 74.6 จากความซื่อสัตย์และกล้าหาญ อันดับ 2 หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ร้อยละ 73.4 จากการเปิดพื้นที่สื่อและติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง อันดับ 3 แพรรี่ ทิดไพรวัลย์ ร้อยละ 69.8 จากการวิจารณ์วงการสงฆ์อย่างตรงไปตรงมา อันดับ 4 อาจารย์เบียร์ คนตื่นธรรม ร้อยละ 64.3 จากการพูดตามหลักพุทธศาสนา และอันดับ 5 สื่อมวลชนทั่วไปร้อยละ 59.1 จากการนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

ด้านข้อเรียกร้องของประชาชนร้อยละ 91.5 ต้องการเพิ่มบทลงโทษพระที่ทำผิดหนักกว่าคนทั่วไป ร้อยละ 82.5 เรียกร้องให้ตำรวจและหน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ร้อยละ 80.6 สนับสนุนปฏิรูปกฎหมายเพื่อจัดระเบียบสงฆ์ทุกศาสนา ร้อยละ 77.4 ต้องการตรวจสอบองค์กรศาสนาอย่างเท่าเทียม และ ร้อยละ 63.9 เห็นว่าภาคประชาสังคมควรมีส่วนร่วมในการจัดระเบียบศาสนา
ผศ.ดร.นพดล ระบุว่า ผลสำรวจสะท้อนความศรัทธาของประชาชนต่อศาสนาในฐานะหลักจริยธรรม แต่ไม่ยอมรับการใช้ศาสนาเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ความไว้วางใจจึงเคลื่อนสู่ตำรวจและบุคคลสาธารณะที่กล้าเปิดเผยความจริง หน่วยงานศาสนาต้องปฏิรูปบทบาทให้โปร่งใสและใกล้ชิดประชาชน เพื่อปกป้องศาสนาและศรัทธาให้บริสุทธิ์ด้วยการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยไม่ยกเว้นผู้ใด
อ่านข่าวอื่น :
หลักฐานแน่น อดีตเจ้าคณะนครสวรรค์กอดสีกา ตร.สอบเพิ่มทุจริตวัด
วัดนครสวรรค์แถลง "พระธรรมวชิรธีรคุณ" สึกเหตุเรื่องส่วนตัว