สถานการณ์ตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาที่ปะทุขึ้นในช่วงเวลานี้ ส้างความวิตกกังวลให้กับคนไทย บางส่วนถึงขั้นเกิดความโกรธแค้นลุกลามเป็นกระแสเกลียดชังที่นำไปสู่พฤติกรรมรุนแรง เช่น การทำร้ายแรงงานชาวกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในไทย
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ระบุว่า ความรุนแรงทางอารมณ์เช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเสพข่าวสารโดยขาดการกลั่นกรอง โดยเฉพาะสื่อที่โน้มเอียงไปทางดรามาและปลุกเร้าอารมณ์ อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสถานการณ์นั้นรุนแรงกว่าความเป็นจริง และพัฒนาไปสู่ความเกลียดชังโดยไม่รู้ตัว
การเสพข่าวไม่ใช่แค่เรื่องการจำกัดเวลาเท่านั้น แต่ต้องเลือกเสพอย่างมีสติ ต้องแยกแยะระหว่างข่าวสารที่ให้ข้อมูลรอบด้าน กับสื่อที่มีเป้าหมายเพื่อปลุกอารมณ์ให้เกลียดชังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
นพ.ยงยุทธ เตือนว่า ความขัดแย้งระหว่างประเทศเป็นเรื่องของระดับนโยบายรัฐ ไม่ควรถูกนำมาโยงกับประชาชนทั่วไปที่ยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งในแง่การค้าขายและการทำงานร่วมกัน ซึ่งประชาชนไม่ต้องการสงคราม เพราะนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งกาย ใจและเศรษฐกิจ คนที่ใช้ความรุนแรงมักต้องการความชอบธรรม ซึ่งวิธีหนึ่งในการสร้างความชอบธรรมคือการปลุกกระแสเกลียดชัง จึงต้องระวังไม่ตกเป็นเหยื่อของกลไกนี้
จิตแพทย์ยังเน้นว่า การเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่มีเหตุผลและสร้างความเข้าใจ เป็นเกราะป้องกันสำคัญต่อภาวะเครียดและความรุนแรงทางอารมณ์ โดยเฉพาะในยุคที่ระบบออนไลน์มีการใช้อัลกอริทึมคัดกรองเนื้อหาตามพฤติกรรมผู้ใช้งาน ซึ่งอาจยิ่งทำให้คนหมกมุ่นอยู่ในโลกของอารมณ์ลบหากไม่ได้รับสติ
“ชาวกัมพูชาทั่วไปก็เหมือนกับคนไทย พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง พวกเขาแค่อยากมีชีวิตสงบ ทำงานสุจริต เลี้ยงครอบครัว ความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ร่วมกันต่างหากคือสิ่งที่ควรยึดไว้” นพ.ยงยุทธกล่าว
อ่านข่าว
สธ.ออก 9 ข้อสั่งการ ปิด รพ.เขต Hot Zone - วางเส้นทางอพยพ
"ภูมิธรรม" เผย "อันวาร์" เสนอขอเป็นตัวกลางเจรจาหยุดยิงไทย-กัมพูชา