ภาษาถิ่น
บรรยากาศการเรียนการสอนไม่ต่างจากห้องเรียนทั่วไป แต่หลักสูตรในโรงเรียนภาษาไทยวัดพิกุลทองวราราม ศูนย์กลางของชุมชนไทยบ้านบ่อเสม็ต รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เน้นทักษะฟัง พูด อ่าน เขียน เรียนรู้ความเป็นไทยผ่านตำราและผู้เชี่ยวชาญของท้องถิ่น การเทียบคำ 3 ภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาถิ่น ที่เรียกว่าภาษาเจ๊ะเห และมลายู จาก ครูสิริ เน็งบัว ของเด็กๆ สร้างความเข้าใจได้ไม่น้อย
วิธีการสอนของปราชญ์ท้องถิ่น ไม่ได้สอนเฉพาะทักษะการใช้ภาษาและการออกเสียงภาษาไทยหรือภาษาถิ่นสำเนียงเจ๊ะเห แต่ว่าจะสอดแทรกสิ่งที่เป็นความรู้รอบตัวในสังคมไทย สังคมมาเลเซีย และสังคมโลก
การศึกษาด้านวัฒนธรรม ศิลปการแสดง และภาษาจนเชี่ยวชาญ เป็นประสบการณ์ที่ สิริ เน็งบัว สั่งสมมาถ่ายทอดกับลูกหลานเชื้อสายสยามปีนี้เป็นเทอมแรกในนามครูอาสา เพราะเห็นความสำคัญของภาษาเจ๊ะเหที่สื่อสารกันอยู่ในชุมชนไทย รัฐกลันตัน เป็นสำเนียงเดียวกับภาษาถิ่นตากใบ จ.นราธิวาส
ความต่างกับสำเนียงใต้ทั่วไปคือมีลักษณะผสมภาษาถิ่นเหนือของไทย ชวนให้ครั้งหนึ่งครูอาสาวัย 62 ปี เดินทางมาเทียบสำเนียงถึง จ.สุโขทัย และหวังคงเอกลักษณ์ภาษาพูด แม้เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในมาเลเซีย
การส่งเสริมการเรียนภาษาของชุมชนไทยในมาเลเซียมีมาเกือบ 20 ปี เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของรัฐหลักที่มีชุมชนไทยอาศัย เช่น กลันตัน ไทรบุรี ปะลิส ขณะที่ภาษาถิ่นเจ๊ะเห ยังคงสื่อสารกันในท้องถิ่น แม้ถูกแบ่งด้วยเขตแดนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ไม่อาจแยกความสัมพันธ์ ร่องรอยความเชื่อมโยงทางภาษาและความเป็นเครือญาติที่มีของคนสองฝั่ง