วันนี้ (25 ก.ค.2568) นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ.วางระบบบัญชาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชา 7 จังหวัด พร้อมมีข้อสั่งการถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและในพื้นที่ 9 ข้อ ดังนี้
- จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) ในระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ เพื่อวิเคราะห์และประสานสั่งการด้านสุขภาพ
- ประเมินสถานการณ์โรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง การปิดโรงพยาบาลในเขต Hot Zone และประสานหน่วยแพทย์ทหารตามแนวทางที่กำหนด
- วางแผนเส้นทางและระบบการส่งต่อผู้ป่วย จากพื้นที่ชายแดนไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมทั้งในและนอกจังหวัดอย่างรวดเร็วและปลอดภัย
- จัดเตรียมโรงพยาบาลในพื้นที่และโรงพยาบาลคู่ขนาน ให้มีเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก, ห้องผ่าตัด, และห้องฉุกเฉินที่พร้อมใช้งาน
- ตรวจสอบและสำรองยา เวชภัณฑ์ วัสดุทางการแพทย์ อุปกรณ์กู้ชีพ และเครื่องมือจำเป็นให้เพียงพอ โดยเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บจากสงครามและโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในภาวะฉุกเฉิน
- ให้มีการประสานงานหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์ การเคลื่อนย้ายประชากร และความต้องการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน
- สื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพและให้ข้อมูลกับผู้ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนเข้าใจง่าย เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก
- ดูแลสุขอนามัยในจุดพักพิงเพื่อป้องกันโรคจากสิ่งแวดล้อมเฝ้าระวังและควบคุมโรค รวมถึงให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง
- หากมีข้อสงสัยหรือข้อขัดข้องในการปฏิบัติให้รายงานต่อศูนย์ PHEOC ส่วนกลางเพื่อให้การสนับสนุนโดยด่วน
รองปลัด สธ. กล่าวอีกว่า ได้กำชับสถานพยาบาลในสังกัด กรณีประชาชนที่มีโรคประจำตัวที่อพยพจากเหตุการณ์นี้ หากมาขอรับยาต่อเนื่อง ให้ดูแลจ่ายยาอย่างพอเพียงกับสถานการณ์เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
อ่านข่าว
สธ.อัปเดตสู้รบชายแดน ปชช.เสียชีวิต 13 บาดเจ็บ 31 คน
เร่งอพยพ “บ้านกรวด” บุรีรัมย์ หลังกระสุนปืนใหญ่ตกกว่า 70 ลูก