ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

‘บ้านทาป่าเปา’ต้นแบบฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ ต่อยอดเกษตรกรรม-แปรรูปผลิตภัณฑ์

29 ก.ค. 58
14:36
715
Logo Thai PBS
‘บ้านทาป่าเปา’ต้นแบบฟื้นฟูป่าอนุรักษ์ต้นน้ำ ต่อยอดเกษตรกรรม-แปรรูปผลิตภัณฑ์

ย้อนไปเมื่อ 30 ปีมาแล้ว หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ใน อ.แม่ทาจ.ลำพูน มีความแห้งแล้งทุรกันดาร ด้วยสภาพหมู่บ้านที่โอบล้อมด้วยภูเขา และขณะนั้นการดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า

กระทั่งมีการพัฒนาบุกเบิกและสร้างป่าภายใต้แนวคิด “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวฯ ที่เริ่มพัฒนาด้วยนำความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มาใช้ในพื้นที่แห่งนี้ ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบอาชีพ จากการหาของป่ามาสู่การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน

นายระพีพล ทับทิมทอง วิทยากรอาวุโส ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อธิบายถึงความเป็นมาของบ้านทาป่าเปาว่า เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว ชาวบ้านบ้านทาป่าเปาดำรงชีพด้วยการหาของป่า เพราะสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้ง แต่เมื่อมีการลงมาพัฒนาและบุกเบิกตามแนวพระราชดำริของในหลวงทั้งการปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ จนสามารถสร้างความชุ่มชื้นให้กลับมาได้ ชาวบ้านจึงสามารถประกอบอาชีพด้วยการทำนาทำสวน ไปจนถึงเลี้ยงสัตว์และต่อยอดในการประกอบอาชีพได้

จนมาถึงในปัจจุบันที่ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมมือภาคเอกชน และชาวบ้านในพื้นที่ พัฒนาและสร้างให้บ้านทาป่าเปาเป็นชุมชนต้นแบบเพื่อโลกสีเขียว เพื่อให้ชุมชนอื่นๆ เข้ามาเรียนรู้ เพื่อไปปรับใช้ในชุมชนของตัวเอง โดยแบ่งเป็น 3 หมวดการเรียนรู้ คือ หมวดงานเกษตร เช่น การปลูกผักชนิดต่างๆ การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจเช่น กบพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์บลูฟร๊อก การเลี้ยงปลา หมวดงานก่อสร้างและฝึกอาชีพ ได้แก่ การทำบล็อกประสานดินซีเมนต์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การทำคุกกี้ลำไย การทำน้ำข้าวกล้องและไอศกรีมข้าวกล้อง

ด้าน นายลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า การเข้ามาช่วยเหลือของภาคเอกชนหรือหน่วยงานต่างๆ ที่ผ่านมา ค่อนข้างจะไม่ยั่งยืน แต่การลงมาพื้นที่เก็บข้อมูลก่อนการดำเนินโครงการ บนพื้นฐานที่ว่า ชาวบ้านมีความต้องการอะไรอย่างแท้จริง ด้วยเพราะเป็นโครงการชุมชนต้นแบบเพื่อโลกสีเขียว จึงมีโครงการที่ชาวบ้านต้องการอย่างแท้จริง อาทิ การแปรรูปผลผลิตการเกษตรต่างๆ หรือโครงการไร่นาสวนผสม ทั้งปลูกผัก เลี้ยงปลา ที่สามารถสร้างรายได้นอกเหนือฤดูทำนาได้ ทำให้โครงการต่างๆ ประสบความสำเร็จได้ง่าย เพราะทุกคนมีความพร้อม และมีความตั้งใจที่จะทำจริงๆ

นางเพ็ญศรี กันทะวงศ์ อายุ 45 ปี หนึ่งในชาวบ้านชุมชนบ้านทาป่าเปา ระบุว่า เมื่อว่างเว้นจากการทำนาหรือทำสวนลำไย ชาวบ้านในกลุ่มก็จะรวมตัวกันนำลำไยมาผลิตเป็นคุกกี้ลำไย เพื่อออกจำหน่ายโดยขณะนี้มียอดสั่งซื้อจากลูกค้าจำนวนหนึ่ง ก็จำเป็นต้องเร่งมือในการผลิต และหวังว่าในอนาคตจะมีตลาดที่กว้างขวางขึ้น ชาวบ้านจะมีรายได้เสริมที่แน่นอนมากขึ้น

นางนาฏยา เหล่าวานิช ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กร บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนทุนในการดำเนินโครงการ เปิดเผยว่า โครงการชุมชนต้นแบบเพื่อโลกสีเขียว เป็นโครงการที่ต่างจากโครงการอื่นๆ เนื่องจากบริษัทและนักวิชาการได้ลงพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเก็บข้อมูลมานานกว่า 7 ปี จึงสามารถสร้างโครงการต่างๆ ที่ครอบคลุมวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ได้ ทั้งการรักษาป่าการสร้างเสริมอาชีพ ที่ตรงกับความต้องการของชาวบ้านอย่างแท้จริง และการต่อยอดผลผลิตในชุมชนออกสู่ตลาด ซึ่งสามารถทำให้ชาวบ้านชุมชนบ้านทาป่าเปาสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และเติบโตด้วยชุมชนได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน

สำหรับชุมชนบ้านทาป่าเปาเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในป่าต้นน้ำ และหมู่บ้านที่ดำเนินชีวิตร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลด้วยการสามารถรักษาป่าชุมชนห้วยทรายขาวกว่า 13,000 ไร่ ควบคู่ไปกับการเกษตรทฤษฎีใหม่ และต่อยอดผลผลิตในชุมชนได้

เฉลิมพล แป้นจันทร์
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ติดตามข่าวสารผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ไทยพีบีเอสออนไลน์
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง