นายกฯเสียใจเหตุรุนแรงในกรุงปารีส-แนะคนไทยเฝ้าระวังหลังสถานการณ์โลกยังสุ่มเสี่ยง

การเมือง
20 พ.ย. 58
15:42
98
Logo Thai PBS
นายกฯเสียใจเหตุรุนแรงในกรุงปารีส-แนะคนไทยเฝ้าระวังหลังสถานการณ์โลกยังสุ่มเสี่ยง

นายกรัฐมนตรีแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงปารีสของฝรั่งเศส แนะประชาชนช่วยเฝ้าระวังและเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ เนื่องจากสถานการณ์โลกยังมีความสุ่มเสี่ยง เตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 21-22 พ.ย.นี้ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ซึ่งจะเป็นการทบทวนการทำงานของอาเซียนตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา

 วันนี้ (20 พ.ย.2558) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทยทุกคน ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งอีกครั้งกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่กรุงปารีสสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขอยืนยันว่าประเทศไทยจะยืนเคียงข้างประชาคมโลก และขอประณามการกระทำที่โหดร้ายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศใดในโลกก็ตาม

 
ทั้งนี้ ในปัจจุบันในขณะที่สถานการณ์โลกยังคงมีความสุ่มเสี่ยง ประเทศไทยต้องเพิ่มความระมัดระวัง ขอให้พี่น้องประชาชนทุกท่านให้ความร่วมมือช่วยกันเฝ้าระวัง เป็นหูเป็นตา ขอให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ดูแลกันและกัน ดูแลสังคม ดูแลแขกที่มาเยือน พบเห็นสิ่งใดผิดปกติ ขอให้แจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ โดยได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันสอดส่องดูแล ป้องกัน ป้องปราม ปราบปราม รวมถึงประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนและประชาคมโลกตามพันธะสัญญาด้วย
 
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้เดินทางมาประชุมที่ต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นการประชุมเอเปค ครั้งที่ 23 ที่กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ซึ่งมีแนวคิดหลัก คือ "การสร้างเศรษฐกิจที่มีส่วนร่วม การสร้างโลกที่ดีขึ้น" ประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือร่วมกันใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค  2. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก 3. การลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ และ 4.การสร้างชุมชนที่ยั่งยืนและแข็งแกร่ง
 
นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม โดยให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตที่มีคุณภาพ มาจากความเข้มแข็งของชุมชนที่สามารถเข้าถึงการพัฒนาได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งสังคมที่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาล ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับนโยบายของไทยที่มุ่งมั่นในการดำเนินการปฏิรูปต่างๆ เช่น การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ต่อระบบเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคมอย่างมีสมดุลและมีส่วนร่วมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีนวัตกรรมหรือเศรษฐกิจดิจิทัล
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 21-22 พ.ย.นี้ จะเป็นการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 27 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่จะเป็นการทบทวนการทำงานของอาเซียนตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ก่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีการแสดงวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2568 เพื่อกำหนดทิศทางอนาคตในการพัฒนาของอาเซียนต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยจะมีการจัดทำแผนการทำงานของอาเซียนในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม ระหว่างปี 2559-2568 ที่เน้นความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียน มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง