วันนี้ (25 ก.ค.2568) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนคดีการบังคับโทษจำคุก นายทักษิณ ชินวัตร ที่ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยคดีนี้มีอัยการและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ และมีนายทักษิณ เป็นจำเลย
การไต่สวนวันนี้เป็นนัดที่ 6 โดยเริ่มในเวลา 09.00 น. ซึ่งจะเป็นการไต่สวนตัวแทนจากแพทยสภา ที่ศาลสั่งให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคของนายทักษิณ เข้าเบิกความต่อศาลจำนวน 3 ปาก เช่น ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภา ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และกรรมการแพทยสภา ศ.นพ.ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง ในการไต่สวนและภาพรวมเบิกความทิศทางเดียวกันที่ชี้ว่า
อาการป่วยของนายทักษิณไม่ถึงเข้าขั้นวิกฤต และเมื่อได้รับการรักษาแล้ว สามารถกลับไปพักรักษาตัวที่ทัณฑสถานเพื่อรอดูอาการได้ โดยไม่จำเป็นต้องรักษานานต่อเนื่องที่โรงพยาบาลตำรวจ
สำหรับการไต่สวน ศ.นพ.ประสิทธิ์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที ส่วนใหญ่เป็นการซักถามข้อมูลด้านการรักษาผู้ป่วยในฐานะแพทย์ พร้อมทั้งให้ดูเอกสารและให้ความเห็นใบบันทึกการตรวจร่างกายนายทักษิณ ที่ พญ.รวมทิพย์ สุภานันท์ แพทย์ที่ตรวจร่างกายนายทักษิณ บันทึกไว้ในวันที่ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
และใบบันทึกการอาการของพยาบาลเวรในสถานกักกันโรค เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่รับตัวจนถึงจังหวะที่นายทักษิณมีอาการจนต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจว่า ในภาพรวมมีอาการรุนแรงเข้าขั้นวิกฤตเฉียบพลันหรือไม่
นอกจากนี้ยังให้ดูบันทึกการรักษาของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเพิ่งจะส่งมาให้ศาลในวันนี้ และใบเสร็จค่ารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ รวมทั้งยาที่ใช้ในการรักษาโรคด้วย
ศาลยังได้สอบถามถึงการออกใบรับรองแพทย์เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และยังถามถึงขั้นตอนการปฏิบัติ เมื่อพบผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤต ซึ่งมีอาการเหมือนกับนายทักษิณ เพื่อให้ความเห็นว่าอาการของนายทักษิณมีข้อบ่งชี้ว่า มีภาวะวิกฤตหรือไม่
ซึ่งภาพรวมการเบิกความ ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า นายทักษิณ ไม่ได้มีอาการวิกฤตจนต้องนอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน แต่อาจยกเว้นเฉพาะช่วงกรณีที่มีการผ่าตัด
จากนั้น ศ.นพ.ไชยรัตน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ศาลใช้เวลาไต่สวนพยานปากนี้ประมาณ 40 นาที ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในประเด็นหลักการรับตัวผู้ป่วยเข้ารักษาในห้องไอซียู
โดยสอบถามว่า อาการป่วยของนายทักษิณนั้นมีข้อบ่งชี้ว่า เข้าข่ายอาการวิกฤตหรือไม่ โดยภาพรวมพยานคนนี้เบิกความ โดยอ้างอิงจากใบบันทึกการรักษาของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจที่ไล่เรียงเวลาและวิธีการรักษาของแพทย์แล้วชี้ว่า
อาการของนายทักษิณไม่ได้วิกฤต เพราะไม่ได้มีการตรวจโรคที่อ้างถึง แบบทันทีทันใด เช่น ตรวจคลื่นหัวใจ การเอ็กซเรย์ปอด หรือ การตรวจเอนไซม์โปรตีนในหัวใจ รวมทั้งยารักษาโรคที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปกว่าการรักษาผู้ป่วยทั่วไป
ส่วนพยานคนสุดท้าย ศ.นพ.กีรติ ประธานราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อต่อ ศาลใช้เวลาซักถามประมาณ 20 นาที สาระสำคัญที่มีการเบิกความ คือ การประเมินในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก เกี่ยวกับการผ่าตัดนิ้วล็อค และเอ็นไหล่ฉีกว่า
ในการรักษาไม่จำเป็นต้องรักษาแบบทันทีทันใด แต่สามารถนัดผ่าตัดในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องประเมินจากความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมถึงเมื่อมีการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยโดยทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล สามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ แต่ก็ยอมรับว่า การรักษาตัวต่อก็ต้องมีการอ้างอิงข้อมูลโรคที่ผู้ป่วยเป็นประกอบกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บางช่วงการซักถาม ของทนายฝ่ายจำเลย พยายามถามถึงเรื่อง มติของแพทยสภา มีส่วนเกี่ยวข้องกับพยานที่มาเบิกความหรือไม่ และถามถึงการเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ ที่คล้ายโน้มน้าวให้ลงมติแพทย์ 3 คน ที่รักษานายทักษิณ ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้ตอบ เนื่องจากไม่เกี่ยวกับประเด็นการไต่สวนในครั้งนี้ เพราะศาลไต่สวนพยานทั้งสามคน ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคเท่านั้น
ทั้งนี้มีพยานได้ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ประกอบด้วย พล.ต.ท.นพ.โสภณรัตน์ สิงหจารุ อดีตนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ท.นพ.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ แพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และ พ.ต.อ.นพ.ชนะ จงโชคดี ขณะเดียวกันในห้องพิจารณาคดี มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจ เข้ามาร่วมฟังการไต่สวนด้วย
ส่วนการไต่สวนพยานนัดถัดไปวันที่ 30 ก.ค.นี้ พยานปากเดียว คือ ศ.เกียรติคุณ วิษณุ เครืองาม ซึ่งเป็นพยานของนายทักษิณ ชินวัตร ตามที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ยื่นเสนอต่อศาลพิจารณา
อ่านข่าว : สธ.อัปเดตสู้รบชายแดน ปชช.เสียชีวิต 13 บาดเจ็บ 31 คน
ทบ.โต้ข่าวโจมตี "ปราสาทพระวิหาร" ชี้กัมพูชาบิดเบือนข้อเท็จจริง