ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สัมพันธ์สะดุด" ประมวลเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการทูตไทย-กัมพูชา

การเมือง
17:06
3,019
"สัมพันธ์สะดุด" ประมวลเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการทูตไทย-กัมพูชา
อ่านให้ฟัง
09:21อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา มีความผันผวนมาอย่างยาวนาน ทั้งมิตรภาพและความตึงเครียด โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งอาณาเขตและการเมือง ซึ่งนำไปสู่การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและเหตุปะทะกันหลายครั้งในอดีต

เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2568 หลังจากเหตุการณ์ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดจน ได้รับบาดเจ็บสาหัสและขาขาดในพื้นที่ห้วยบอน ช่องอานม้า จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะ รักษาการนายกฯ สั่งการให้เรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชากลับ และ ขับเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำไทยกลับประเทศ

วันนี้ (24 ก.ค.2568) สื่อกัมพูชาได้รายงานว่ารัฐบาลกัมพูชาประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยลงเหลือใน "ระดับต่ำสุด" 

โดยเหตุการณ์การลดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-กัมพูชา ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงครั้งแรกเท่านั้น แต่ยังเคยมีเหตุการณ์การลดความสัมพันธ์มาหลายครั้งด้วยกัน

เหตุการณ์ลดระดับความสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา

ไทยและกัมพูชามีการลดระดับทางการทูตถึงหลายครั้งด้วยกัน ดังนี้ 

ฝ่ายกัมพูชาลดความสัมพันธ์ทางการทูตไทย โดยปี พ.ศ.2501 และ พ.ศ.2504 มีสาเหตุมาจากข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร

  • ปี พ.ศ.2501 ภายใต้รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กัมพูชาได้เป็นฝ่ายตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย โดยให้เหตุผลคือ หนังสือพิมพ์ไทยนำเสนอข่าวโจมตีกัมพูชา ซึ่งในระยะเวลานั้นมีการตอบโต้กันผ่านสื่อมวลชนหลายครั้ง ไทยได้มีการสั่งปิดชายแดน แต่ช่วงเดือน ก.พ.2502 ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ขึ้นอีกครั้ง

  • ปี พ.ศ.2504 กัมพูชาเป็นฝ่ายยุติความสัมพันธ์ครั้งที่ 2 โดยให้เหตุผลว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น ได้กล่าวหากัมพูชาอย่างเปิดเผยต่อหน้าคณะทูตในประเทศไทยว่า ได้อนุญาตให้มีการใช้ดินแดนในประเทศ เป็นฐานทัพสำหรับรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งใช้เวลาถึง 5 ปี ถึงสามารถคืนความสัมพันธ์ทางการทูตได้อีกครั้งในปี 2509

ฝ่ายไทยลดความสัมพันธ์ทางการทูตกัมพูชา

  • ปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยสมัยภายใต้รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ไทยเป็นฝ่ายลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตลงเหลือเป็นระดับ "อุปทูต" เหตุการณ์เกิดขึ้น หลังจากเกิดการจลาจลในกรุงพนมเปญ เมื่อเดือน ม.ค.2546 โดยหนังสือพิมพ์กัมพูชาได้เผยแพร่ข่าว อ้างว่า น.ส.สุวนันท์ คงยิ่ง นักแสดงชาวไทยกล่าวถึงว่าปราสาทนครวัดเป็นของไทย 

    จึงทำให้เกิดการปลุกระดมชาตินิยมในกัมพูชา ส่งผลให้สถานทูตไทยในกัมพูชาถูกเผา และมีชาวไทยจำนวนมากต้องอพยพออกนอกจากกัมพูชา รัฐบาลไทยจึงได้มีการประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาในเวลาต่อมา และหลังจากเกิดการจลาจลขึ้น รัฐบาลไทยได้ส่งเครื่องบินทางทหารไปอพยพชาวไทย รวมไปถึงนักการทูตทั้งหมดออกจากกัมพูชา และเชิญนักการทูตกัมพูชาออกนอกประเทศ เพื่อเป็นการตอบโต้พร้อมกับสั่งปิดพรมแดนที่ติดกับกัมพูชา ในช่วงที่เกิดเหตุจลาจลเผาสถานทูตไทย รมว.กลาโหมของไทยคือ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
  • ปี พ.ศ.2552 ประเทศไทยลดระดับความสัมพันธ์เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลกัมพูชาให้การสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งลี้ภัยอยู่ ประเทศไทยสมัยภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ทำการยื่นหนังสือขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้กับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เพื่อขอตัวนายทักษิณ ชินวัตร

    แต่ทางการกัมพูชาได้ทำหนังสือยืนยันไม่ส่งตัวนายทักษิณกลับไทย รมว.กลาโหมของไทยขณะนั้นคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

การลดความสัมพันธ์ครั้งล่าสุด (ตั้งแต่ 23 ก.ค.2568)

หลังจากเหตุการณ์ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิดจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและขาขาดในพื้นที่ห้วยบอน ช่องอานม้า จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา นำไปสู่มาตรการตอบโต้ทางการทูตจากทั้ง 2 ฝ่าย

  • เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2568 ประเทศไทยประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะ รักษาการนายกฯ ได้สั่งการให้เรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศกัมพูชากลับ และส่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับประเทศ

อ่านข่าว : ภูมิธรรมสั่งหนัก! เรียกทูตไทยกลับ-ขับทูตกัมพูชา ปมระเบิดช่องอานม้า

  • ในขณะเดียวกัน วันนี้ (24 ก.ค.2568) สื่อกัมพูชารายงานว่า รัฐบาลกัมพูชาประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยลงเหลือ "ระดับต่ำสุด" เพื่อเป็นการตอบโต้การตัดสินใจของไทย รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยและสั่งให้เจ้าหน้าที่การทูตกัมพูชาทุกคนที่ประจำอยู่ในสถานทูตกัมพูชา ที่กรุงเทพฯ เดินทางกลับ พร้อมระบุว่าสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญต้องดำเนินการเช่นเดียวกัน

อ่านข่าว : "กัมพูชา" ประกาศลดความสัมพันธ์กับไทยเป็น "ระดับต่ำสุด"

เหตุการณ์การปะทะทางทหาร

การปะทะกันบริเวณเขาพระวิหาร (4-7 ก.พ.2554)
เหตุการณ์การปะทะครั้งรุนแรงระหว่างทหารไทย-กัมพูชา สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความตึงเครียดที่ปราสาทเขาพระวิหาร ตั้งแต่ปี 2551 การปะทะครั้งนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2554 ทวีคูณความรุนแรง ถึงขั้นเป็นการสู้รบของกองกำลังทั้ง 2 ประเทศ โดยมีการใช้อาวุธนานาชนิด กระสุนปืนใหญ่ ซึ่งได้ตกเข้ามาในเขตพลเรือนหลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งฝ่ายทหาร พลเรือน และราษฎรไทย

ฝั่งกัมพูชาได้มีการเตรียมกำลังรบอย่างเต็มอัตรา พร้อมอาวุธสงครามปืนใหญ่และรถถังจำนวนมากที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม. ซึ่งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของปราสาทเขาพระวิหาร 

การปะทะบริเวณปราสาทตาเมืองธมและตาควาย (22 เม.ย. - 3 พ.ค.2554)
การปะทะครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในอีก 2 เดือนต่อมา โดยครั้งนี้ขยายวงกว้างไปถึงพื้นที่ชายแดน จ.สุรินทร์ และ บุรีรัมย์ มีการสู้รบด้วยอาวุธหนักเป็นระยะเวลากว่า 10 วัน การสู้รบครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งทหารกัมพูชาและทหารไทย รวมถึงพลเรือนไทย

ปัจจัยนำสู่ความขัดแย้ง

อาณาเขต ปัญหาเขตแดนที่ไม่ชัดเจนเป็นรากฐานของความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา โดยมีที่มาจากยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส ได้เข้ามาจัดทำแผนที่ใหม่ โดยไม่คำนึงถึงข้อตกลงดั้งเดิม ส่งผลให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนและข้อพิพาทหลายแห่ง

อย่างกรณีที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ 1 พื้นที่ 3 ปราสาท ได้แก่ ช่องบก ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย ปราสาทเมือนโต๊ด ฝั่งกัมพูชาอ้างสิทธิ์ 4 พื้นที่พิพาท จะนำเสนอข้อพิพาทนี้เข้าสู่ศาลโลก

การเมือง ปัญหาการเมืองภายในของทั้ง 2 ประเทศที่อาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ หรือส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนนำไปสู่ความตึงเครียดตามแนวชายแดน

สังคมและวัฒนธรรม ความหวาดระแวงและอคติจากประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ประเทศที่มักจะถูกนำมาเป็นประเด็นความขัดแย้ง หรือ การใช้แนวคิดชาตินิยมในการปลุกปั่น ปลุกใจ ประชาชนให้รู้สึกร่วมกับความขัดแย้ง เช่น กรณีที่ผู้นำกัมพูชา ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการอ้างสิทธิ์พื้นที่ว่าเป็นของกัมพูชา

อ่านข่าว : นักวิชาการชี้ "อัตลักษณ์เชิงอาณาเขต" สะท้อนชาตินิยมกัมพูชา

แหล่งข้อมูล : วารสารดำรงราชานุภาพ สมรภูมิเขาพระวิหาร , สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ , ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา , วิกิพีเดีย

เรียบเรียง : ศศิมาภรณ์ สุขประสิทธิ์ นักศึกษาฝึกงาน โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ่านข่าวเพิ่ม : ทภ.2 งัด ม.51 กฎบัตรสหประชาชาติ ไทยมีสิทธิในการป้องกันตนเอง

ลำดับเหตุการณ์นำมาสู่การปะทะระหว่าง "ไทย-กัมพูชา"

"ศบ.ทก." ชี้กัมพูชาเริ่มรุนแรง ก่อนถล่มเป้าหมายพลเรือน