เปิดโปงขบวนการตัดไม้ป่าสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ตัดไม้ส่งแปรรูปฝั่งเมียนมา

Logo Thai PBS
เปิดโปงขบวนการตัดไม้ป่าสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ตัดไม้ส่งแปรรูปฝั่งเมียนมา

พื้นที่ป่าสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ยังเป็นจุดที่พบขบวนการตัดไม้นำไปสวมทะเบียนเป็นไม้นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน วิธีการคือตัดไม้นำไปผูกเป็นแพล่องไปตามแม่น้ำสาละวินเพื่อแปรรูปแล้วส่งกลับไทย ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจไม้สักที่เหลือป้องกันและแก้ปัญหาการลักลอบตัดไม้

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบร่องรอยการลักลอบกานไม้สักให้ยืนต้นตายกว่า 10 ต้น บริเวณบ้านห้วยบะโอ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ภายหลังช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทหารกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ได้ยึดไม้สักในแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.สบเมย จำนวนมาก ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการตัดไม้ในป่าสาละวินยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้เจ้าหน้าที่จะเข้าปราบปรามมาโดยตลอดก็ตาม

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานศูนย์ศึกษาและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน เผยว่าจากที่เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจพบว่าต้นไม้ที่อยู่ในส่วนป่าถูกกานให้ยืนต้นตายกว่า 600 ต้น และส่วนที่ไม่ได้อยู่ในป่าที่ขึ้นตามธรรมชาติก็เป็นจุดหนึ่งที่ถูกเพ่งเล็งจากกลุ่มขบวนการลักลอบตัดไม้

ข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระบุว่ากลุ่มขบวนการลักลอบตัดไม้สาละวิน แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1 กลุ่มทุนพ่อค้าชาวจีน และชาวกะเหรี่ยง ในเขตประเทศเพื่อนบ้านสั่งซื้อไม้จากฝั่งไทย กลุ่มที่ 2 เป็นนายทุนในเขตไทย ที่รับใบสั่งไม้จากฝั่งเพื่อนบ้านและว่าจ้างชาวบ้านเข้าไปตัดไม้ และกลุ่มที่ 3 เป็นราษฎรในเขตไทยที่รับจ้างตัดและชักลากไม้ออกจากป่า

พ.อ.สุจินต์ ทรัพย์สิน ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 ระบุว่าวิธีการที่กลุ่มขบวนการใช้เคลื่อนไม้ที่ถูกตัดแล้วจะนำมาทำเป็นแพล่องไปตามลำน้ำสาละวินเพื่อลักลอบเข้าไปในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีโรงงานแปรรูปไม้เพื่อเข้ากระบวนการแปรรูปต่อไป
 
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยอมรับว่าพื้นที่ป่าสาละวินเป็นพื้นที่ห่างไกล ประกอบกับอยู่ติดกับชายแดนไทย-เมียนมา ทำให้การทำงานป้องกันและปราบปรามของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ล่าสุดจึงได้มีการบูรณาการร่วมสำรวจข้อมูลเชิงกายภาพของไม้สักที่เหลืออยู่ทั้งหมดเพื่อบันทึกข้อมูลสำหรับไม้ที่มีขนาดเส้นรอบวง 60 ซม.ขึ้นไป พร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่คอยดูแลตลอดแนวชายแดนทั้ง 128 กม. เพื่อรักษาป่าอย่างเข้มงวด

ขณะที่นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธ์พืช กล่าวว่าได้สั่งการให้เพิ่มจุดตรวจสกัด โดยการบูรณาร่วมทั้งตำรวจ ทหารพราน และกองกำลังนเรศวร ให้เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการมากขึ้น เพราะว่าบางครั้งไม้ลงในลำน้ำ เราไม่สามารถบอกว่าไม้มาจากฝั่งไทยหรือเมียนมา

ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดชุดปฏิบัติการร่วมกันทั้งทหาร ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ สำรวจข้อมูลเชิงกายภาพไม้สักริมน้ำสาละวินทั้งหมด 22 จุดตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมถึงวันที่ 10 กันยายน 2558 พบไม้สักขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 ซม. ขึ้นไป กว่า 20,000 ต้น ซึ่งง่ายต่อการขนย้ายเพราะกลุ่มขบวนการสามารถตัดและชักลากลงแม่น้ำสาละวิน ก่อนผูกเป็นแพล่องข้ามไปฝั่งประเทศเมียนมา และทำการแปรรูปส่งกลับเข้ามาขายในฝั่งไทยอีกครั้งเจ้าหน้าที่จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดและป้องกันอย่างใกล้ชิด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง